เรื่องของโอโม กล่องที่ 34 : จัดตั้งองค์กร
หลังจากที่เรามีระบบการทำงานที่อยู่ภายนอกวัด อย่างสำนักงานกัลยาณมิตร ช่วงนั้นก็เริ่มมีบุคลากรแต่ละเพศภาวะเกิดขึ้น ทางพระก็มีการอยู่ต่อหลังจากการอบรมธรรมทายาทสิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ.2528 ทางฝ่ายชายและหญิง มีอาสากัลยาณมิตรเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 แล้วพัฒนามาเป็นอุบาสก อุบาสิกา เกิดอาศรมต่างๆขึ้น
ทางคณะกรรมการของวัดจึงเริ่มประชุมวางระบบการจัดตั้งองค์กรให้มีรูปแบบการบริหารงานที่ชัดเจนขึ้น โดยมีตัวแทนของวัดกลุ่มหนึ่งไปทำ workshop ที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยมีคณะอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา มี ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ และ รศ.ดร.นิคม ทาแดง เป็นหัวหน้าคณะ
คณะทำงานใช้เวลา 2 ปี ในการร่างผังองค์กรออกมา และแล้ว วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2534 ได้มีการเรียกประชุมสมาชิกทั้ง 3 อาศรม ที่สภาธรรมกายสากลหลังคาจาก หลวงพ่อทัตตชีโวเทศน์เรื่องการสร้างบารมี 10 ทัศ ต่อจากนั้น หลวงพี่สัมมาปุญโญ(ปัจจุบัน-พระวิเทศภาวนาจารย์) ชี้แจงการเลือกหน่วยงาน โดยมีการจัดบอร์ดให้ชม
ทุกคนเขียนใบสมัครลงหน่วยงานให้เลือก 5 อันดับ จากนั้นกรรมการก็เอาไปพิจารณา แล้วประกาศผลให้ทราบในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2534
สำหรับผมและอาจารย์ลือพงศ์ ไม่มีสิทธิ์ไปลุ้นกับสมาชิกท่านอื่นๆ เพราะกรรมการจับใส่ กองส่งเสริมกัลยาณมิตร สำนักกัลยาณมิตรสากล เรียบร้อยแล้ว โดยมี อจ.ลือ เป็นหัวหน้ากองคนแรก ผมเป็นนักวิชาการ น้องนก(นิภาภันณ์)เป็นโสตสื่อ มีน้องบุญจวนและน้องโบว์(สุขใจ)เป็นบริหารงานทั่วไป
และจุดเริ่มต้นในส่วนของสำนักกัลยาณมิตรสากลก็เริ่มต้นที่ วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ.2535 ทุกคนเข้ารายงานตัว มีหลวงพี่อารักษ์(ปัจจุบัน-พระครูธรรมธรอารักษ์ญาณารักโข)เป็น ผอ.องค์แรก องค์เดียวจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยเปลี่ยนสำนักเดียวเลย
และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานการทำงานมาจนปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โยกย้ายสำนักกันบ้างเป็นระยะ ปัจจุบันมี 17 สำนักด้วยกัน