พุทธศาสนากับการพัฒนา

วันที่ 08 สค. พ.ศ.2567

 

2567_08_08_b.jpg

 

 

พุทธศาสนากับการพัฒนา



             วารสารบริหารธุรกิจ : สมมติเอาคนที่เคร่งศาสนาหรือรักสันโดษมาบริหารงาน จะไม่ทำให้งานขององค์กรไม่พัฒนาไปเท่าที่ควรหรอกหรือ?
 


              พระเผด็จ : คนส่วนมากมักเข้าใจว่า ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วจะเป็นเช่นนั้น แต่จริงๆ แล้วคนสันโดษไม่ได้หมายความว่าเป็นคนขี้เกียจหรอกนะท่านหมายถึงคนที่เมื่อทํางานเต็มที่แล้ว ผลจะออกมาอย่างไรก็ยอมรับ

 

 

                ความจริง แม้จะยังสู้คนอื่นไม่ได้ก็ไม่อิจฉาเขา มีแต่จะคิดปรับปรุงงานของตนให้ดีขึ้นหรือแม้จะมีผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็มิได้หยุดนิ่งกลับพยายามสร้างโครงการใหม่ๆ ผลงานชิ้นใหม่ๆ ที่ดีกว่าออกมาเรื่อยๆ ตามหลักสัมมาวายามะองค์มรรคข้อที่ ๖ เป็นการมุ่งสะสมผลงานและสะสมความดี แต่ไม่สะสมวัตถุให้เกินความจำเป็นที่ตนจะใช้สอย คนบางคนขี้เกียจจะหยิบจะทำงาน จะพัฒนาตนเองหรือพัฒนางาน แล้วก็อวดอ้างว่าตนสันโดษ อย่างนี้เรียก สันโดษอันธพาล



             คนที่ปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นโสดา จัดเป็นพระอริยะแล้ว แต่ยังเป็นนักธุรกิจ ก็มีตัวอย่างให้ดูตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น ทั้งสองท่านนี้มีกิจการใหญ่โตร่ำรวยมหาศาล ทั้งๆ ที่ก็รักสันโดษด้วยกันทั้งคู่ ท่านหาเงินเก่ง และก็ใช้เงินเป็น ทรัพย์ส่วนใหญ่ใช้ไปในการทำทาน ทำบุญกุศล และได้บำเพ็ญตนเป็นกองเสบียงใหญ่ให้พระพุทธศาสนา พอถึงวันพระก็ถือศีล ๘ กินแค่ ๒ มื้อ แล้วก็สงบสติอารมณ์ไปวัดเพื่อเจริญภาวนา ยิ่งกว่านั้นยังเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระวันละ ๒,๐๐๐ รูป ตลอดชีวิต คนอย่างนี้หาได้ง่ายนักหรือ



              สันโดษ แปลว่า รู้จักพอ หมายถึงลักษณะความ ๒ ประการของใจ คือ



            ๑. พอใจตามที่มี เช่น เรามีรูปร่างไม่หล่อ ไม่สวย อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปอิจฉาคุณภรณ์ทิพย์เขาหรอก ถึงสติปัญญาน้อยแค่นี้ก็ไม่ต้องไปอิจฉาใคร เราไม่ตาบอดแขนด้วน ยังพอพูดได้ ปัญญายังพอมีพอทำอะไรได้ก็พอใจตามที่มี แล้วก็เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วนี้ไปสร้างบุญสร้างกุศลให้เต็มที่ ไม่ต้องมานั่งตีอกชกหัวคร่ำครวญสาปแช่งตัวเองหรือใครต่อใครให้เสียเวลา



            ๒. พอใจตามที่ได้ เมื่อทำงานแล้ววัดฝีมือได้เท่านี้ กี่ปีกี่ปีก็สู้คนอื่นไม่ได้สักที ก็ขอให้คิดเสียว่า เราสร้างบุญมาแค่นี้มันจึงได้แค่นี้ก็ต้องยอมรับความจริง ไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องอิจฉาคนอื่น ตั้งปณิธานเสียใหม่ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะทำทานให้มากขึ้น จะแสวงหาสติปัญญาให้มากขึ้นอย่าง นี้สิคือการพอใจตามที่ได้



            อาตมายอมรับว่าตั้งแต่เรียนมาก็ไม่เคยได้เกียรตินิยม สู้เพื่อนที่ทำงานจริงๆ เขาไม่ได้ในแง่ความสามารถ ความหูกว้าง ตากว้างก็ยังแพ้ใครๆ อีกหลายคน แต่เมื่อพิจารณาตัวเองแล้ว เอ๊ะ! หุ่นเรามันให้อยู่อย่างหนึ่งนะ คือ ทนแดดทนลมทนฝน รูปร่างอย่างนี้เราเล่นมวยซื้อทำความดีมันเรื่อยไป มันจะไม่เป็นเต่าตัวที่ฟลุคชนะกระต่ายบ้างก็แล้วไป ทำมันไปเรื่อยๆ เมื่อทำหนักเข้าก็พอใจแล้วสนุกอยู่กับงาน ก็เลยไม่ปรารถนาจะมีครอบครัว ผลสุดท้ายก็เลยมีโอกาสทำความดีได้มากกว่าเพื่อนๆ ที่เขาฉลาดกว่ามีความสามารถมากกว่าเสียอีก เพราะเขาต้องเอาสติปัญญาความสามารถส่วนหนึ่งไปวุ่นกับเรื่องครอบครัว ส่วนเราไม่ต้องไปวุ่นกับเรื่องโน้นมุ่งทำงานให้เต็มที่ ผลงานจึงได้มากกว่า



               เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจคำว่า สันโดษ กันให้ถูก สันโดษ หมายถึงความพอใจตามที่ตนมี ตามที่ตนพึงจะทำได้ ไม่อิจฉาริษยาคนอื่นที่เหนือกว่าเรา ไม่โลภ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า นิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร



               วารสารบริหารธุรกิจ : ถ้ามองในแง่มูลฐานว่า ความเจริญทางด้านวัตถุเกิดจากการสะสมทาน ถ้าสมมติเราไม่มีทุนหรือเครื่องมือระดับหนึ่งนี่เราทำงานใหญ่ไม่ได้ ในเมื่อพระพุทธศาสนาค่อนข้างจะละทิ้งการสะสมถาวรวัตถุ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่ความยิ่งใหญ่หรือ?
 


         พระเผด็จ : ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราละทิ้งเทคโนโลยี ไม่ได้สอนให้เราทิ้งวัตถุ แต่สอนให้นำเทคโนโลยีและวัตถุมาใช้สร้างความดีให้สูงสุดส่วนมากเราแปลเจตนากันผิดเวลาอาตมาเทศน์อาตมาใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead Projector) บ้างบางทีก็ใช้สไลด์ (Slide) หรือวีดีโอมาประกอบบ้าง เลยถูกข้อหาว่าแหกคอก ถ้าจะถามว่า การทำเช่นนั้นผิดวินัยสงฆ์ข้อไหน? ก็ตอบได้เลยว่าไม่ผิดสักข้อ เพราะไม่ศึกษากันจริงจัง แค่ตีความหมายของสันโดษ เราก็ตีกันผิดๆ ครั้นถึงคราวมีเทคโนโลยีให้ใช้กลับไม่ใช้กันแล้วหาว่า ผู้ใช้ไม่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย หลงผิดกันยกใหญ่



                  อาตมาเชิญชวนคนจำนวนมากนับหมื่นนับแสนมาฟังธรรม มารักษาศีล มานั่งสมาธิ มาสวดมนต์ น่าจะดีใจ น่าจะอนุโมทนากัน แต่มีผู้บริหารบ้านเมืองบางคนกลับมามองว่า อาตมาอยากจะเด่นอยากจะดังอยากจะปลุกระดมมวลชน จะสร้างม็อบไปโน่น เรื่องเหล่านี้พอเราทำ เขาบอกว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนี้ อันที่จริงพระองค์ทรงสอนแล้วทรงทำแล้ว การแสดงพระธรรมเทศนาของพระองค์บางครั้งมีคนฟังกันทั้งเมือง แต่เขาไม่เข้าใจทุกอย่างที่มีในโลกนี้พระองค์สอนให้นำมาใช้อย่างฉลาด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหาก ขอให้มองใหม่

 


                    ศาสนาพุทธสอนในเรื่องการสะสมไว้ว่า



                 ในเบื้องสูง ถ้าเป็นพระภิกษุหรือผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก็ควรมีสมบัติส่วนตัวให้น้อยเข้าไว้จะได้ไม่เป็นภาระ และไม่ก่อให้เกิดการยึดติดอยู่ในสมบัตินั้น เมื่อจิตใจปล่อยวางได้มากเท่าไหร่ ใจก็จะสะอาด เหมาะที่จะเจริญสมาธิภาวนาเพื่อละกิเลสให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แต่เมื่อถึงคราวจะทำงานเผยแผ่ศาสนา ก็ไม่ได้ห้ามใช้วัตถุ ใช้ทุน ใช้เทคโนโลยีแต่ประการใด



             ในเบื้องต่ำ คือ ในชีวิตคนธรรมดาสามัญทั่วไปก็ให้มีสมบัติสมควรแก่ฐานะ ไม่ใช่ว่าจะต้องมีแค่ผ้า ๓ ผืนอย่างพระ แต่ท่านสอนว่าการสะสมที่ถูกต้องนั้นคน จะต้องเป็นไปเพื่อสนองการสร้างงาน สร้างบุญและสร้างคน ไม่ใช่เพื่อสนองกิเลสของตนเอง ถ้าสะสมเพื่อไว้ใช้ทำความดี อย่างนี้ละก็ พุทธศาสนายิ่งสนับสนุนให้สะสม เพราะฉะนั้นวัดในสมัยพุทธกาลจึงใช้พื้นที่เป็นพันๆ ไร่ จุพระประจำได้เป็นพันๆ รูป พระอาคันตุกะนับร้อยๆ รูป


               วารสารบริหารธุรกิจ : หมายความว่าศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการพัฒนา ไม่ได้ห้ามการขยายกิจการ ถ้าสมมติคนเป็นฆราวาสทำกิจการแบบนี้ ก็ไม่เสียหายอะไรใช่ไหม? เพียงแต่ว่าเขาจะต้องเป็นคนดีทำบุญทําทานบ้างตามกำลัง



             พระเผด็จ : บางคนเข้าใจผิดไปถึงขั้นว่า ศาสนาพุทธสอนให้คนหยุดนิ่งปล่อยวาง อะไรก็ไม่ทำ ไม่คิด ไม่ค้น วิ่งหนีปัญหา ซึ่งเท่ากับห้ามการพัฒนา แต่ที่จริงแล้วท่านสอนให้พัฒนาจิตใจ ควบคู่กันไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วยต่างหาก ชาวพุทธที่ฉลาดจะต้องรู้จักหาบุญจากงานที่ทำทุกอันให้ได้ เช่น จะปลูกต้นไม้ก็ใช่หวังเพียงให้ต้นไม้โตวันโตคืนแล้วเป็นประโยชน์เฉพาะตน แต่ตั้งเมตตาจิตไปด้วยว่า เมื่อโตมีร่มเงาผลิตออกผลแล้วก็จะเอามาแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ แบ่งไปทำบุญด้วย เมื่อคิดอย่างนี้เท่านั้นบุญก็เกิดแล้วใจก็สะอาดสูงส่งขึ้น คนอย่างนี้แหละที่เรียกว่าหาบุญเป็น หรือถ้าเป็นหมอมีหน้าที่รักษาคนไข้ ก็อย่าสักแต่ว่ารักษาไปตามหน้าที่ ควรเอาใจใส่คนไข้อย่างเต็มที่ รายได้จากค่ารักษานอกจากไว้กิน ไว้ใช้แล้ว ก็ควรแบ่งมาทำบุญทำกุศลบ้างให้เต็มกำลัง ไม่ใช่ตามกำลัง บุญก็จะยิ่งทับทวี จิตใจก็จะยิ่งผ่องใสถึงจะเหนื่อยเท่าคนอื่น ก็แค่เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ คนอย่างนี้ละที่เป็นนักบริหารดีนัก ใช่ไหม?



          มาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามการพัฒนา แต่ส่งเสริมการพัฒนาทุกด้าน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาจิตใจคนเป็นสิ่งแรกสังคมใดที่คนมีคุณธรรมสูงมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอย่างดี สังคมนั้นก็อยู่กันอย่างสันติสุขตรงกันข้ามในสังคมที่เต็มไปด้วยคนไร้คุณธรรมแม้จะมีความรู้ทางเทคโนโลยีสูงแต่ความรู้เหล่านั้นก็จะนำมาซึ่งการทำลายล้างไม่ใช่สร้างสรรค์ทำให้เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012391845385234 Mins