มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องบน (ตอน ๔)

วันที่ 08 ธค. พ.ศ.2547


 

 

.....๓) มีพฤติกรรมชั่วร้าย ผู้คนมิจฉาทิฏฐิ นอกจากแสดงพฤติกรรมชั่วร้ายทางวาจาแล้ว ยังจะแสดงพฤติกรรมชั่วร้ายออกมาทางกายอีกด้วย ทุกวันนี้พฤติกรรมชั่วร้ายของผู้คนมิจฉาทิฏฐิ ปรากฏเป็นข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และทุกหนทุกแห่งในบ้านเมืองของเรา เช่น

- แม่ฆ่าลูก สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี นักศึกษาฆ่าตัวตาย

- ผู้ร้ายปล้นแท็กซี่ วัยรุ่นเป็นตีนแมว สิบแปดมงกุฎแหกตาเศรษฐีนี ข้าราชการคอรัปชั่น

- พ่อข่มขืนลูกสาวในไส้ ครูข่มขื่นลูกศิษย์ชั้นประถม เฒ่าหัวงูซื้อบริการทางเพศเด็กหญิง เด็กหญิงขายบริการทางเพศเพื่อหาเงินมาซื้อมือถือ

- ขี้เมาขับรถชนเสาไฟฟ้าดับคาที่ หนุ่มเสพยาบ้าจี้สาวเป็นตัวประกัน คนงานเสพยาม้าแล้วพยายามโดดระเบียงตึกชั้น ๘

จากข่าวตัวอย่างข่าวร้ายที่ยกมานี้ ขาดหิริโอตตัปปะ ขาดปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบข้าง หรือขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ ของตนนั่นเอง เพราะจิตใจถูกครอบงำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ

ข. คฤหัสถ์ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ก็เพราะไม่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัว อีกทั้งเห็นแก่ตัวยิ่งกว่าส่วนรวม ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัย และแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) ขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คนมิจฉาทิฏฐิเป็นคนมีปัญญาน้อย เห็นแก่ตัว และใจแคบ ดังนั้นเมื่อกระทำสิ่งใด ก็จะคิดถึงเฉพาะประโยชน์ระยะสั้น ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนก่อนส่วนรวม จึงไม่ใคร่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เป็นผู้ที่ทำงานโดยไม่มีการวางแผนระยะยาวนั่นเอง

๒) ชอบแก้ตัว คนมิจฉาทิฏฐิไม่ว่าจะทำงานเล็กหรือใหญ่ ก็มักจะทำอย่างมักง่าย ครั้นเมื่อเกิดผลเสียหายขึ้น ก็พยายามหาเหตุผลมาแก้ตัวบ้าง ซัดทอดความผิดไปให้ผู้อื่นบ้าง โอดครวญว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง หรือเมื่อจนด้วยพยานหลักฐาน ก็จะหาทางพูดกลบเกลื่อนเพื่อเอาตัวรอด

ดังกรณีชาวบ้านที่ชอบทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลองเป็นประจำ เมื่อถูกทักท้วงตักเตือน ก็จะแก้ตัวว่าสิ่งปฏิกูลจากบ้านของตนเพียงเล็กน้อย ย่อมไม่ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองถึงกับเน่าเสียได้ สิ่งปฏิกูลที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างหาก ที่ทำให้น้ำเน่าเสีย เพราะฉะนั้นแทนที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเข้มงวดกวดขันกับพวกตน ก็ควรจะไปเข้มงวดกับโรงงานต่างๆ ไม่ให้ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ

แท้ที่จริง แม้แต่ละบ้านจะทิ้งสิ่งปฏิกูลเพียงเล็กน้อย แต่จำนวนบ้านที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลนั้นมีอยู่มากมาย เมื่อรวมกันแล้ว สิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือย่อมจะมากกว่าโรงงานอุตสาหกรรมเสียอีก การที่ชาวบ้านเหล่านั้นออกมาตอบโต้ ก็ล้วนเป็นการแก้ตัวให้พ้นผิดเท่านั้น

อนึ่ง รัฐยังมีกฎหมายบังคับโรงงานอุตสาหกรรม ให้บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งลงไปในแม่น้ำลำคลอง แต่ก็มีเจ้าของโรงงานที่เห็นแก่ตัวบางแห่ง ต้องการประหยัดงบประมาณสำหรับบำบัดสิ่งปฏิกูล จึงแอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง โดยยังมิได้ผ่านกระบวนการบำบัด ครั้นเมื่อถูกจับได้ไล่ทัน ก็มักจะแก้ตัวกับสังคม โดยออกข่าวโพนทะนาว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ จะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมของคนมิจฉาทิฏฐิที่พยายามแก้ตัวเมื่อทำผิด เพื่อเอาตัวรอด โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

๓) ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคนมิจฉาทิฏฐิเป็นคนมักง่ายเห็นแก่ตัว ขาดหิริโอตตัปปะ ขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จึงมีพฤติกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นนิจ ผลเสียอันเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายนั้น กว่าจะเห็นได้ชัดเจนย่อมกินเวลานาน ครั้นเมื่อผลเสียปรากฏขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะเยียวยาแก้ไข

ต่อไปคือตัวอย่างผลเสียอันเกิดจากการที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายที่ปรากฏชัดเจนในประเทศไทย ขณะนี้

- น้ำในคูคลองน้อยใหญ่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น

- ตลาดสดต่างๆ ทั้งในเมืองใหญ่และเมืองเล็ก สกปรกรุงรัง ท่อระบายน้ำอุดตัน ส่งกลิ่นเน่าเหม็น

- หมู่บ้านจัดสรรเกรดต่ำ เมื่อเริ่มเปิดโครงการ ต่างมีผังเมืองเป็นระเบียบ มีทัศนียภาพสวยงาม ครั้นเมื่อมีอายุเลย ๕ ปีขึ้นไปแล้ว จะมีสภาพคล้ายสลัม เพราะมีการต่อเติมอาคารอย่างไม่เป็นระเบียบ สกปรกรกรุงรัง มีกลิ่นขยะและน้ำเน่าเหม็น

- อากาในเมืองเต็มไปด้วยมลพิษ จากคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ในยวดยานพาหนะต่างๆ เนื่องจากไม่เอาใจใส่ต่อระบบการจัดการที่ดี

- การใช้น้ำบาดาลที่ขาดการควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขัน และถูกหลักวิชา ทำให้ผืนแผ่นดินในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทรุดต่ำลงทุกปี

- ผืนแผ่นดินในป่าพังทลาย ไม่สามารถรับน้ำฝนที่ตกหนักได้ เนื่องจากไม่มีรากไม้ยึดดินไว้ เพราะต้นไม้ใหญ่ในป่าถูกโค่นทำลายไปหมดแล้ว

- อุณหภูมิทั่วประเทศ(และทั่วโลก) ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะป่าไม้ถูกทำลาย

 

สรุปปัญหาในทิศเบื้องบน

ปัญหาในทิศนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ปัญหาที่สังคมเห็นชัดเจน คือ ประชาชนเสื่อมศีลธรรมเพราะไม่รู้ธรรมะ แล้วกล่าวโทษว่า เพราะพระภิกษุไม่น่านับถือ ตนจึงไม่ศรัทธาพระศาสนา ไม่ทำนุบำรุงพระศาสนา คนบางกลุ่มยังพยายามทำลายสถาบันพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ อย่างเปิดเผย

๒. ปัญหาที่สังคมเห็นไม่ชัดเจน ได้แก่ พระภิกษุไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ สำหรับเรื่องนี้ต้องพิจารณากันด้วยโยนิโสมนสิการ ซึ่งอาจแบ่งออกได้หลายประเด็น คือ

๑) พระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย มีภูมิธรรมสูง แต่ไม่สามารถจะถ่ายทอดพระธรรมอันประเสริฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เพราะ

- ญาติโยมไม่ต้องการ สิ่งที่ญาติโยมต้องการ คือ พรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากพระภิกษุ เช่น น้ำมนต์ พระเครื่อง เครื่องราง ของขลัง

- ญาติโยมไม่รู้คุณของพระธรรมอันประเสริฐ เพราะคิดว่าการมีวุฒิการศึกษาทางโลกสูงๆ ทำให้สามารถหาเงินได้มากๆ นั้นประเสริฐกว่าความรู้ทางธรรม ความคิดเช่นนี้เป็นอวิชชาโดยแท้ ฯลฯ

๒) พระภิกษุส่วนหนึ่งไม่มีโอกาสศึกษาทางโลกในระดับสูงๆ จึงเข้ามาบวช แล้วตั้งหน้าศึกษาพระคัมภีร์ด้วยความวิริยอุตสาหะ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตร เพื่อจะสึกออกไปเอาดีทางโลก จึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบตามที่กำหนดไว้เป็นอริยวินัยในทิศเบื้องบน

๓) พระภิกษุส่วนหนึ่งเป็นคฤหัสถ์ที่มีปัญหาหรือด้อยคุณภาพ เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็ยากแก่การพัฒนา กาย วาจา ใจ ตามอุดมการณ์และหลักการในพระพุทธศาสนา จึงเป็นพระภิกษุที่หย่อนคุณภาพ และมักจะสร้างปัญหาที่ทำให้ญาติโยมเสื่อมศรัทธา ฯลฯ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0091301004091899 Mins