มหาบูรพสูรย์

วันที่ 21 พย. พ.ศ.2547

 

 

เชอเกียม ตรุงปะ, ดอร์เจ ดราดุล แห่งมุกโป

 

.....ปรีชาญาณแห่งชัมบาลา ผลงานต่อเนื่องจากชัมบาลา : หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ ผู้บุกเบิกในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่โลกตะวันตก และหนึ่งในการุณยกิจดังกล่าว ก็คือการแปลและการนำเสนอพุทธศาสนาภายใต้บริบทซึ่งชาวตะวันตกอาจเข้าใจได้ เห็นได้ว่าคือการนำเสนอวัฒนธรรมนักรบแห่งชัมบาลา

จากการได้เติบโตขึ้นมาภายใต้การอบรมสั่งสอนของท่านเชอเกียมตรุงปะ รินโปเช ได้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางพุทธศาสนา ดังที่ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในเนื้อหาว่า คือการเข้าใจถึงปรีชาญาณแห่งชัมบาลาก็คือการเข้าใจในศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มีหลักการและแนวทางปฏิบัติอยู่หลายประการในชัมบาลา ทว่าแก่นแท้แห่งคำสอนก็เป็นเพียงแค่การจะเป็นมนุษย์ที่ดีงามได้อย่างไร จะมีชีวิตอยู่อย่างกลมกลืนได้อย่างไร

ปรีชาญาณแห่งชัมบาลาได้สั่งสมสืบทอดกันมานานหลายศตวรรษ แสดงให้เห็นถึงหนทางหรือมรรคาแห่งชีวิต และชี้ให้เห็นว่าโลกดำเนินไปเยี่ยงไร เราไม่จำเป็นจะต้องแสวงหาอย่างไม่สิ้นสุดหรือคิดค้นสูตรของตนเองสำหรับความหมายของชีวิต ภาระหน้าที่ ความเบิกบาน และความรักในชีวิตจะหลอมรวมเข้าด้วยกัน เมื่อเราสามารถสัมผัสได้ถึงพลังประการนั้น และเข้าใจได้ว่ามันเป็นศักดิ์ศรีของมนุษยชาติ นี่หาใช่พลังอำนาจจากเบื้องบนหรือทิพยอำนาจไม่ หากเราใช้ชีวิตอย่างตระหนักซึ่งถึงคุณค่าของทั้งสิ่งสามัญและสิ่งพิเศษสุด โดยถือว่ามันเท่าเทียมกันโดยปราศจากความลำเอียง ด้วยความอ่อนโยนมีเมตตา เราจะค้นพบว่าการเป็นมนุษย์นั้นคือสิ่งใด และการเป็นนักรบชัมบาลาคือสิ่งใด

เนื้อหาใน มหาบูรพสูรย์ แบ่งออกเป็นกถามุข และเนื้อความห้าตอน อันได้แก่ “ ล้ำลึก ” “ เจิดจ้า ” “ ยุติธรรม ” “ ทรงพลัง ” และ “ มีชัย ” เนื้อความทั้งห้าตอนนั้นตอบรับกับคุณลักษณ์ห้าประการ หมายแสดงถึงพลังพื้นฐานซึ่งเป็นตัวกำหนด และแทรกซึมอยู่ในชีวิตมนุษย์และกิจกรรมทั้งมวล

ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะจัดวางเนื้อความอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านจากหน้าไปหลัง สาระต่าง ๆ ในบทต้น ๆ ค่อนข้างจะเป็นเหตุเป็นผล ทว่าในบทท้าย ๆ นั้นออกจะเป็นบรรยากาศหรือเป็นอารมณ์ขันเสียมากกว่า เนื้อหาสองตอนสุดท้ายในหนังสือ คือ “ ทรงพลัง ” และ “ มีชัย ” ถูกนำเสนอในรูปของการบรรยายต่อเนื่องซึ่งผู้อ่านอาจเข้าร่วมอาจถือเป็นส่วนของสมาธิภาวนา ซึ่งท่านอาจลองอ่านและดูว่าแนวทางเหล่านั้นเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่

ในการนำเสนอหลักการชัมบาลาแด่โลกตะวันตก เชอเกียม ตรุงปะ ได้ร่างเค้าโครงของดินแดนใหม่ขึ้นมา และท่านยังใช้นามใหม่ว่า ดอร์เจ ดราดุล แห่งมุกโป ท่านได้ใช้นามนี้ในคำนำ ชัมบาลา หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ มุกโปคือชื่อตระกูลของท่าน ส่วนดอร์เจ ดราดุล แปลว่า “ นักรบแห่งวัชระ หรือนักรบที่ไม่อาจสยบ ”

สำหรับผู้เพิ่งเริ่มปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติ ย่อมจะพบว่าหนังสือเล่มนี้อาจเข้าใจได้ไม่ยาก ทั้งยังหวังว่าจะเป็นที่สนใจของผู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติมาอย่างช่ำชองแล้ว คงมีผู้อ่านไม่น้อยที่พอใจเพียงแค่สิ่งที่ได้รับจากการอ่าน และคงมีอยู่บ้างที่พบว่าการได้นั่งปฏิบัติเป็นวินัยที่ตนอยากจะยึดถือสืบไป ด้วยมีอาจารย์ทางสายภาวนาหลายท่าน และมีศูนย์ปฏิบัติไม่น้อยที่จัดอบรมการฝึกสติและการปฏิบัติสมาธิตามแนวทางพุทธศาสนา จากบท “ ค้นหารากฐานแห่งความดีงาม ” มาแล้ว

จากปัจฉิมกถา ที่หวังว่าผู้คนจะอ่านหนังสือเล่มนี้หลาย ๆ เที่ยวเพื่อที่เนื้อหาสาระของมันจะได้ซึมซาบเข้าสู่ภายใน หวังว่าความหมายของมันจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต พลังอำนาจของชัมบาลามิใช่การ “ เกิดความคิดใหม่ ” หรือเพียงแค่เหลือบมองเราก็อาจเข้าใจทุกสิ่ง หากแต่เราจะเริ่มตระหนักได้ว่าคำสอนอันเรียบง่ายนี้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ

โดยตัวของมันเองแล้ว ญาณทัศนะชัมบาลามิใช่สิ่งที่สลับซับซ้อนหรือยากเข็ญ บ่อยครั้งที่เราแลเห็นและพูดว่า “ อ้อ อย่างนี้นี่เอง ฉันก็รู้อยู่แล้ว ” มันคล้าย ๆ กับบางสิ่งที่เราคุ้นเคยยิ่ง การท้าทายที่แท้จริงก็คือการยอมให้หลักการเหล่านี้ชำแรกเข้ามาในตัวตนของเรา โดยไม่ปล่อยให้ความหยิ่งยโสและความหดหู่ซึมเศร้ามากลืนกินเรา นักรบชัมบาลารู้ดีว่าชีวิตอาจเป็นสิ่งที่เรียบง่ายยิ่ง ทว่าคำสอนอันตรงไปตรงมาเยี่ยงนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างล้ำลึก มันมิใช่ทฤษฎีทางธรรม หากเป็นตัวการปฏิบัติเพื่อจะช่วยให้ผู้คนเลี้ยงดูบุตรหลานสร้างสรรค์งานศิลป์ ยิ่งกาลเวลาผ่านไป ธาตุแห่งความเป็นจริงของคำสอนเหล่านี้ก็ยิ่งทรงพลังขึ้นทุกขณะ มีผู้พยายามดำเนินชีวิตตามแนวทางนี้ มักจะกล่าวถึงว่าเป็นการสรรค์สร้างสังคมอริยะ

ค้นหารายละเอียดจากเนื้อหา ได้ตามร้านจำหน่ายหนังสือชั้นนำทั่วไป ในขณะนี้




 

สุ. พูนพิพัฒน์.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022748831907908 Mins