กายนี้หรือน่าภิรมย์

วันที่ 02 สค. พ.ศ.2567

2567%20%2008%20%2002%20b.jpg

 

กายนี้หรือน่าภิรมย์

 

          วิธีฝึกกายคตาสติ  คือ  ให้สาธยาย  คือ  ท่องให้ท่องอาการ  ๓๒  ให้ชำนาญ  คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มังสัง นหารู อัฏฐิฯลฯ ก็ว่าเรื่อยไป อาการ ๓๒ นี่ท่องให้ชำนาญ ให้ขึ้นปาก เสร็จแล้วให้สามารถระลึกตามให้ขึ้นใจ ให้พิจารณาอาการ ๓๒ นั้น โดยสีสันวรรณะของมันว่าดำ หรือแดง ขาว หรือเหลือง


          พิจารณาถึงสัณฐานด้วยว่า  มีรูปร่างประมาณน้อยใหญ่อย่างไร  ไส้ใหญ่ขนาดไหน  ปอด  ตับ  ว่าใหญ่ขนาดไหน  ถ้าฉลาดหน่อยก็พิจารณาว่าอวัยวะนั้นอยู่เบื้องต่ำ คือ ตั้งแต่เอวลงไปถึงปลายเท้าหรืออยู่เบื้องสูงตั้งแต่เอวขึ้นไปจนถึงหัว กำหนดที่อยู่ของมันอย่างนี้


          จะยกตัวอย่างว่าโดยตำราให้ฟังก่อน  แต่หลวงพ่อไม่ได้ทำอย่างนี้   โดยตำราถึงเวลาเขาก็ท่องหมวดแรก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ว่าอย่างนี้อยู่ ๕ วัน เสร็จแล้วก็ว่าถอยหลัง ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา อีก ๕ วัน ย้อนกลับไปกลับมาอย่างน้อยสักกึ่งเดือน เสร็จแล้วจึงท่องอย่างอื่นอีก ก็ทำนองเดียวกัน จนกระทั่งอาการ ๓๒ ขึ้นใจนานเท่าไรจึงจะขึ้นใจ นาน ๖ เดือน นี่เป็นการกำหนดอย่างกลาง

 

       เมื่อสาธยาย (ท่อง) ด้วยวาจาอย่างนี้ตั้งร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ฯ เพราะว่าระเบียบแห่งกรรมฐาน ย่อมชำนาญการสาธยายด้วยวาจา จิตย่อมไม่วิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้ พึงท่องด้วยปากฉันใด พึงทำการท่องแม้ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกัน การท่องด้วยปากเป็นปัจจัยแห่งการท่องจำทางใจ การท่องจำทางใจเป็นปัจจัยแห่งการแทงตลอด ซึ่งว่าโดยลักษณะ


           ส่วนคำว่า โดยสี คือ พึงกำหนดสีแห่งผมเป็นต้น ฯลฯ


          เมื่อสาธยายอาการ ๓๒ ปรากฏพร้อมในมโนทวาร มิอาจให้สำเร็จกิจเป็นอุคนิมิต คือ เป็นดวงขึ้นมาได้ ก็ให้กำหนดเป็นส่วน ๆ ไป เช่น วิธีพิจารณาผมของเขา อันว่าเกสาคือผมนี้ มีอยู่ ๙๐ ล้านเส้นโดยประมาณ ถ้าจะพิจารณาโดยสีก็มีสีดำเป็นปกติ ที่มีสีขาวนั้นอาศัยความชราตามเบียดเบียน ถ้าพิจารณาโดยสัณฐานก็พิจารณาโดยต้นเรียวปลายเรียวดุจคันชั่ง


           ผมนี้เกิดในทิศเบื้องบน  บนศีรษะนี้แล  เรียกว่าทิศเบื้องบน  ระหว่างนี้  ผมบังเกิดในหนังอันชุ่ม  อันหุ้มกระโหลกศีรษะแห่งเราท่านทั้งปวง ที่อยู่แห่งผมนี้ข้างหน้ากำหนดโดยที่สุดแห่งหน้าผาก ข้างหลังกำหนดโดยหลุมแห่งคอ ข้างทั้งสองกำหนดโดยหมวกหูทั้งสองผมนี้กำหนดรากอันหยั่งลงไปในหนังหุ้มศีรษะนั้น มีประมาณเท่าปลายแห่งเมล็ดข้าวเปลือก ผมนี้บังเกิดขุมละเส้น จะบังเกิดด้วย ๒ เส้น ๓ เส้น หาได้ไม่ ผมนี้มีความปฏิกูล ๕ ประการด้วยกัน คือ


          ปฏิกูลโดยสี  พิจารณาโดยว่า  บุคคลอันบริโภคด้วยข้าวยาคูและข้าวสวย  สิ่งของทั้งปวงที่ชอบใจบริโภคนั้น  ถ้าเห็นวัตถุใด  สีเหมือนผมตกลงในสิ่งของอันตนบริโภคนั้น สำคัญว่าเป็นผมตนนั้นก็ย่อมเกลียด ย่อมชัง เมื่ออยู่ในกายนั้นเป็นที่รัก ครั้นออกจากกายแล้วพึงเป็นที่เกลียดชัง พึงพิจารณาเป็นปฏิกูลโดยสีนั้นดังนี้


            ปฏิกูลโดยสัณฐาน  นั้น  พึงพิจารณาให้เห็นว่า  เมื่อบริโภคโภชนาหารสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ถ้าพบปะวัตถุอันใดอันหนึ่ง  มีสัณฐานด้วยผมสำคัญว่าผมแล้วก็มีความเกลียดชัง หยิบทิ้งเสียบ้าง คายทิ้งเสียบ้างเพราะเหตุสำคัญว่าผม ผมนี้เป็นที่รักแต่เมื่อยังติดอยู่ในกาย ครั้นปราศจากกายแล้วก็เป็นที่เกลียดชัง จะว่าไปไยถึงผมเล่า จนแต่เส้นไหมใยบัว เป็นต้น ที่มีสัณฐานเหมือนด้วยผม ที่บุคคลสำคัญว่าผมนั้นยังว่าเป็นที่เกลียดชังเป็นหนักหนา เพราะฉะนั้น พึงพิจารณาให้เห็นเป็นปฏิกูลโดยสัณฐานดุจพรรณนามาฉะนี้


           ปฏิกูลโดยกลิ่น  นั้น  คือ  ให้พิจารณาโดยว่า ผมนี้ถ้าเพิกเฉยเสีย ไม่เอาใจใส่ทนุบำรุงแล้วก็เหม็นสาบเหม็นสาง ถ้าถูกไฟไหม้แล้วเหม็นร้ายกาจหนักหนา พึงพิจารณาปฏิกูลโดยกลิ่นนั้นดุจพรรณนามาฉะนี้


        ปฏิกูลโดยที่เกิด  ก็คือว่า  ผมนี้เกิดในหนังอันหุ้มกระโหลกศีรษะ  ชุ่มไปด้วยโลหิต น้ำดี เสลด  เป็นต้น  บังเกิดขึ้นในที่อันพึงรังเกียจ ดุจผักอันเกิดในประเทศแห่งส้วมเป็นที่เกลียดแห่งบุคคลทั้งปวง


         ปฏิกูลโดยที่อยู่  นั้น คือ ให้พิจารณาว่าผมนี้เกิดขึ้นในที่อันพึงเกลียด  แล้วก็จำเริญอยู่ในที่อันพึงเกลียดชัง  เปรียบดุจผักเกิดในป่าช้า และที่ทิ้งขยะมูลฝอย เป็นต้น


            โลมาก็เช่นกัน โลมชาตินี้  คือ  ขนนี้มีอยู่ ๙ โกฏิเส้น  (หนึ่งโกฏิ เท่ากับ สิบล้าน) ท่านก็ว่าของท่านไปอย่างนี้แหละ หนังเอยก็ว่ากันไป แม้ที่สุด ฟัน ฟันกราม ถัดเขี้ยวเข้าไปข้างละซี่ ๆ นั้น มีสัณฐานดั่งไม้ค้ำเกวียน คือ ปลายรากนั้นเป็นสองง่าม กรามที่ถัดเข้าไปอีกข้างละซี่นั้น รากเป็นสามง่าม สังเกตไหม หลวงพ่อไม่ค่อยได้สังเกต เคยมีอยู่คราวหนึ่ง ฟันซ้อนกันแล้วก็ไปถอน ตอนอยู่ในปากเราก็ถนอม พอถอนมาปั๊บ เอ๊ะ ! เราจะเอาไว้ทำอะไรเนี่ย โยนเถอะโอ้โฮ ! ... อยู่มาตลอดชีวิต อยู่มาด้วยกันเชียวนะ พอถึงเวลาโยนทิ้งเอาดื้อๆ ให้เก็บไว้ก็ไม่เอา


          นี่คือสิ่งที่หลวงพ่อถูกฝึกฝนมาไม่มีใครบังคับให้ฝึกหรอกนะแต่ว่าชอบ  ว่าง ๆ  ก็มานั่งอ่านตั้งแต่มัธยม ๔ มัธยม ๕ มัธยม ๖ แล้วก็ไล่มาอย่างนี้แหละ


         ...ตับนั้นประกอบด้วยขั้วอันภายในกายมีสีอันแดงอ่อนมิสู้แดงนัก ดังหลังกลีบนอกแห่งดอกกุมุท ถ้าจะว่าโดยสัณฐาน ปลายนั้นแฉกออกเป็นสองแฉก มีสัณฐานดังดอกทองหลาง ถ้าคนนั้นเขลาตับนั้นใหญ่แล้วก็เป็นอันเดียวกัน  มีปลายมิได้แฉก  ถ้าคนนั้นมีปัญญาตับนั้นน้อยแล้วก็แฉกเป็นสองแฉก สามแฉก นี่ขนาดตับนะเนี่ย นี่ของท่าน ปู่ ย่า ตา ทวด เขาให้มาดูอย่างนี้


         หลวงพ่อพิจารณาหนักเข้าๆ จ๊ะ ๆ จ๋า ๆ เมื่อเช้านี้เลยลืมยิ่งพอคืนเดือนหงาย นัดใครไว้ไม่ไปดื้อ ๆ เสียงั้นแหละ เขาแต่งตัวรอเก้อ เลยสบัดหน้าไปฉิบ เอ้อ! ดีเหมือนกัน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.006878666083018 Mins