หลักการบริหารตามพุทธวิธี

วันที่ 05 สค. พ.ศ.2567

 

2567_08_05_b.jpg

 

 

หลักการบริหารตามพุทธวิธี



      วารสารบริหารธุรกิจ : อยากเรียนถามท่านอาจารย์ ๒ ประเด็นประเด็นแรก คือ หลักธรรมของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์สำหรับนักบริหารอย่างไร? และประเด็นที่สองพระพุทธเจ้ามีวิธีการในการบริหารงานอย่างไร?


          พระเผด็จ : ขอพูดถึงคำถามแรกก่อนนะ ถามว่า “หลักธรรมของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์สำหรับนักบริหารอย่างไร?”

 

          อาตมามองว่า หัวใจของนักบริหารอยู่ที่การตัดสินใจเมื่อพบปัญหาผู้ที่มีหลักธรรมยึดมั่นประจำใจ การมองปัญหาการแก้ปัญหาของเขาก็จะไม่ใช้วิธีที่ส่งผลไปในทางชั่วร้ายสมมติว่าเมื่อองค์กรเกิดภาวะขาดทุนก็ไม่หารายได้ชดเชยด้วยวิธีการทุจริตหรือผิดศีลธรรม เช่น คดโกงหรือค้ายาเสพติดเป็นการแก้ปัญหา ขณะคิดแก้ปัญหาก็มีสติควบคุม ไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เช่น เกิดโทสะว่าร้าย หรือทำร้ายผู้อื่นซึ่งจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก



        ฉะนั้นการเป็นนักบริหารที่ดี จะอาศัยความเก่งอย่างเดียวไม่พอต้องอาศัยหลักธรรมประจำใจ รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ การที่คนเราจะมีปัญญาคิดอย่างนี้ได้ จิตใจของเขาจะต้องผูกยึดกับหลักธรรมตลอดเวลา



       คำถามที่สองก็คือ พระพุทธเจ้ามีวิธีการในการบริหารอย่างไร? พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามักทรงกล่าวถึงการบริหารในลักษณะการบริหารคณะสงฆ์มิได้ทรงกล่าวเป็นกิจลักษณะถึงการบริหารงานโดยทั่วไปแต่เราก็พอจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแง่ต่างๆได้ดีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนอย่างไรก็ตามเท่าที่อาตมาวิเคราะห์ดูก็พอจะจับหลักได้ว่าพระองค์ทรงยึดหลักสำคัญในการบริหารองค์กรพระพุทธศาสนา ๔ ประการ คือ การบริหารคน บริหารงาน บริหารเงิน และการบริหารเวลา สำหรับเรื่องเวลานั้นเป็นปัจจัยรีบเร่งเด่นชัดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระองค์ จนกระทั่งตรัสเตือนพระภิกษุให้หมั่นพิจารณาว่า “วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้กำลังทำอะไรอยู่” เพราะฉะนั้นจะขอข้ามประเด็นนี้ไปเพราะถือว่ารู้แล้ว



ในการบริหารคน พระองค์ทรงใช้หลักดังนี้

 

      ๑. ทรงถือหลักให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร ด้วยการแบ่งหุ้นส่วนพุทธศาสนาออกเป็น ๔ หุ้นใหญ่ๆ มีผู้ถือหุ้น ๔ ส่วน คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่เดี๋ยวนี้หายไป ๑ หุ้นแล้ว คือ ภิกษุณี เหลือแค่ ๓ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ไม่ใช่มีเพียงพระเท่านั้นที่เป็นผู้บริหารกิจการพระพุทธศาสนา แต่ต้องอาศัยฆราวาสทั้งชาย และหญิงมาช่วยกันบริหารและเป็นกองเสบียงด้วย



       ๒. ทรงพัฒนาจิตใจของบุคคลในองค์กร โดยปรับทิฐิให้เสมอกัน นั่นคือทรงสอนให้ทุกคนรู้ว่า เป้าหมายสูงสุดของทุกชีวิตนั้น อยู่ที่พระนิพพาน ถ้ายังไปไม่ถึงนิพพาน ก็ต้องเกิดแล้วเกิดอีก ที่เราเรียกว่า เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ เกิดมากก็เป็นทุกข์มาก วิธีที่จะทำให้เส้นทางที่จะเดินไปสู่พระนิพพานสั้นที่สุดก็คือต้องฝึกตนด้วยพระธรรมและวินัยเป็นการกลั่นกายกับใจให้สะอาดบริสุทธิ์ไปตามลำดับจนกระทั่งกิเลสหมดสิ้นไปนั่นแหละจึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้ระหว่างนี้ก็ต้องอาศัยบุญกุศลที่ตนสั่งสมไว้เป็นเสบียงในการเดินทางบุญกุศลนี้เป็นทรัพย์ละเอียดที่นำติดตัวไปได้ทุกภพทุกชาติและจะสามารถบันดาลให้เกิดทรัพย์หยาบเพื่อบริโภคใช้สอยในระหว่างการฝึกตนในชาตินี้ด้วยนี่พระองค์ทรงสอนอย่างนี้


    ๓. ทรงพัฒนาความประพฤติของบุคคลในองค์กรโดยปรับศีลให้เสมอกัน ศีลก็คือวินัยที่จะควบคุมกาย วาจา ใจ ของบุคคลนั่นเอง ถ้าเป็นพระภิกษุ พระองค์ก็กำหนดให้รักษาศีล ๒๒๗ ข้อเท่าๆ กัน ถ้าเป็นสามเณรก็รักษาแค่ ๑๐ ข้อ ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็ศีล ๕ บ้าง ศีล ๘ บ้างตามแต่กำลังใจของแต่ละคนส่วนการบัญญัติวินัยหรือการตั้งกฎเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับองค์กรนั้นมิใช่ว่าจะทรงบัญญัติเอาตามพระทัยหรือบัญญัติเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะสร้างความอึดอัดกันตั้งแต่ต้น แต่จะทรงรอให้เหตุเกิดขึ้นเสียก่อน จึงค่อยทรงบัญญัติ แม้จะดูว่าเป็นการกระทำแบบวัวหายล้อมคอกก็ตามที แต่วิธีนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติยอมรับกฎนั้นได้ไม่เกี่ยง งอนแต่อย่างใด นี่คือเทคนิคของพระองค์



         ๔. ทรงถือหลักให้เคารพกันตามอาวุโส ในการอยู่ร่วมกัน ผู้มีอาวุโสเมื่อได้รับการเคารพก็จะมีกำลังใจถ่ายทอดคุณธรรมให้แก่ผู้น้อยพระภิกษุผู้บวชทีหลังแม้เพียงวันเดียว ถึงจะมีอายุแก่กว่าผู้บวชก่อนสักเท่าใดก็ตาม จะต้องกราบไหว้พระภิกษุที่บวชก่อน เมื่อทำอย่างนี้แล้วการปล่อยปละละเลยดูดายผู้น้อยก็จะไม่มี
 


         ปัจจุบันหลายๆ องค์กร ประสบปัญหาคนขาดความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะขาดหลักอาวุโสนี่แหละ



         ในการบริหารงาน พระองค์ทรงใช้เทคนิควิธีดังนี้


         ๑. ถือหลักความสามารถเป็นเกณฑ์ ใครมีความสามารถเชี่ยวชาญในด้านใดก็ทรงยกให้เป็นใหญ่ในด้านนั้น โดยไม่คำนึงถึงอาวุโส



       ๒. สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่มีความสามารถสูง และมีผลงานดีเด่น โดยยกย่องให้เป็นบุคคลตัวอย่าง ในสมัยพระพุทธองค์ เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดทำความดีจนเป็นที่ปรากฏเด่นชัดก็จะทรงยกย่องในที่ประชุมให้ได้อนุโมทนากันยิ่งพระภิกษุสามเณรรูปใดบรรลุอริยผลด้วยแล้วจะทรงยกย่องถึงขนาดเรียกว่า “บุตรของเรา” ทีเดียว
 


         มีหลักฐานปรากฏว่า ในสมัยพุทธกาลมีพระอรหันต์อัจฉริยะ ชนิดที่เรียกว่าเอตทัคคะในองค์กรของพระองค์ถึง ๘๐ รูป เช่น พระสารีบุตรเชี่ยวชาญทางหลักธรรม พระโมคคัลลานะเชี่ยวชาญทางแสดงฤทธิ์ พระมหากัสสปะเชี่ยวชาญในการเดินธุดงค์พระอานนท์เชี่ยวชาญทางพหูสูต และการมีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นต้น

 

 

          ส่วนพระรูปใดทำผิดพลาดในเรื่องใด ก็จะทรงตักเตือนด้วยการระลึกชาติหนหลัง ให้ทราบว่าพระภิกษุรูปนั้นๆ ได้เคยทำเหตุเช่นไรไว้ในอดีตจึงต้องมาเป็นเช่นนี้ซึ่งก็เท่ากับยกเป็นกรณีตัวอย่าง ให้พระภิกษุรูปอื่นๆ เพิ่มความระมัดระวังตนยิ่งขึ้นไม่ทำความผิดซ้ำอีก และมีกำลังใจที่จะทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 


        สำหรับเทคนิควิธีข้อ ๒ นี้ ถ้าจะนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจก็จะมีประโยชน์มาก แต่ต้องปฏิบัติอย่างรอบคอบ บุคคลที่สมควรได้รับยกย่องเป็นตัวอย่างจะต้องดีจริงๆและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ร่วมงานอย่างกว้างขวางส่วนการลงโทษผู้ผิดก็ต้องยึดหลัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”โดยยึดเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง



     ๓. หมั่นประชุมเนืองนิตย์ เพื่อสื่อสารข้อมูลให้ทั่วถึงกันทุกหน่วยงาน โดยทรงผูกการประชุมเอาไว้กับการสวดมนต์ มีทั้งการประชุมประจำวัน หรือการประชุมหลังการสวดมนต์ทำวัตร เช้า-เย็น และการประชุมใหญ่ทุกครึ่งเดือน ด้วยการลงโบสถ์ฟังสวดปาฏิโมกข์ การสวดมนต์นี้นอกจากจะเป็นการทบทวนโอวาท และพระธรรมวินัยของพระองค์แล้วยังมีผลในแง่ของการเตรียมใจให้สะอาดผ่องใส พร้อมที่จะรองรับการประชุมที่อาจมีขึ้นได้เป็นอย่างดี องค์กรใดก็ตามถ้าได้มีการจัดระบบให้บุคลากรได้มีโอกาสมาเจอหน้าเจอตากันอยู่เสมอ การสื่อสารข่าวคราวย่อมไหลเวียนคล่องตัว ความสามัคคีกลมเกลียวก็จะมีตามมา จุดนี้แหละคือจุดบอดของการบริหารของหลายๆ องค์กรที่เป็นอยู่ในขณะนี้
 


           ในการบริหารเงิน ทรงใช้วิธีระดมธรรม


           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีการระดมทุนโดยระดมธรรมนำหน้าคือทั้งพระองค์เองและพระสาวก ต่างก็เดินทางจาริกรอนแรมไปเทศนาสั่งสอนให้ประชาชนได้เข้าใจว่า เป้าหมายของชีวิตมนุษย์นั้น อยู่ที่พระนิพพาน ซึ่งจะต้องอาศัยบุญกุศลเป็นเสบียงในการเดินทางไปสู่จุดหมายนั้นเมื่อเขาเห็นคุณค่าของบุญกุศลเขาก็จะพากันทำงาน ซึ่งก็จะกลายมาเป็นกองเสบียงของพระศาสนานั่นเอง
 


            การระดมธรรมหรือการประกาศธรรมนี้ เปรียบไปก็เหมือนกับการประชาสัมพันธ์ชักชวนให้คนตั้งใจทำความดี ซึ่งทรงสามารถประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนได้ทุกระดับ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ มหาเศรษฐีพ่อค้าคหบดี และประชาชนสามัญทั่วไป เงินที่ได้รับจากการบริจาคจะเป็นกองทุนสำหรับสร้างถาวรวัตถุการเผยแผ่ธรรมตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยบางอย่างที่จำเป็นส่วนสบงจีวรและภัตตาหารก็จะได้รับการถวายโดยตรงจากญาติโยม



           ในการใช้ทุนนั้น ทรงกำหนดไว้ว่า สมบัติทุกชิ้นที่ได้มาให้เข้าเป็นกองกลาง ทุกคนมีสิทธิใช้เท่าๆ กัน แต่จะไม่แบ่งขาดไปเลย ส่วนการเบิกไปใช้นั้นให้ถือหลักเบิกไปใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เช่น พระองค์ทรงอนุญาตให้ฉัน ๒ มื้อ แต่ใครจะฉันมื้อเดียวก็ได้ หรือพระองค์ทรงอนุญาตให้อยู่กุฏิวัด แต่พระรูปใดปรารถนาจะอยู่กลดฝึกตนเองให้เข้มข้นก็ไม่ว่ากันละ

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0083777149518331 Mins