พุทธวิธีการเลือกคน

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2567

 

2567_08_07_b.jpg

 

 

พุทธวิธีการเลือกคน



                 วารสารบริหารธุรกิจ : ศาสนาพุทธคิดว่า คนเหมือนกันหมดทุกคนหรือว่าแยกประเภทของคน และการทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกันมีวิธีการคัดเลือกกลั่นกรองหรือไม่?

 


                 พระเผด็จ : ถ้าจะว่าโดยลักษณะกายภาพ คนเราก็เหมือนกันหมดทุกคนน่ะแหละ แต่ความดีงามต่างหากที่ไม่เหมือนกัน บางคนดีมาก บางคนดีน้อยเพราะฉะนั้นความดีนี่แหละที่จะเป็นเครื่องแบ่งคนออกเป็นชั้นๆโดยไม่จำกัดชาติชั้นวรรณะหรือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น

 


               ส่วนในแง่ของการคัดคนนั้น พุทธศาสนามีหลักในการคัดคนอยู่ว่าคนดีที่ใครๆ ก็ต้องการนั้น จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างน้อย ๓ ประการ ดังต่อไปนี้



                 ๑. ไม่เป็นพิษเป็นภัย พูดง่ายๆ คือ ไม่แสบ ซึ่งแบ่งออกเป็นทางโลกและทางธรรม ในทางโลก คำว่า ไม่แสบหรือไม่เป็นพิษเป็นภัย นั้นหมายตั้งแต่ไม่แตะต้องอบายมุข คนเราลองได้แตะต้องอบายมุขแล้ว ความชั่วอย่างอื่นที่จะทำไม่ได้นั้นไม่มี โบราณบอกว่าขโมยขึ้นบ้านเจ็ดครั้งยังดีกว่าไฟไหม้บ้านครั้งหนึ่ง เพราะขโมยขึ้นบ้านแล้วยังเหลือบ้าน แต่ไฟไหม้บ้านเจ็ดครั้งยังดีกว่าเล่นการพนันเพราะไฟไหม้บ้านยังมีที่ดินเหลืออยู่ แต่ถ้าเล่นการพนันรับรองไม่เหลือ เพราะมันเมาลึก



                 เรื่องของอบายมุข มีสำนวนที่เราคุ้นกันดี คือ สุรา นารี พาชีกีฬาบัตร ถ้ามีสุรา ที่ไหน มักจะมีความแตกแยกอยู่ที่นั่น ถ้ามีคนเจ้าชู้อยู่ที่ไหนจะเสียการปกครองที่นั่น คือปกครองไม่ได้ พาชี หมายถึงคนขี้เกียจ ถ่วงความเจริญเอาแต่ขี่ม้า ขี่รถกินลม เดินเตะฝุ่น กีฬาบัตร คือการพนัน มีการพนันที่ไหนก็มีโจรที่นั่น ถ้ามีของหายใน office เมื่อไหร่คำแรกที่ต้องถาม มีใครเสียการพนันมั้ย? ที่วัดนี้ตอนสร้างใหม่ๆ พอเครื่องยนต์กลไกหาย ทีแรกต้องตามสืบหา แต่เดี๋ยวนี้ต้องตามถามว่า เมื่อคืนมีการเล่นพนันที่ไหน ใครเล่นเสียไปเอาตัวมา เพราะเรารู้ดีว่า วิธีชดเชยรายได้ ไม่มีอะไรง่ายกว่าการขโมย เมื่อเสียพนันก็ต้องขโมยพอไปได้
 


                   ในทางธรรมเรามองในแง่ของศีล ๕ ศีลข้อที่รักษายากมาก คือ มุสาคนเราถ้าโกหกได้ล่ะก็ไม่มีความชั่วใดๆ ที่ทำไม่ได้ ยกเว้นแต่ยังไม่ได้โอกาสทำเท่านั้น เพราะว่าคนที่โกหกนั้น แสดงว่าสภาพแห่งความเป็นคนตรงของเขาหมดไปแล้ว คนคดแย่ยิ่งกว่าไม้ดด อย่าว่าแต่โกหกแล้วคนอื่นเสียหายเลย แม้โกหกเพียงเพื่อล้อเล่นกันแบบสนุกๆ พระพุทธองค์ยังทรงห้าม เพราะคนโกหกคนอื่นหนึ่งครั้งมีความจำเป็นต้องโกหกตัวเองอย่างน้อย ๓ ครั้ง คือ
 


                 (๑) เตรียมเรื่อง  ใครโกหกชำนาญก็ใช้เวลาน้อยหน่อย แต่ก็ต้องเตรียม


                 (๒) ลงมือโกหก


                 (๓) ตามจำ  ถ้าไม่จำก็โดนจับได้ โกหกบ่อยๆ เข้า แม้คนอื่นไม่เสีย เราก็เสีย เพราะเป็นต้นเหตุของการหมดความเชื่อมั่นในตัวเอง



            ๒.ไม่โง่ ในทางโลก คือ อย่างน้อยต้องมีสติปัญญาพอเลี้ยงตัวเองได้ รับผิดชอบการงานได้ ส่วนในทางธรรม คำว่าโง่ อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรบุญ อะไรบาป อะไรผิด อะไรถูก ในการคัดคนมาเป็นผู้บริหาร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านทรงเตือนว่า ผู้บริหารที่ดีจะต้องสามารถแยกความชั่วกับความผิดออกจากกันให้ชัดเจนเป็นอย่างน้อย คนผิดไม่จำเป็นต้องเป็นคนชั่ว แต่คนชั่วแล้วจะต้องผิด บางอย่างเราทำผิดมันก็แค่ผิดไม่ถึงกับชั่ว เป็นเพียงประมาทพลั้งเผลอ แต่คนชั่วนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรผิดแล้วก็ยังฝืนทำ
 


               ๓.ไม่แล้งน้ำใจ คือ ช่วยใครได้ก็ช่วย ยิ่งคนบ้านใกล้เรือนเคียงหรือเพื่อนร่วมงานจำเป็นต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนเราส่วนมากมักเข้าข้างตัวเอง คิดแต่เพียงว่า ถ้าเราช่วยตัวเองได้ และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แค่นี้ก็พอแล้ว อย่างนี้ยังไม่ถูกต้อง ขอให้ดูต้นไม้ เช่น ต้นมะม่วงที่ปลูกมาห้าปีแล้วไม่มีผล คุณจะเก็บไว้ไหม ถ้าใจดีก็อาจจะรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้อีกสักระยะหนึ่ง ถ้ายังเฉยอยู่ไม่ออกผลหรือพอมีผลบ้างแต่เจ้าของต้องการใช้ที่ดินทำประโยชน์อย่างอื่น มะม่วงต้นนี้ก็มีหวังถูกโค่นทิ้งข้อนี้ฉันใด คนแล้งน้ำใจก็ฉันนั้น



            ส่วนในทางธรรมนั้นชัดลงไปเลยว่า ต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่รู้จักทำบุญให้ทาน ช่วยงานพระศาสนา จนกระทั่งช่วยงานสาธารณกุศลต่างๆ



           คราวนี้ในการคัดคนเข้าทำงานก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาคนที่ว่านี้มาทำงานอะไร สมมติถ้าเอามาเป็นเพียงภารโรง เราก็กำหนดคุณสมบัติเพียง
 


                (๑) ไม่ยุ่งกับอบายมุข



                (๒) สามารถรับผิดชอบงานได้ก็แล้วกัน



                (๓) ต้องมีมนุษยสัมพันธ์พอสมควร แต่ถ้าแล้งน้ำใจหรือขาดน้ำใจกับเพื่อนร่วมงานแสดงว่ามนุษยสัมพันธ์ใช้ไม่ได้ เราก็ไม่เอา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าแย่มากขนาดไม่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ก็ต้องตัดญาติขาดมิตรกัน ให้มองลึกลงไปอย่างนั้น ส่วนความสามารถในการทำงานเราพอฝึกกันได้จำไว้เถอะคนที่จมอยู่ในอบายมุขนั้นฝึกยากและเขารักชั่วเสียแล้วถึงมีปัญญาก็จะไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์ แต่เอาไปใช้ในทางร้ายๆ คนพวกนี้อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไม่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ โบราณเรานั้นแค่รู้ว่าใครเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไว้ไถนาพอควายแก่แล้วส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์เขายังไม่คบเพราะไม่รู้คุณแม้กระทั่งควายที่ทำมาหากินยังไม่รู้คุณ คนยิ่งไม่เอาไว้เลย



             เพราะฉะนั้น โดยสรุปการคัดคนเราดูกันที่อบายมุข ที่ความรับผิดชอบ ที่ความกตัญญูกตเวที หลักใหญ่ๆ ก็มีอย่างนี้ แต่วิธีการดูอย่างอื่นก็มีอีกเยอะ ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบของมรรคมีองค์ ๘



              แล้วถ้าเราจะคัดคนออกเราก็อาจจะพิจารณา ดังนี้



              ๑. คนที่ชอบชักนำในทางที่ผิด คือ ชวนไปเกลือกกลั้วอบายมุขชวนผิดวินัย ชวนเดินขบวนก่อความวุ่นวาย ฯลฯ

 

              ๒. คนที่ไม่มีวินัย โดยเฉพาะพวกไม่ตรงเวลา ไม่รักษาความสะอาด



              ๓. คนที่แม้พูดดีๆ ก็โกรธ รวมทั้งพวกชอบเถียงข้างๆ คูๆ



              ๔. คนที่ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็ชอบเสือกคือ คนที่ชอบก้าวก่ายหน้าที่คนอื่น เรื่องนี้ต้องอยู่ด้วยกันสักพักถึงจะรู้นิสัยกัน



              ๕. คนที่ชอบผิดๆ เห็นใครทำผิดก็ชมว่าแสบดี ตัวเองทำผิดเองแทนที่จะละอาย กลับหลงชมว่าตนเองเก่ง บ้านเมืองถึงได้วุ่นวาย



              ใครมีความประพฤติเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างใน ๕ ประการนี้ ถ้าแก้ไม่ไหวก็ต้องคัดออกไป ไม่อย่างนั้น อีกหน่อยก็จะก่อเรื่องวุ่นวายจนได้ ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม

 

 

2567_08_07.jpg

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014775999387105 Mins