สถานที่ตรัสชาดก
เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ในสมัยพุทธกาล นับแต่พระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงเสด็จจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังที่ต่างๆ พร้อมด้วยพระอรหันตสาวก ยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่มหาชน ก่อเกิดพุทธบริษัทเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันพระเทวทัตผู้มีจิตใจริษยาพระพุทธองค์ฝักลึกมาอย่างช้านาน ได้พยายามทำลายความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระพุทธองค์ในทุกวิถีทาง เมื่อใดที่พระสงฆ์สาวกได้ทราบข่าวพระเทวทัตวางแผนร้าย ต่างวิตกก็กังวลยิ่งนัก ขออาสาปกป้องพระพุทธองค์ด้วยตนเอง
พระบรมศาสดาทรงปลอบโยนเหล่าพระสงฆ์สาวกให้คลายวิตกกังวลอยู่เสมอๆ และไม่ทรงอนุญาตให้ขัดขวางการทำของพระเทวทัต แต่พระสงฆ์สาวกที่มีความห่วงใยต่างก็สนทนากันในเรื่องนี้อีกในธรรมสภา พระบรมศาสดาเสด็จผ่านมาได้ยินเข้า จึงทรงปลอบโยนให้คลายความวิตกกังวล เสด็จไปประทับ ณ พุทธอาสน์ ท่ามกลางสงฆ์ทั้งหลาย ทรงระลึกชาติแต่หนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณแล้วตรัสว่า วานรินทชาดก ดังนี้
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้น มีวานรโทนตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ใกล้แม่น้ำ เมื่อเจริญวัยวานรก็มีร่างกายใหญ่โต มีกำลังมาก อาศัยความเฉลียวฉลาด ว่องไวท่องเที่ยวหากินอยู่ตามลำพังในแถบชายน้ำ แม่น้ำนี้กว้างใหญ่มาก มีเกาะกลางน้ำอยู่เกาะหนึ่งอุดมด้วยผลไม้นานาชนิด ซึ่งมีเพียงพญาวานรตัวนี้ที่สามารถข้ามไปได้ พญาวานรใช้ความฉลาดช่างสักเกตเลือกโขดหินแผ่นราบโขดหนึ่ง ซึ่งโผล่อยู่กลางลำน้ำระหว่างเกาะ ใช้เป็นที่พักเท้ากระโจนข้ามไปเกาะกลางน้ำเพื่อหาผลไม้เป็นประจำ
ครั้งนั้นที่แม่น้ำมีจระเข้ ๒ ตัวผัวเมีย อาศัยหากินอยู่ใกล้ๆ เกาะ นางจระเข้เกิดแพ้ท้องอยากกินไปสารพัด วันหนึ่งนางเห็นพญาวานรกระโจนข้ามแม่น้ำไปหากินที่เกาะ บุพกรรมในชาติปางก่อนได้ชักนำให้นางอยากกินหัวใจวานรขึ้นมาทันที เฝ้ารบเร้าอ้อนวอนสามี จนจระเข้สามีทั้งรำคาญ ทั้งสงสาร จึงรับปากว่าจะนำมาให้ แล้วพญาจระเข้ก็คิดอุบายจับพญาวานร
ในตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น พญาจระเข้ก็แอบคลานขึ้นไปนอนหมอบนิ่งอยู่บนแผ่นหิน ซึ่งพญาวานรใช้เป็นที่พักเท้ากระโดด รอเหยื่อกลับมาตอนเย็น
พอตกเย็นพญาวานรก็มุ่งหน้ากลับที่อยู่ของตน แต่ได้สังเกตเห็นแผ่นหินผิดไปจากเดิม จึงวางอุบายแกล้งตะโกนเรียกแผ่นหิน พญาจระเข้ได้ยินก็เกิดลังเลใจไม่คิดว่าก้อนหินพูดได้ พญาวานจึงแสร้งพูดตัดพ้อก้อนหิน เท่านี้พญาจระเข้ก็หลงกลคิดว่าปกติก้อนหินนี้พูดได้ แต่ตนนอนทับอยู่จึงพูดไม่ได้ ก็เลยพยายามดัดเสียงขานรับแทนแผ่นหิน พญาวานรจึงได้รู้ว่าเป็นจระเข้นอนอยู่
พญาจระเข้เมื่อรู้ตัวว่าพลาดท่าก็เจ็บใจยิ่งนัก แต่พญาวานรก็หนีไม่พ้นเพราะต้องอาศัยแผ่นหินนี้เป็นทางกลับ พญาวานรจึงวางอุบายเอาตัวรอด โดยแสร้งพูดทำท่าทีปลงตก แล้วบอกให้พญาจระเข้อ้าปากรอ ตนจะโดดเข้าไปหา จระเข้หลงเชื่อจึงอ้าปากคอยอยู่ ลืมนึกถึงธรรมชาติของตัวเองว่าเมื่ออ้าปากตาก็จะปิดสนิท ทันทีที่อ้าปากพญาวานรก็รีบเผ่นลิ่วลงเหยียบหัวจระเข้ แล้วถีบตัวข้ามต่อไปยังฝั่งตรงข้ามในชั่วพริบตา
พญาจระเข้รู้สึกถึงแรงกระแทกนั้นก็ตกใจ ลืมตาขึ้นทันทีแต่ก็ช้าไป เพราะพญาวานรอยู่บนฝั่งอีกด้านหนึ่งเสียแล้ว มันเสียใจและอับอายที่หลงกลพญาวานร แต่ก็คิดว่าพญาวานรตัวนี้ มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม คงเป็นผู้ทรงคุณธรรมล้ำเลิศ ดังนั้นความแค้นเคืองที่เสียรู้ และความเสียใจก็พลันหายไปสิ้น แล้วกล่าวสรรเสริญด้วยความจริงใจว่า พญาวานรเป็นผู้มีธรรมะ ๔ ประการคือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ เป็นธรรมะซึ่งผู้ใดมี บุคคลนั้นย่อมพ้นจากศัตรูได้ แล้วพญาจระเข้ก็คลานลงน้ำไปที่อยู่ของตน ฝ่ายพญาวานรครั้นขึ้นฝั่งได้แล้วก็ท่องเที่ยวหากินอยู่เฉพาะป่านั้น ไม่ข้ามไปที่เกาะกลางน้ำอีกจนตลอดอายุขัย
ประชุมชาดก
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง วานรินทชาดก จบแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
พญาจระเข้ ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต
นางจระเข้ ได้มาเป็นางจิญจมาณวิกา
พญาวานร ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑ . สิ่งที่คนเราต้องพยายามฝึกให้ได้คือ ความช่างสังเกตเพราะคนช่างสังเกต มักรู้ถึงความผิดปกติได้โดยง่าย จึงสามารถป้องกันเหตุร้ายได้ทันท่วงทีเสมอ แม้จะตกอยู่ในอันตราย ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้
๒. การนั่งสมาธิให้ได้ผล ต้องฝึกตัวให้มีคุณธรรม ๔ ประการด้วย คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ
นิทานชาดก
วานรินทชาดก
ชาดกว่าด้วยปฏิภาณในการรักษาตัวรอด