มาฆบูชา วันแห่งความรักในทางพระพุทธศาสนา

วันที่ 13 กพ. พ.ศ.2549

 

      ในการให้ความหมายเกี่ยวกับที่ว่า ความ รักเป็นอำนาจอย่างหนึ่งในจิตใจมนุษย์ ที่มีอิทธิพลมากมาย และสามารถก่อให้เกิดอารมณ์อันหลากหลายที่ตรงกันข้ามกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ความยินดี ความซึมเศร้า ความเฉื่อยชาและความกระตือรืนร้น กวีบางคนบอกว่า ความรักทำให้โลกหมุน ทำให้คนชั่วกลับกลายเป็นคนดี ความรักบันดาลได้มากมาย ที่สำคัญ ความรักมิได้มีความหมายเพียงความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก อาจารย์กับศิษย์ เพื่อนฝูงต่อเพื่อนฝูง รวมไปถึงความรักที่มนุษย์มีต่อมวลมนุษย์ และสิ่งต่างๆที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันอีกด้วย

และ เพราะ “ ความรัก ” มีความหมายที่กว้างขวาง ไร้ขอบเขตอันจำกัด อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สุขนี่เอง หลายๆคนจึงถือว่า “ วันมาฆบูชา ” อันเป็นวันสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เป็น “ วันแห่งความรัก ” ทั้งนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า “ จาตุรงคสันนิบาต ” ขึ้น และเป็น วัน ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธ ศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

 

เพราะธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนนั้น ล้วนมีความหมาย และความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตที่บวชเรียนเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน และฆราวาสอย่างพวกเราทุกคนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็น อย่างดี ดังนั้น ในโอกาสที่ วันมาฆบูชา เวียนมาบรรจบในวันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ใช้วันนี้ เป็น “ วันแห่งความรัก ” ด้วยการ “ ตามรอยพระพุทธองค์ ” มอบความรัก ความเมตตาต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมโลกทั้งหลาย โดยการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการพูดดี คิดดี ทำดี ไม่คิดร้ายทำลายผู้อื่นทั้งกาย วาจา และใจ เพียงเท่านี้ สังคมทุกแห่งก็จะเกิดสงบสุข และโลกเราก็จะบานสะพรั่งด้วย ความรักสีขาว ที่สะอาด บริสุทธิ์และปลอดพิษภัย

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ : ในวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

ช่วงเช้า :

เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ควรไหว้พระ นั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบหลังจากตื่นนอน และเตรียม ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณรตามความเหมาะสม

ช่วงสาย :

เดินทางไปวัดที่อยู่ใกล้บ้าน หรือวัดที่ท่านให้ความคุ้นเคย สะดวก เพื่อจะทำบุญ และสมาทานรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ บ้าง แล้วแต่ศรัทธา ฟังพระธรรมเทศนา หรือถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรในวัดต่าง ๆ ช่วงบ่าย : ฟังพระธรรมเทศนาในวัดที่จัดให้มีพิธีเทศน์ในตอนกลางวัน หรือไปนั่งสมาธิตาม ความสะดวก เหมาะสม

ช่วงเย็น :

เตรียมตัวเพื่อเวียนเทียนเป็นพุทธบูชา โดยเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน หรือบางวัด มี การจัดเตรียมและบริการไว้ ซึ่งจะเวียนรอบพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


      จากการที่ได้เตรียมกาย วาจา ใจ ให้พร้อมด้วยความสดชื่น สะอาดทั้งกายและจิตใจ ที่ได้รับการชำระแล้ว ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา มาตลอดทั้งวันแล้ว

 

การปฏิบัติในขณะเวียนเทียนนั้น ควรมีความ สำรวมกาย วาจา ทำจิตใจให้สงบ เพื่อเปิดโอกาสให้ใจเป็นประดุจภาชนะรองรับบุญได้อย่างเต็มที่ โดยเมื่อกล่าวคำบูชาตามพระสงฆ์แล้ว ในขณะจุดธูปเทียน และขณะเดินถือ ธูปเทียน ควรระมัดระวัง ในการเดินแต่ละรอบนั้น อาจกล่าวคำสรรเสริญพุทธคุณในการเดินรอบแรก (อิติปิ โส ภควาฯ) กล่าวคำสรรเสริญพระธรรมคุณ (สฺวากขาโต ภควตา ธัมโมฯ) กล่าวคำสรรเสริญพระสังฆคุณ (สุปฏิปันโน ภะคะวะโตฯ) หรือทำจิตให้สงบเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ และสังฆานุสสติ จนครบ

จากที่ หลักธรรมอื่น ๆ ในโอวาทปาติโมกข์ ก็ล้วนสำคัญ ซึ่งในที่นี้ขอสรุปตามคำสอนที่เรียกว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา ๓ ข้อ คือการไม่ทำความชั่ว การทำความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้รู้ว่าคนเรานั้น จะเป็นคนดีตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นผู้ที่ไม่ทำสิ่งชั่วร้าย เสียหายให้แก่ตนและคนอื่น พร้อมที่จะทำความดี ทำประโยชน์แก่สังคมโลก และความดีขั้นสุดท้ายคือสามารถทำใจตนเองให้บริสุทธิ์สะอาดได้ “ด้วยตัวของเราเอง จากการถือปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความอดทน สร้างคนให้ก้าวหน้า ศีล สมาธิ และปัญญา สร้างคนให้เป็นคนดี”
 

ด้วยวันมาฆบูชา วันบังเกิดขึ้นแห่งพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันยังประโยชน์ยิ่งแก่ชาวโลก เป็นวันแห่งความรักในทางพระพุทธศาสนา ที่มวลมนุษย์พึงปฏิบัติดี เพื่อมอบให้กับตนเอง และส่งต่อไปยังเพื่อนร่วมโลกโดยถ้วนหน้า.

 

(อ้างอิง อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม )

ดุสิตา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0075159668922424 Mins