ติปัลลัตถมิคชาดก ชาดกแสดงคุณของความว่านอนสอนง่าย

วันที่ 02 กย. พ.ศ.2565

ติปัลลัตถมิคชาดก ชาดกแสดงคุณของความว่านอนสอนง่าย

ข้อคิดจากชาดก

ติปัลลัตถมิคชาดก

ชาดกแสดงคุณของความว่านอนสอนง่าย

 

สถานที่ตรัสชาดก

..... พทริการาม นครโกสัมพี



สาเหตุที่ตรัสชาดก

      ครั้งหนึ่ง ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนาที่นครอาฬวี มีประชาชนเลื่อมในขอบวชเป็นภิกษุและภิษุณีจำนวนมาก ทุกๆ วัน พุทธบริษัททั้งสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ต่างพากันมาฟังพระธรรมเทศนา

      หลังจากฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว พระภิกษุและอุบาสกก็ค้างคืนกันอยู่ทั้งวัดนั่นเอง พระเถระผู้ใหญ่เข้าพักผ่อนในกุฏิ ส่วนพระภิกษุที่อ่อนพรรษาลงมาก็พักที่ศาลาโรงฉันรวมกันอุบาสกทั้งหลาย ในครั้งนั้นมีพระภิกษุบวชใหม่บางรูปที่ฝึกฝนตนเองมายังไม่ดีพอ เวลานอนจึงเผลอสติ กัดฟันบ้าง กรนบ้าง ละเมอบ้าง ล้วนเป็นภาพที่ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา พวกอุบาสกอดรนทนไม่ได้ จึงนำความไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัย

      “ ห้ามภิกษุนอนในที่มุงบังเดียวกันกับผู้ที่มิใช่ภิกษุ”

      ต่อมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากนครอาฬวีไปยังนครโกสัมพี ประทับอยู่ที่พทริการาม ครั้งนั้น มีพระภิกษุตามเสด็จจำนวนมาก กุฏิที่มีอยู่จึงไม่พอ ทำให้สามเณรราหุลซึ่งปกติได้อาศัยนอนค้างร่วมกับพระเถระองค์ใดองค์หนึ่งเสมอไม่มีที่นอน เพราะต่างก็เกรง อาบัติ ผิดวินัย ไม่กล้าให้นอนค้างด้วย

      เมื่อสามเณรราหลุไม่มีที่นอน ก็ไม่ได้โต้แย้ง ไม่ได้ถือว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบิดา พระสารีบุตรเป็น พระอุปัชฌาย์ พระโมคคัลลานะเป็นพระอาจารย์ พระอานนท์เป็นพระเจ้าอา แล้วจะเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบถึงความเดือนร้อนของตน แต่ด้วยความที่มีอัธยาศัยงาม นอกจากจะตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างดีแล้ว ยังเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และเคารพในพระวินัยอย่างเคร่งครัด จึงพยายามช่วยเหลือตนเอง ไม่ยอมทำความเดือดร้อนให้ผู้ใดด้วยการอาศัยนอนในเวจกุฎี ( ห้องส้วมสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      เช้ามืดนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาที่เวจกุฎี ก่อนจะเข้าไป ได้ทรงกระแอมขึ้น สามเณรราหุลก็ระแอมตอบ แล้วออกมากราบทูลถึงสาเหตุที่มานอนในเวจกุฎีนี้

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดธรรมสังเวชที่สามเณรราหุลถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเอาใจใส่ดูแล ปล่อยให้หาที่นอนเองอย่างนี้ จึงประชุมสงฆ์ในเช้าตรู่วันนั้น แล้วตรัสถามพระสารีบุตรว่า

      “ สารีบุตร เธอทราบหรือไม่ว่า เมื่อคืนนี้ราหุลนอนที่ไหน ”

      พระสารีบุตรไม่ทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่านอนในเวจกุฎีของพระองค์เอง แล้วตรัสต่อไปว่า

      “ ดูก่อน สารีบุตร ท่านทั้งหลายไม่เอาใจใส่ดูแลสามเณรราหุล ทอดทิ้งได้อย่างนี้ ต่อไปภายหน้าสามเณรอื่นๆ มาบวชก็คงจะไม่มีที่พึ่ง ”

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นใหม่ว่า

      “ นับแต่นี้ไป อนุญาตให้สามเณรหรือผู้ไม่ใช่ภิกษุ นอนในที่มุงบังเดียวกันกับภิกษุได้ไม่เกินสามคืน เมื่อถึงคืนที่สี่ จะต้องไปหาที่นอนที่อื่นๆ ”

      เย็นวันนั้น พระภิกษุทั้งหลายประชุมกัน กล่าวสรรเสริญสามาเณรราหุลเป็นสามเณรใจเพชร ใฝ่ใจศึกษาหาความรู้ ไม่ขี้อ้อน อ่อนแอเหมือนเด็กทั้งหลาย เคารพและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่า พระภิกษุกำลังปรารภกันถึงเรื่องนี้อยู่ จึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า

      “ ราหุลนั้น ไม่เฉพาะแต่ชาตินี้เท่านั้นที่เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียนและว่านอนสอนง่าย แม้ในอดีตที่เกิดเป็นกวางก็มีคุณธรรมเช่นนี้เหมือกัน ”

แล้วพระองค์ทรงเล่า ติปัลลัตถมิคชาดก ดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

      ในอดีตกาล ณ ชายป่าใกล้กรุงราชคฤห์ มีกวางฝูงใหญ่ฝูงหนึ่งอาศัยหากินอยู่ ด้วยความผาสุกตลอดมา

      วันหนึ่ง น้องสาวของพญากวางนำลูกน้อยของตนมาฝากให้พญากวางช่วยสอนวิชา มฤคมายา อันเป็นวิชาที่ว่าด้วยการแสดงมายาเพื่อรักษาตัวรอดของกวาง ลูกกวางน้อยก็ตั้งใจเรียน ตั้งใจฝึกฝนเป็นอย่างดี แม้ลำบากอย่างไรก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยท้อ เป็นผู้ตรงต่อเวลา ขยันขันแข็ง อดทน พญากวางจึงเมตตา ถ่ายทอดวิชามฤคมายาให้จนหมดสิ้น

      อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ลูกกวางน้อยกำลังออกหากินกับเพื่อนๆ อยู่นั้น บังเอิญไปติดบ่วงของนายพรานเข้า เชือกบ่วงคล้องคอไว้พอดี แต่ลูกกวางน้อยก็มีสติ มิได้เสียขวัญแต่อย่างใด กลับบอกให้เพื่อนๆ รีบหนีไปเสีย

      บรรดาเพื่อนๆ จึงรีบกลับไปแจ้งข่าวร้ายนี้แก่นางกวางผู้เป็นแม่ของลูกกวางน้อยทันที นางกวางตกใจมาก รีบวิ่งไปหาพญากวาง ละล่ำละลักว่า

      “ พี่จ๋าๆ ลูกของฉันติดบ่วงนายพรานเสียแล้ว พี่สอนวิชาให้หลานจบหรือยัง ?”

      พญากวางจึงปลอบนางกวางน้องสาวให้คลายวิตก แล้วกล่าวว่า

      “ ฉันสอนหลานชายผู้มีเท้าแปดกีบให้รู้จักการนอนทั้ง ๓ ท่า สอนเล่ห์กลมารยาหลายอย่าง ให้ลงดื่มน้ำหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ดูก่อนน้องหญิง หลานชายของฉันได้ฝึกฝนวิชาจนชำนาญ สามารถกลั้นลมหายใจได้ โดยหายใจด้วยรูจมูกข้างที่แนบติดกับพื้นดิน ทำเล่ห์กลลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ ประการได้ ”

      ฝ่ายลูกกวางน้อย เมื่อติดบ่วงแล้วก็สำรวมสติมั่น นึกทบทวนวิชาที่ได้ร่ำเรียนมาจากพญามารผู้เป็นลุง แล้วทำมารยา ๖ ประการ กล่าวคือ

      แสร้งตะกุยดินให้เป็นฝุ่นอยู่ข้างหน้า แล้วเตะฝุ่นให้ฟุ้งกระจายดูราวกับว่าได้ตะกุยจนเต็มแรงแล้ว จากนั้นก็ล้มตัวลงนอนตะแคงเหยียดเท้าทั้งสี่ออกไปด้านข้าง เกร็งตัวแข็งทื่อเหมือนกับว่าตายมานานแล้ว และเพื่อให้แนบเนียนยิ่งขึ้น ก็ทำตาเหลือก หัวตก ลิ้นห้อย ปล่อยให้น้ำลายไหลเปื้อนตัว แล้วเบ่งท้องให้พอง ราวกับว่าตายมานานจนลำตัวพองขึ้นอืดแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ยังแกล้งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะให้เรี่ยราดละเทอะ ราวกับควบคุมกล้ามเนื้อทวารหนักและทวารเบาไม่ได้ เมื่อทำดังนี้แล้ว ก็กลั้นลมหายใจไว้ โดยหายใจเพียงแผ่วๆ ด้วยรูจมูกข้างที่แนบติดกับพื้นดินเพียงข้างเดียว เพื่อไม่ให้ท้องกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง

      สักพักหนึ่ง ฝูงแมลงวันก็พากันมาตอมอุจจาระปัสสาวะ ฝูงกาก็บินมาเกาะกิ่งไม้คอยทีอยู่ เมื่อนายพรานมาถึง เห็นลูกกวางนอนตัวพองขึ้นอืดอยู่ ก็เอานิ้วดีดท้องลูกกวาง ได้ยินเสียงดัง ปุ ปุ จึงหลงเข้าใจว่าลูกกวางน้อยตายจนขึ้นอืดแล้ว จึงรีบถอดบ่วงออกจากคอ ตั้งใจจะชำแหละเนื้อในที่นั้น ทันทีที่บ่วงหลุด ลูกกวางน้อยก็กระโจนหนีไปด้วยความเร็วราวกับลมพัด กลับไปหามารดาและพญากวางผู้เป็นลุงทันที

 

ประชุมชาดก

      เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกจบแล้ว ทรงแสดงอริยสัจ ๔ โดยอเนกปริยายให้ลุ่มลึกยิ่งขึ้นไปตามลำดับ พระภิกษุจำนวนมาก ได้ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา บ้างก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ตามแต่กำลังบารมีที่สั่งสมอบรมมา


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

ลูกกวางน้อย ได้มาเป็นสามเณรราหุล

แม่กวาง ได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี

พญากวาง ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

      ๑ . ปกติคนเราถ้าไม่ได้ฝึกสติมาดีแล้ว เมื่อนอนหลับ มักจะมีอาการต่างๆ เช่น กัดฟัน ละเมอ วางมือวางเท้าไม่เรียบร้อย ผมเผ้ารุ่งรัง นอนกรน น้ำลายไหล เป็นต้น ภาพเหล่านี้ย่อมไม่น่าดู และเป็นที่รังเกียจแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น บางครั้งหากมีความจำเป็นต้องนอนในที่เดียวกับคนอื่น เช่น ในโอกาสไปพักแรมต่างจังหวัด หรือไปค้างคืนบ้านเพื่อนฝูง จึงควรระมัดระวังให้เรียบร้อย ตั้งแต่ผมเผ้าไปจนถึงเสื้อผ้า และท่านอน

      ๒ . เมื่อเราได้ร่ำเรียนวิชาจากครูบาอาจารย์แล้ว ควรหมั่นจดจำไว้ อย่าละเลย หลงลืม หมั่นพิจารณาอยู่เสมอ จึงจะมีความรู้แตกฉาน นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต หรือแม้กระทั่งรักษาชีวิตของตนได้ ดังคำของกวีสุนทรภู่ ที่กล่าวว่า

“ รู้สิ่งใดที่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ”

การรักษาตัวรอดในความหายของนักปราชญ์หรือบัณฑิตนั้น หมายถึง รอดพ้นจากภัยพาล หรือความชั่วร้ายทั้งหลาย มิใช่ในความหมายของการหนีเอาตัวรอดแล้วทิ้งให้ผู้อื่นลำบาก ซึ่งเป็นวิสัยของผู้มีจิตใจคับแคบ

      ๓ . ศิษย์เมื่อมีความศรัทธา มีความเคารพในครูบาอาจารย์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว จะมีความเคารพในคำสั่งสอนของท่าน และปฏิบัติตามคำสั่งสอนโดยไม่โต้แย้งหรือบิดพลิ้ว ทำให้ครูบาอาจารย์มีความเมตตา เอ็นดู ปรารถนาจะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

 

นิทานชาดก ติปัลลัตถมิคชาดก ชาดกแสดงคุณของความว่านอนสอนง่าย

ข้อคิดจากชาดก
ติปัลลัตถมิคชาดก
ชาดกแสดงคุณของความว่านอนสอนง่าย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019957117239634 Mins