ทําอย่างพระ

วันที่ 23 สค. พ.ศ.2567

 

2567_08_23_b_03.jpg

 

 

ทําอย่างพระ



              สัมมากัมมันตะ คือ ประกอบการงานชอบ งานของพระ คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม


              สัมมาอาชีวะ คือ ประกอบอาชีพชอบ อาชีพของพระ คือ บิณฑบาต หรือฉันภัตตาหารตามที่เขาถวายด้วยศรัทธา พระไปเทศนาธรรมจนญาติโยมเกิดศรัทธาแล้วถวายปัจจัยสี่ อย่างนี้ไม่ผิด แต่ถ้าไปรับจ้างสร้างบ้าน รับจ้างส่งของแล้วได้เงิน ถือว่าผิด ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ไม่ใช่กิจที่พระควรทำไม่เป็นไปเพื่อปราบกิเลส เป็นการพอกพูนกิเลส การงานในพระศาสนามีวัตถุประสงค์เพื่อปราบกิเลส ถ้าเราประพฤติสัมมาอาชีวะ บุญกุศลก็จะเกิดขึ้น เพราะเป็นศีลทางกายถ้าเราไปทำการค้าขาย เล่นหวย หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่กิจของพระ ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ เมื่อมานั่งสมาธิก็จะไม่สว่าง เพราะใจไม่ใส เพราะฉะนั้นเราต้องมีนิสัยแบบพระ คือมักน้อย สันโดษพอใจตามมีตามได้ในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช เพื่อปราบกิเลสให้หมดไป

               การทำอย่างพระนั้นค่อยๆ นำไปปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติในภายนอก ส่วนภายในนั้นต้องปฏิบัติธรรมเข้าไปใน

 

2567_08_23_01.JPG

 

ศูนย์กลางกายซึ่งเป็นทางสายกลางที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ที่ว่า “มัชฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน” หนทางสายกลางที่ตถาคตดำเนินไปแล้ว “อภิสัมพุทธา จักขุกรณี” ทำให้เกิดจักษุขึ้น “ญาณกรณี” ทำให้เกิดญาณรู้ขึ้น “อุปสมายะ” เป็นไปเพื่อความสงบ “สัมโพธายะ” เพื่อความรู้พร้อม “อภิญญายะ” เพื่อความรู้ยิ่ง “นิพพานายะ” เพื่อพระนิพพาน

                สัมมาวายามะ คือ ประกอบความเพียรชอบ ได้แก่ เพียรละบาปอกุศล เพียรเจริญกุศล เพียรละ “นิวรณ์ ๕ ประการ” ที่ประกอบด้วย


                ๑. กามฉันทะ ความพึงพอใจในกาม

                ๒. พยาบาท ความโกรธ เกลียด เคียดแค้น


                ๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ซึมเซา เซ็งเบื่อหน่าย

 

                ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ


                ๕. วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย

 

2567_08_23_02.JPG

                 กามฉันทะ ละได้ด้วยการเจริญอสุภะ เป็นพระต้องเพียรละนิวรณ์ นั่งสมาธิเพื่อละนิวรณ์ เดินจงกรมเพื่อละนิวรณ์เห็นโทษของกาม ออกจากวัตถุกาม เมื่อมีความคิดเรื่องผู้หญิงอาหาร เสียง กลิ่น สัมผัส เข้ามาในใจ ก็ให้สอนตัวเองว่าเราต้องออกห่างและกำจัดความกำหนัดนั้น เมื่อมีรูปสวยหรือเสียงเพราะ เราจะต้องออกห่าง ไม่รับเอามาใส่ใจ เหมือนรีบปัดก้อนไฟที่กำลังตกลงบนกระหม่อมอย่างรวดเร็ว นึกให้เห็นเป็นของไม่งาม เป็น “อสุภะ” แทน

                     กามทำให้ใจมืด ทำให้ไม่เกิดจักษุ ไม่เกิดญาณ ไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา ไม่มีแสงสว่าง ทำให้เราต้องทำบาป แล้วไป

 

2567_08_23_03.JPG

 

ตกนรก ไปปีนต้นงิ้วในอบาย ทุกข์อย่างแสนสาหัสยาวนานมากๆ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเห็นผู้หญิงแล้วให้คิดว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่นั้นเป็นแค่รูปกายที่เต็มไปด้วยน้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำลาย เหงื่อ ขี้มูก ขี้หู น้ำตา ปัสสาวะ อุจจาระ อาหารใหม่ อาหารเก่า ถ้าเอาข้างในออกมา เอาข้างนอกเข้าไป จะไม่น่าดูเลยทั้งยังเป็นรังของโรคร้อยแปดพันเก้าชนิดอีกด้วยพิจารณาให้กามฉันทะออกไปจากใจให้ได้ พิจารณาแบบนี้ให้มากๆ เรามีหน้าที่เบื่อหน่าย คลายความกำหนัด ไม่ใช่มีหน้าที่ทำความกำหนัดให้เกิดขึ้น ขั้นต่อไปคือให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของร่างกายนั้นว่า ในอนาคตรูปร่างที่สวยงามนี้จะกลายเป็นคนแก่ที่มีหนังเหี่ยว ฟันหัก ตาฟาง หูหนวก หลังค่อม หัวล้าน เดินหลังงอ เป็นคนเจ็บ นอนจมกองอุจจาระ ปัสสาวะ ให้อาหารทางสายยาง นอนติดเตียง ตาย เป็นศพ ที่อืด บวม พอง เต็มไปด้วยหมู่หนอน ใครชอบผิวสวย ต้องไปดูศพที่ขึ้นเขียว ใครชอบสัดส่วนที่โค้งเว้า ต้องไปดูศพที่ อืด บวม พอง ใครชอบฟันสวย ต้องไปดูศพที่เหลือแต่กระดูกเมื่อพิจารณาหรือดูแบบนี้แล้วจะทำให้กายเบา ใจเบา เมื่อนั่งสมาธินึกดวงแก้วก็จะนึกได้ ดังนั้นจึงต้องรีบขจัดความกำหนัดออกไปแล้วทำใจให้ใสๆ จะได้เห็นดวงธรรมและองค์พระ

                    พยาบาท คือ ความโกรธ ความเกลียด ความเคียดแค้น ที่มีอยู่ในใจ แก้ด้วยการแผ่เมตตาและให้อภัยปรารถนาให้เขาเป็นสุข พ้นทุกข์ พ้นจากวิบากกรรมชั่วที่เป็นทุกข์ อาจจะเริ่มฝึกจากตัวเรา คือ ขอให้เราพ้นจากทุกข์ทั้งปวง จากนั้นก็เป็นพ่อแม่ พี่น้อง คนที่เรารัก สรรพสัตว์ทั้งหลายและคนที่เป็นปรปักษ์กับเรา ตามลำดับ ขอให้ท่านเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเช่นเดียวกับเรา ให้ทำบ่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ คุ้นเคยเอง เหมือนตอนที่เราหัดเขียนหนังสือ หัดขี่จักรยาน แรกๆ ก็ยังไม่คล่อง ฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะคล่องเอง ทำบ่อยๆ ทำเนืองๆ ทำให้มากๆ มองเขาในแง่ดี หาข้อดีของเขาอย่าไปจับผิดเขา ทุกคนมีวิบากกรรมที่ต้องรับ เมื่อเห็นเขาประสบทุกข์ ก็อย่าไปสมน้ำหน้า อย่าไปซ้ำเติม ให้มีเมตตาต่อเขา ทำแบบนี้บ่อยๆ ใจก็จะเป็นสมาธิหยุดนิ่งได้ง่าย

                   อานิสงส์ของเมตตามี ๑๑ ประการ คือ

                   ๑. หลับเป็นสุข

                   ๒. ตื่นเป็นสุข

                   ๓. ไม่ฝันร้าย

                   ๔. เป็นที่รักของมนุษย์


                   ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์

                   ๖. เทวดาลงมารักษา

                   ๗. ไฟ ยาพิษศัสตราวุธ ทำอันตรายไม่ได้

                   ๘. ใจเป็นสมาธิได้เร็ว

                   ๙. สีหน้าผ่องใส

                   ๑๐. ไม่หลงตาย

                   ๑๑. ตายแล้วไปสู่พรหมโลก

                   เราหวังที่จะทำอย่างพระ และนี่ก็คือการกระทำอย่างพระ ละกามด้วยอสุภะ ละพยาบาทด้วยเมตตา ถีนมิทธะ คือ ความง่วง แก้ด้วยการล้างหน้า หรือเดินยืดเส้นยืดสายอุจธัจจะกุกุกจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ แก้ด้วยการพูดให้น้อย นั่งสมาธิให้มาก วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยลังเลใจแก้ด้วยการมีศรัทธา คือเชื่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์มีจริง เชื่อว่า วิชชาธรรมกายมีจริง ฐานที่ ๗ มีจริง คนเข้าถึงได้มีจริง เวลานั่งสมาธิต้องไม่สงสัยอะไรเลย เชื่อและใช่จึงจะหยุดนิ่งได้ ถ้าสงสัยไม่มีทางเข้าถึงธรรมดังนั้นจึงต้องมีศรัทธาให้มาก เพราะศรัทธาจะช่วยแก้ความลังเลสงสัยได้

                   สัมมาวายามะ อีกประการหนึ่ง คือ ความเพียรละบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงาม ทำนิมิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วให้สว่างยิ่งๆ ขึ้นไป

                    สัมมาสติ คือ มีสติชอบ ขจัดความยินดียินร้ายตามเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม มีสติเห็นกายว่า กายนี้เป็นเพียงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตามันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร มีสติอยู่ในเรื่องเหล่านี้ใจก็จะเริ่มปล่อยวาง เห็นกายนี้เป็นเพียงแค่ธาตุดินน้ำลมไฟไม่ใช่สัตว์บุคคล
มีสติในกายว่าเป็นดินน้ำลมไฟ มีสติว่ากายนี้ตายแล้วอืดบวมพอง เน่าเหม็น หมู่หนอนชอนไช นกแร้ง นกตะกุ่ม กา สุนัขป่า สุนัขจิ้งจอกรุมกิน คงเป็นอย่างนี้คงล่วงอย่างนี้ไปไม่ได้ มีสติว่าแม้กายของบุคคลที่เราหลงรักก็มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ คงเป็นอย่างนี้ ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ พิจารณาไปจนถึงกายที่เหลือแต่กระดูก จนกระทั่งย่อยสลายกลายเป็นธาตุต่างๆ กลับคืนสู่ธรรมชาติ เมื่อมีสติพิจารณาเห็นกายอย่างนี้แล้วจะทำให้ปล่อยวางมากขึ้น ส่วน
เวทนานั้นเป็นความรู้สึก คือ เมื่อนั่งไปแล้วมีความสุข ก็รู้ว่าเป็นสุข นั่งไปแล้วมีความทุกข์ ก็รู้ว่าเป็นทุกข์ นั่งไปแล้วใจนิ่งเป็นกลางๆ ก็รู้ว่าใจนิ่งเป็นกลางๆ เมื่อมีสติตามเห็นเวทนาแล้ว ต่อไปก็พิจารณาดูจิต คือ เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตไม่ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิต ไม่ฟุ้งซ่าน จิตเป็นกุศลใหญ่ก็รู้ว่าจิตเป็นกุศลใหญ่ จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น จิตไม่
หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น มีสติตามเห็นจิตในจิตอย่างนี้ มีสติเห็นกายมาตลอด เห็นเวทนามาตลอด เห็นจิตมาตลอดมีสติไม่เผลอมาตลอดอย่างนี้ สุดท้ายจิตจะเป็นสมาธิแนบแน่นแล้วเห็นธรรม คือ เห็นดวงธรรมที่อยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หรือที่คุ้นกันในชื่อ
“ธรรมรัตนะ

 

2567_08_23_04.JPG


             พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” คือ เมื่อเห็นดวงธรรมและทำใจหยุดนิ่งเข้าไปก็จะเห็นพระพุทธเจ้าภายใน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พุทธรัตนะ” เมื่อเห็นธรรมรัตนะ (เป็นสัมมาสมาธิ) แล้วก็จะเห็นพุทธรัตนะมีบาลีรับรองว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหลายในโลกนี้ หรือรัตนะอันประณีตในโลกอื่น ทรัพย์หรือรัตนะนั้นจะเสมอด้วยพุทธรัตนะไม่มี แม้นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า แปลตามบาลี “พระพุทธเจ้า” คือ ผู้รู้ “ประณีต” คือ ละเอียดสวยงาม “รัตนะ” คือ แก้ว รวมความได้ว่า เป็นผู้รู้ที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ใสเป็นแก้ว ละเอียดสวยงาม ถ้าคิดอย่างพระ พูดอย่างพระ ทำอย่างพระ เราก็จะเข้าถึงพระ คือ พุทธรัตนะ (พระธรรมกาย) ได้อย่างนี้

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00107475121816 Mins