ทุมเมธชาดก ชาดกว่าด้วยการใช้อำนาจให้เป็นประโยชน์

วันที่ 15 พย. พ.ศ.2565

ID2549_651115.jpg

 

ข้อคิดจากชาดก

ทุมเมธชาดก

ชาดกว่าด้วยการใช้อำนาจให้เป็นประโยชน์


สถานที่ตรัสชาดก

เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
 

สาเหตุที่ตรัสชาดก

          นับตั้งแต่วันตรัสรู้เป็นต้นมา พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระศาสนา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปโปรดสัตว์ โดยไม่เลือกฐานะ หนทางทุรกันดารเพียงใด พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้นี้ ทำให้ชาวโลกมีโอกาสได้ดื่มรสพระธรรมคำสั่งสอน ได้พบความสุขอันแท้จริงโดยทั่วหน้า

          ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พุทธบริษัทกำลังประชุมสรรเสริญพระพุทธคุณ พระพุทธองค์ก็ทรงปรารภถึงการบำเพ็ญประโยชน์ของพระองค์ สมัยเมื่อครั้งยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อให้เขาเหล่านั้นเกิดกำลังใจที่จะประพฤติธรรมตามพระองค์

          แล้วทรงตรัสเล่า ทุมเมธชาดก มีเนื้อความว่า

 

เนื้อหาชาดก

          ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี ปกครองโดยพระเจ้าพรหมทัต ทรงตั้งอยู่ในทศพิราชธรรม ปกครองบ้านเมืองสงบร่มเย็น พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า พรหมทัต

          พระราชกุมารพรหมทัต ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาก เมื่อเจริญพระชันษาได้เพียง ๑๖ พรรษา ก็ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ชั้นสูงสำเร็จหมดทั้ง ๑๘ แขนง และทรงเจนจบ ไตรเพท

          เมื่อทรงได้พระราชทานตำแหน่งมหาอุปราช ทรงเสด็จตระเวนเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎร์อยู่เสมอ ทรงพบว่ายังมีราษฎร์ชาวเมืองพาราณสีส่วนใหญ่มีความเห็นผิด ชอบบนบานสิ่งที่ตนคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยดลบันดาลความสำเร็จโดยไม่คิดทำมาหากิน ใช้เรี่ยวแรงความพยายามและสติปัญญาช่วยเหลือตนเอง

          ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งกลายเป็นคนไร้เหตุผล จะทำการงานก็ต้องเสียเวลารอฤกษ์ยามจนเสียงาน ที่สำคัญคือ กลายเป็นคนเกียจคร้านและตื่นข่าวง่าย และมักนิยมฆ่าสัตว์เพื่อบวงสรวงเซ่นไหว้กันเป็นส่วนมาก ดังนั้นพระองค์ทรงตั้งพระปณิธานว่า เมื่อขึ้นครองราช จะไม่ยอมให้มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสังเวยผีสางเทวดาเป็นอันขาด

          วันหนึ่งทรงเห็นคนจำนวนมาก ถือเครื่องเซ่นบวงสรวงไปที่ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งเพื่อบวงสรวง บนบานเทวดา พระองค์ก็คิดอุบายออก จึงได้เสด็จไปที่ต้นไทรใหญ่นั้น ทรงแสร้งทำเป็นบนบานต่อเทยพดาด้วยอาการนบนอบ และพระองค์ก็เสด็จไปที่ต้นไทรนั้นเสมอๆ ประชาชนทั้งหลาย เห็นอย่างนั้นก็พากันชื่นชมยกย่อง

          เมื่อพระเจ้าพรมหทัตพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระมหาอุปราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อทรงจัดการภาระกิจบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ทรงระลึกถึงปณิธานที่ตั้งไว้ พระองค์ทรงเรียกประชุมเสนอำมาตย์ และประชาชนคนสำคัญในเมือง ทรงตรัสว่า “เราบนต่อเทวดาไว้ว่า เมื่อได้ครองราชสมบัติ เราจะฆ่าคนที่ประพฤติผิดศีลห้า โดยเฉพาะคนที่ฆ่าสัตว์ เพื่อบวงสรวงสังเวยเป็นการแก้บน จำนวนหนึ่งพันคน” แล้วทรงสั่งให้ประกาศให้ประชาชนทราบทั่วกัน

          ประชาชนทั้งแผ่นดินได้ยินประกาศไม่กล้ากระทำผิดศีลห้า โดยเฉพาะการฆ่าสัตว์ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ดังนั้น ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นี้ บ้างเมืองจึงร่มเย็น เมื่อทุกคนเลิกงมงาย ก็มีแก่ใจคิดทำมาหากิน บ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรือง อยู่ในศีลในธรรม พอใจทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จนสิ้นอายุของแต่ละคน

 

ประชุมชาดก

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ก็ทรงประชุมชาดกว่า

ประชาชนในแผ่นดินสมัยนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้

พระเจ้าพรหมทัต ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

          ๑. บางครั้งเพื่อความสำเร็จของงาน เราจำเป็นต้องใช้นโยบายโอนอ่อนผ่อนตามในการปกครองไปสักระยะหนึ่งก่อน แต่ต้องตีวงจำกัดให้ดีว่า จะโอนอ่อนผ่อนตามในกรณีใดบ้าง และในช่วงระยะเวลายาวนานแค่ไหน ถ้าเป็นการปกครองบ้านเมือง ก็อาจใช้หลักที่ว่า “การทูตนำหน้า การทหารตามหลัง” อย่างไรก็ตาม ต้องระวังอย่าให้ โอนอ่อน กลายเป็นอ่อนแอ

          แต่ก่อนจะดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม ผู้นำเองจะต้องฝึกหัดอบรมตนเองให้เป็นคนดี มีสัมมาทิฐิ มีความประพฤติดีงามเป็นที่รักที่เชื่อใจ และเกรงใจของประชาชนโดยส่วนรวมเสียก่อน เมื่อประชาชนไว้ใจให้สนับสนุนแล้ว จึงจะทำงานได้ผล

          ๒. เมื่อมีอำนาจแล้ว ต้องใช้อำนาจไปในทางสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ถ้าใครมีอำนาจแล้วไม่ใช้ หรือใช้ไม่เป็นจะยิ่งทำให้บ้านเมืองสับสนวุ่นวายไปหมด

 

 

นิทานชาดก  ทุมเมธชาดก   ชาดกว่าด้วยการใช้อำนาจให้เป็นประโยชน์

 

นิทานชาดก
ทุมเมธชาดก
ชาดกว่าด้วยการใช้อำนาจให้เป็นประโยชน์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.044712102413177 Mins