วันมหาสงกรานต์

วันที่ 14 เมย. พ.ศ.2548

 

 

.....ในช่วงเดือนเมษายนถือเป็นพิเศษกันว่า “ มหาสงกรานต์ ” เพราะถือเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ของไทย โดยโบราณถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่ ให้ได้ทำบุญใหญ่ ตามด้วยเล่นสนุกสนานกันต่อ ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ ครอบคลุมการทำบุญตักบาตร การบังสุกุลกระดูกผู้ตาย สรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา รดน้ำและสาดน้ำกัน สืบสานรักษาวัฒนธรรม

สงกรานต์ แปลว่า การเคลื่อนที่ เป็นวันที่พระอาทิตย่างเข้าสู่ราศีเมษ มี ๓ วันด้วยกันคือ ๑ . วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ( วันมหาสงกรานต์ ) ๒ . วันเนา ๓ . วันเถลิงศก อยู่ระหว่างวันที่ ๑๓ ถึง ๑๕ เมษายนแทบทุกปี และตามคติความเชื่อเรื่องประเพณีสงกรานต์ที่มีมาแต่โบราณปรากฏในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนว่า เมื่อครั้งต้นกัป คือโลกที่เจริญมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานเหลือเกิน โลกประลัยครั้นหนึ่งเป็นสิ้นกัปหนึ่ง เชื่อกันว่า จะมีไฟบรรลัยกัลป์มาล้างโลก มีเศรษฐีคนหนึ่ง ไม่มีบุตร ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้สำนักสุราซึ่งมีบุตร ๒ คน มีผิวพรรณเหมือนดั่งทอง แล้ววันหนึ่งนักเลงสุรานั้นได้กล่าวถ้อยคำหยาบคายดูหมิ่นต่อเศรษฐีไปว่า ท่านมีสมบัติมากแต่ไม่มีบุตร เมื่อตายไปสมบัติก็ต้องสูญเปล่า ส่วนเรามีบุตรจึงประเสริฐกว่า สร้างความละอายต่อเศรษฐีมาก จึงไปบวงสรวงต่อพระอาทิตย์พระจันทร์เพื่ออธิษฐานขอมีบุตร ทำอยู่ ๓ ปีก็ยังไม่ได้ผล

อยู่ต่อมาถึงวันสงกรานต์จึงได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของนกทั้งปวง นำข้าวสารล้างน้ำ ๗ ครั้ง หุงข้าวบูชาพระไทรทั้งประโคมพิณพาทย์แล้วอธิษฐานขอบุตรอีก พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ๆ ให้ธรรมบาลเทพบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐีนั้น เมื่อคลอดแล้วจึงมีชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้มีบุญ มีปราสาทถึง ๗ ชั้นอยู่ที่ใกล้ ๆ ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำนั้นเอง ครั้นเจริญวัยก็รู้ภาษานกด้วย เรียนจบไตรเพทเมื่ออายุ ๗ ปี เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง

ซึ่งในยุคนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นผู้บอกมงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ และได้ลงมาถามปัญหาต่อธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อคือ ในเวลาเช้าราศีอยู่ที่ใด เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ใด และเวลาเย็นราศีอยู่ที่ใด หากแก้ปัญหาได้ จะตัดศีรษะของตนบูชา แต่หากตอบปัญหาไม่ได้ จะตัดศีรษะของธรรมบาลเสีย โดยอีก ๗ วันจะมารับคำตอบ

ผ่านไปแล้วถึง ๖ วัน ธรรมบาลก็ยังหาคำตอบไม่ได้ คิดว่าพรุ่งนี้ตนก็จะต้องตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหมเห็นไม่สมควร จะหนีไปซ่อนตัวตายเสียเองดีกว่า จึงลงจากปราสาทไปนอนคิดอยู่ใต้ระหว่างต้นตาล ๒ ต้น ที่ยอดตาลนั้นก็มีนกอินทรีย์คู่หนึ่งทำรังอยู่ ตกค่ำนางนกถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะกินอะไร สามีจึงว่า เราจะกินศพธรรมบาลกุมาร เพราะแก้ปัญหาไม่ได้นั้นเอง นางนกจึงถามว่าแล้วปัญหานั้นมีอย่างไรบ้าง และจะแก้ไขได้อย่างไร สามีจึงบอกไปว่า

“ เวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า เวลาตื่นขึ้นมาตอนเช้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้า

เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมมาประพรมที่อก

เวลาเย็นราศีอยู่ที่เท้า ก่อนที่มนุษย์จะเข้านอนจึงเอาน้ำล้างเท้า ”

ธรรมบาลเมื่อได้ยินจึงจำคำตอบเอาไว้ แล้วกลับไปสู่ปราสาท จนรุ่งเช้าเมื่อท้าวกบิลพรหมลงมาถามปัญหา จึงให้คำตอบแก้ไปตามที่ได้ยินมาจากนกอินทรีย์นั้น

ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ นางให้มาเพื่อจะบอกว่า บิดาจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ซึ่งศีรษะของตนถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้ทั่วโลก ถ้าโยนทิ้งในอากาศฝนจะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงสั่งให้ธิดาทั้ง ๗ เอาพานแว่นฟ้ามารองรับไว้ แล้วตัดศีรษะออกส่งให้นางทุงษะธิดาองค์ใหญ่ นางจึงรับไว้ด้วยพานแว่นฟ้าแล้วทำการแห่ทักษิณาวรรตรอบเขาพระสุเมรุ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในมณฑลถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาศ ทำการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ วิษณุกรรมได้นิรมิตโลงแก้ว ๗ ประการชื่อ ภควดี ให้เป็นที่ชุมนุมแห่งหมู่เทวดาทั้งปวง ก็ได้นำเถาฉมูนาดลงล้างในสระอโนดาดถึง ๗ ครั้ง แล้วแจกแบ่งกันเสวยทุก ๆ พระองค์ ครั้งเมื่อครบกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมติว่าเป็นปีหนึ่ง วันสงกรานต์ นางเทพธิดาทั้ง ๗ นั้นก็ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาอัญเชิญพระเศียรผู้เป็นบิดาออกแห่ทักษิณาวรรต ( การเวียนขวา) รอบเข้าพระสุเมรุทุก ๆ ปี แล้วก็กลับสู่เทวโลก โดยธิดาทั้ง ๗ เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่าง ๆ กัน ซึ่งในปีนี้ วันมหาสงกรานต์ที่ ๑๓ ตรงกันวันพุธ นางสงกรานต์จึงชื่อว่า มัณฑา

วันมหาสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน ถือเป็นวันต้นของปีใหม่ ประชาชนจะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระที่วัดประจำหมู่บ้านของตน ส่วนภาคเหนือเรียก วันสังขารล่อง ถือเป็นวันสิ้นปีเก่า และหลังจากทำบุญแล้ว ก็จะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนกัน เพื่อกำจัดความสกปรกซึ่งถือว่าเป็นความไม่ดีของปีเก่าให้หมดสิ้นไป เพื่อต้อนรับปีใหม่ด้วยความบริสุทธิ์ ถือเป็นมงคล

วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา หรือวันเน่า ภาคเหนือจะพักผ่อนอยู่แต่ในบ้านไม่ไปไหน เป็นแต่หุงต้มอาหาร จัดสำรับคาวหวาน เตรียมไปทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วในวันรุ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องระวังอย่าให้เกิดบาดแผลได้ มิฉะนั้นแผลจะเน่า รักษาหายยาก

วันที่ ๑๕ เรียกว่า วันเถลิงศก เพราะเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่แต่เป็นวัน พระยาวัน ของทางภาคเหนือ ประชาชนจะนำภัตตาหาร และหมากเมี่ยงไปถวายพระที่วัด เรียกว่า ทานขันข้าว คือทำบุญขันข้าว เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับภาคกลางและภาคอื่น ๆ ประชาชนมีการทำบุญตักบาตรตลอดทั้ง ๓ วัน

ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ การทำบุญให้ทานให้ได้บุญหรือได้ผลมากนั้น ในทางพระพุทธศาสนาให้หลักไว้ ได้แก่ ควรให้ของที่สะอาด ประณีต เป็นของสมควร ให้ตามกาล รู้จักเลือกให้ ให้อยู่เนืองนิตย์ ด้วยจิตที่ผ่องใส ให้แล้วก็รู้สึกดีใจ เป็นการให้เพื่อสละแล้ว ให้เข้าถึงความสุขที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน ศาสนาและวัฒนธรรมประจำชาติ มุ่งความผาสุกและความสงบของคนในชาติ วิถีชีวิตที่เรียนรู้สืบทอดกันมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่งดงามให้คงอยู่สืบไป.

 

สุมินต์ตรา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012964169184367 Mins