มรรคมีองค์ ๘ กับการบริหารธุรกิจ

วันที่ 05 สค. พ.ศ.2567

 

2567_08_05_b_1.jpg

 

 

มรรคมีองค์ ๘ กับการบริหารธุรกิจ



      วารสารบริหารธุรกิจ : อยากถามว่าหลักธรรมคำสอนข้อใดของพระพุทธศาสนาที่จะเอามาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจได้ตรงจุดที่สุด?


           พระเผด็จ : หลักธรรมที่จะนำมาใช้บริหารทั้งคนทั้งชีวิต ทั้งธุรกิจหรืออะไรก็ตาม อาตมาเห็นว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้นเหมาะสมที่สุด ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานที่ยากหรือง่ายเพียงใดเพราะแม้แต่งานปราบกิเลสให้หมดไปจากใจจนบรรลุมรรคผลนิพพานซึ่งเป็นงานที่ยากที่สุดของมนุษย์นั้น ก็ยังต้องใช้มรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้นจึงจะทำได้ แล้วนับประสาอะไรกับงานที่หยาบลงไปกว่านั้น


            อาตมาขออธิบายองค์ประกอบของมรรคมีองค์ ๘ นี้ทีละข้อ โดยจะแยกแยะให้ดูถึงระดับเบื้องสูง คือ นำมาใช้เพื่อความหลุดพ้นจากองทุกข์อย่างถาวรหรือที่เรียกว่า
โลกุตร และระดับเบื้องต่ำ ซึ่งเป็นไปเพื่อการประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือระดับ โลกิยะ ดังนี้



             องค์มรรคข้อที่ ๑ สัมมาทิฐิ แปลว่า ความเห็นถูกหรือความเข้าใจถูกต้อง



           ทิฐิ คือ ความเห็นของแต่ละคน เป็นจุดเริ่มต้นของความประพฤติของเขา ถ้าใครมีความเห็นผิดก็จะเดินไปในทางผิด กลายเป็นคนชั่วถ้าใครมีความเห็นถูก ซึ่งเรียกว่า สัมมาทิฐิก็จะเดินทางถูก กลายเป็นคนที่มีแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดชีวิต



          เบื้องสูง หมายถึง ความเข้าใจถูกในเรื่องอริยสัจ ๔ มรรคผลนิพพาน



         เบื้องต่ำ หมายถึง ความเข้าใจถูกในเรื่องโลกและชีวิต รวมทั้งเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เช่น รู้ว่าคนเราตายแล้วไม่สูญ ส่วนจะไปสวรรค์หรือนรกนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุญบาปที่ทำเอาไว้ ทำดีก็ไปสวรรค์ ทำชั่วก็ลงนรกและถ้าหมั่นสั่งสมความดีจนเต็มเปี่ยม สามารถกำจัดกิเลสจนหมดสิ้นได้เมื่อไหร่ ก็จะเข้าสู่นิพพานอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของทุกๆ ชีวิตไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก รวมทั้งความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรมในสิ่งต่างๆ ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวหรือการงาน ตลอดจนรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำไม่ควรทำ ใครมีความเข้าใจถูกตามทำนองคลองธรรมได้มากเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารตนเองมากเท่านั้น


        องค์มรรคข้อที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ แปลว่า ความดำริถูกหรือคิดถูก


       เบื้องสูง หมายถึง ความดำริที่จะออกจากกามทั้งหลาย ความดำริที่จะออกจากพยาบาท อาฆาตมาดร้าย และความดำริที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาเปรียบใคร



       เบื้องต่ำ หมายถึง ความคิดดี คิดถูกต้อง คิดอย่างสร้างสรรค์รวมทั้งความเป็นคนมีความคิดริเริ่ม ความคิดปรับปรุงแก้ไขในทางที่ถูกต่างๆไม่ว่าจะประกอบธุรกิจการงานใดก็ตามจะต้องไม่ไปส่งเสริมความเห็นแก่ตัวความอาฆาตจองล้างจองผลาญหรือยั่วยุกามารมณ์ทั้งของตนเองและของผู้อื่นซึ่งถ้าผิดจากนี้แล้วจะไม่เรียกว่า คิดสร้างสรรค์ แต่จะเรียกว่าคิดพิลึกพิลั่นพิเรน คิดอุตริคิดแผลงๆ ไปโน่นเลย



     แต่การที่คนใดคนหนึ่ง จะคิดอย่างถูกต้องร่องรอยได้นั้น มีความจำเป็นว่าเขาจะต้องมีความเห็นถูก เข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเป็นสัมมาทิฐิมาก่อน


        องค์มรรคข้อที่ ๓ สัมมาวาจา แปลว่า วาจาชอบ

 

       ความหมายทั้งเบื้องสูง และเบื้องต่ำนั้นเหมือนกัน คือ หมายถึงคำพูดของเรานั้นจะต้องไม่เท็จ ผิดจากความเป็นจริง ไม่ส่อเสียด ทำให้คนแตกกัน ไม่หยาบช้าลามกทำให้จิตตกต่ำทราม ไม่พูดพล่อยๆ เพ้อเจ้อไร้สาระ รวมทั้งจะต้องฝึกตัวเองให้พูดเป็น แล้วก็ต้องนิ่งเป็นด้วย การพูดเป็น การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็น โน้มน้าวใจคนอื่นเป็น คือ พูดได้เจาะใจถึงใจ เข้าไปอยู่ในใจเขาได้ล้วนเป็นวาจาชอบทั้งสิ้น


        แต่การที่คนเราจะมีวาจาชอบได้นั้น สำคัญอยู่ว่าในใจของเขาจะต้องคิดแต่เรื่องดีๆ อยู่ก่อน



        องค์มรรคข้อที่ ๔ สัมมากัมมันตะ แปลว่า ทำการงานชอบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานอาชีพ



        เบื้องสูง หมายถึง การตั้งเจตนาไว้ตลอดเวลาเลยว่า ไม่ว่ากรณีใดๆจะต้องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การเสพเมถุน



      เบื้องต่ำ หมายถึง การทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร จะไม่ยอมไปผลาญชีวิต ผลาญทรัพย์สินตลอดจนไม่ประพฤติผิดในทางกามารมณ์ต่อใครๆ รวมทั้งฝึกตนให้มีมารยาทดีงาม ไม่ขวางหูขวางตาใคร แต่การที่จะปฏิบัติตามองค์มรรคข้อที่ ๔ ได้ ก็จะต้องปฏิบัติองค์มรรคข้อที่ ๓ ได้เสียก่อน



      องค์มรรคข้อที่ ๕ สัมมาอาชีวะ แปลว่า มีอาชีพที่ถูกต้อง

 

      ความหมายทั้งเบื้องสูงเบื้องต่ำนั้นเหมือนกันหมายถึงการประกอบอาชีพที่บริสุทธิ์ตามเพศและภาวะของตน ถ้าเป็นพระภิกษุก็แสวงหาปัจจัย ๔ เลี้ยงชีพตามพระธรรมวินัย ถ้าเป็นฆราวาสก็แสวงหาปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดโดยไม่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมาย ผิดประเพณี


ทรงเน้นว่าฆราวาสต้องไม่ประกอบอาชีพ ๕ อย่างต่อไปนี้

            ๑. ไม่ค้าอาวุธ

            ๒. ไม่ค้ามนุษย์

            ๓. ไม่ค้าสัตว์เอาไปฆ่า

            ๔. ไม่ค้ายาพิษ

            ๕. ไม่ค้ายาเสพติด


อาชีพทั้ง ๕ ประเภทนี้ แม้จะทำรายได้ดีมีความร่ำรวยจนบางคนอาจมีอิทธิพลถึงขั้นควบคุมรัฐได้ แต่ก็ไม่ควรทำเพราะความสุขของมนุษย์นั้นไม่ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับความร่ำรวยเสมอไป อาชีพเหล่านี้ส่วนใหญ่ยิ่งทำก็ยิ่งเครียด แล้วจะได้ไม่คุ้มเสีย
 


            คนที่จะมีจิตใจยึดมั่นในสัมมาอาชีวะได้ จะต้องมีพื้นฐานใฝ่ทำงานที่ไม่เบียดเบียนคนอื่นอยู่แล้ว คือ มีสัมมากัมมันตะนั่นเอง



             องค์มรรคข้อที่ ๖ สัมมาวายามะ แปลว่า ความเพียรชอบ

 


            เบื้องสูง หมายถึง ความพยายามระวังบาป อกุศล ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด ที่เกิดแล้วก็ให้หมดไป และกุศลธรรมใดที่ยังไม่มีก็ทำให้มีขึ้นมาที่มีอยู่แล้วก็ทำเพิ่มพูนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป



            เบื้องต่ำ หมายถึง การเป็นคนมีนิสัยชอบแก้ไข ปรับปรุงตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นทุกวัน ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่เอาแต่แก้ตัวขอไปที่อยู่ร่ำไป มีความมานะบากบั่นมากขึ้น ทำสิ่งใดแล้วต้องทำจนสำเร็จ ไม่ยอมหยุดกลางคันเป็นอันขาด เป็นคนประเภทมีไฟในการทำความดีอยู่ในตัว



           การที่จะมีความเพียรอย่างนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง มีความจําเป็นว่าอาชีพที่ประกอบอยู่นั้นต้องเป็นสัมมาอาชีวะเสียก่อน ไม่อย่างนั้นคู่แข่งจะกลายเป็นคู่แค้น คู่คิดจะกลายเป็นคู่ขัด แม้เนื้อคู่ก็จะกลายเป็นกระดูกคู่



            องค์มรรคข้อที่ ๗ สัมมาสติ แปลว่า ความระลึกชอบ

 


          เบื้องสูง หมายถึง การพิจารณาเนืองๆ ให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตและธรรมในธรรม ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์และพ้นจากการควบคุมบังคับบัญชา เป็นการกำจัดความยินดียินร้ายเสีย



        เบื้องต่ำ หมายถึง การรู้จักตะล่อมใจให้อยู่กับเนื้อกับตัวโดยเฉพาะคือพยายามตะล่อมมาเก็บไว้ที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งจะทำให้ใจไม่ว่อกแว่ก ไม่เผลอเรอ มีความตื่นตัวอยู่เสมอ กลายเป็นคนไม่ประมาท กลายเป็นคนระแวงภัยที่ควรระแวง จะได้ระวังป้องกันภัยนั้นก่อนที่มันจะมาถึง



          ถ้ายังฝึกตรงนี้ไม่ได้ ถึงจะมีความรู้ ความเก่ง ความขยันหมั่นเพียรอย่างไรก็ตาม การงานก็อาจจะถึงความพินาศเพราะฉะนั้นหน้าที่ของนักบริหารจึงต้องบริหารจิตของตนให้มีสติสมบูรณ์เพียบพร้อมอยู่เสมอซึ่งการที่ใครจะทำได้อย่างนี้เขาจะต้องมีความเพียรชอบอยู่เป็นนิสัยก่อนมิฉะนั้นจะขี้เกียจ หรือท้อเสียกลางคัน



         องค์มรรคข้อที่ ๘ สัมมาสมาธิ แปลว่า การตั้งใจมั่น



        เบื้องสูง หมายถึง การเข้าฌาณ คือ การปักจิตที่ตะล่อมไว้ดีแล้วให้นิ่งดิ่งลงที่ศูนย์กลางกาย เป็นผลให้จิตตั้งมั่นใจไม่หวั่นไหว เกิดความสว่างขึ้นภายใน มีอำนาจเผาผลาญกิเลสได้ไปตามลำดับๆ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานพบสุขแท้จริง



       เบื้องต่ำ หมายถึง ขณะทำงานใจก็จดจ่อเฉพาะแต่งานนั้นไม่โลเลฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย คิดแต่จะทำงานให้ดีที่สุด การที่ใจจะมีสมาธิตั้งมั่นได้ก็จะต้องฝึกสติมาอย่างดีก่อน



        นักบริหารทั้งหลาย ไม่ว่าจะต่างเชื้อชาติหรือศาสนากัน ถ้าปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ นี้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ย่อมจะประสบความสำเร็จในการบริหารงานอย่างสูงสุด



        มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นสูตรแห่งการดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความสำเร็จ ซึ่งมีอยู่คู่โลกมานานแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบแล้วนำมาเปิดเผยให้กับชาวโลกใครนำไปปฏิบัติได้ในระดับไหนก็จะประสบความสำเร็จได้ในระดับนั้นๆ



           ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในกระบวนการของมรรคมีองค์ ๘ จะเห็นว่ามีสัมมาทิฐิเป็นตัวเริ่ม ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในการปฏิบัติ และมีสัมมาสมาธิเป็นตัวเร่งให้เกิดสัมมาทิฐิระดับสูงต่อไปอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดความสมบูรณ์ของมรรคมีองค์ ๘ รอบแล้วรอบเล่า เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ ในแต่ละระดับ จึงมีลักษณะเหมือนเกลียวน็อตแต่ละเกลียว คือ เมื่อปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ครบหนึ่งรอบ ก็เหมือนขันเกลียวน็อตให้แน่นเข้าไปอีกหนึ่งเกลียว เมื่อปฏิบัติซ้ำรอบแล้วรอบเล่าก็สามารถยกระดับโลกียปัญญาไปสู่ระดับโลกุตรปัญญาในที่สุด

 

 

2567_08_05.jpg

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028935166200002 Mins