เรื่องของโอโม กล่องที่ 15 : วัดพระธรรมกาย
ในการเรียนที่รามคำแหงปีต้นๆ ผมมาอยู่ที่เชียงรากกับแม่ แล้วก็ยังมีพี่แอ๊ดและพี่สมบูรณ์(พี่เขย) อยู่ด้วย ซึ่งพี่ทั้งสองตอนนั้นรับราชการอยู่ที่กองอุทยานแห่งชาติที่ขึ้นกับกรมป่าไม้ ยังไม่เป็นหน่วยงานระดับกรมและมาอยู่กระทรวงทรัพย์ฯ อย่างเช่นปัจจุบัน
กิจกรรมหนึ่งของกองอุทยานแห่งชาติคือนำพนักงานพิทักษ์ป่ามาอบรมที่วัดพระธรรมกายเป็นรุ่นๆ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมให้แก่พนักงาน เพราะพนักงานเหล่านี้ประจำอยู่ทั่วประเทศ ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสมบัติของชาติ หากไม่มีคุณธรรมมาหล่อหลอมจิตใจแล้ว โอกาสที่จะทำการทุจริต ตัดไม้ ทำลายป่า ก็จะมีมาก
พี่แอ๊ดและพี่สมบูรณ์ก็เป็นทีมงานที่มาประสานจัดการอบรมที่วัด ในการปิดการอบรม หลวงพ่อธัมมชโยเป็นผู้มอบประกาศนียบัตรให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคน ที่ศาลาจาตุมหาราชิกา ที่บ้านเชียงรากจะเห็นมีภาพเหล่านี้เป็นประจำเพราะพี่สมบูรณ์เป็นคนถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังเห็นภาพหลวงพ่อทัตตะชีโว เดินพาข้าราชการนำชมวัด เห็นโบสถ์ เห็นหลายๆอาคาร ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ
ผมได้เห็นก็รู้สึกสนใจ รู้สึกเป็นวัดที่ดูเรียบง่าย เป็นระเบียบ สะอาด คิดในใจว่าน่าจะได้ไปวัดพระธรรมกายดูสักครั้ง จนมาอยู่ชมรมพุทธฯที่ราม เค้าจัดกิจกรรมมาวัดพระธรรมกายในวันอาทิตย์ โดยขอใช้รถบัสของมหาวิทยาลัย ผมเลยได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้
ดูแปลกดีไหม อยู่เชียงราก ไปขึ้นรถที่ราม มาวัดพระธรรมกาย จะว่าแปลกก็แปลก จะว่าไม่แปลกก็ไม่แปลก เพราะ ประการแรกมันเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมพุทธฯ และประการที่สอง สมัยนั้นจากเชียงรากมาบางขันก็ไม่ง่ายนะ ไม่ได้มีถนนแบบนี้ ยังไม่มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแต่ทุ่งนา ถนนจากหน้าสถานีรถไฟเชียงรากมาบางขัน เป็นถนนดิน แล้วก็ไม่ตรงเหมือนปัจจุบัน จะคดเคี้ยวไปตามรูปทรงที่ดินที่เป็นแปลงนา
ผมมาวัดพระธรรมกายครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ.2526 สมัยนั้นอยู่ในพื้นที่ 196 ไร่ เข้าทางประตูใหญ่ด้านคลองสาม อาคารปฏิบัติธรรมหลักคือ ศาลาจาตุมหาราชิกาที่โล่งๆ นอกนั้นก็ปูเสื่อนั่งรอบศาลาจาตุฯ รอบอาคารดาวดึงส์ เลยไปทางหน้าอาคารยามาและศาลาดุสิต
ความรู้สึกครั้งแรกที่มาถึงวัด รู้สึกคุ้นเคยเหมือนได้กลับบ้าน ประทับใจในอัธยาศัยของผู้คนทั้งพี่ๆอุบาสก ทั้งญาติโยมผู้ที่มาวัดเอง ประทับใจความสะอาดของสถานที่ต่างๆจนไปถึงห้องน้ำ