ไม่รักษาศีลแล้วเกิดโทษอย่างไร

วันที่ 24 มค. พ.ศ.2546


.....ในขณะที่อานิสงส์แห่งศีลนั้น พรั่งพร้อมด้วยความดีมากมาย จนมิอาจบรรยายได้หมดสิ้น ทำนองเดียวกัน โทษทัณฑ์แห่งการผิดศีล ก็ส่งผลทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างได้มากมายเช่นกัน โลกนี้คงไม่มีใครกล้าผิดศีล หากได้รู้ซึ้งถึงหายนะที่จะตามมา เพราะผู้ที่ผิดศีลนั้น ย่อมมิใช่เพียงแค่เบียดเบียนรังแกผู้อื่น หากแต่ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ทำร้ายตนเองอย่างรุนแรงที่สุด

.....เมื่อผิดศีล ความผิดปกติย่อมจะเกิดขึ้นทันที ใจที่เคยใสสะอาด จะเศร้าหมองขุ่นมัว ยิ่งผิดศีลมากเท่าใด ใจจะยิ่งเสื่อมคุณภาพลงไปมากเท่านั้น ทุกข์ภัยทั้งหลายก็จะเข้ามาในชีวิต และติดตามล้างผลาญอย่างไม่ยอมเลิกรา ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ตาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าคนทุศีลนั้น ไม่มีวันรอดพ้นจากความเสื่อมได้เลย พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่เหล่าอุบาสกชาวปาฏลิคาม*

.....เรื่องโทษของคนทุศีล ๕ ประการ คือ

.....๑. ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมเข้าถึงความเสื่อมโภคทรัพย์อย่างมาก อันมีความประมาทเป็นเหตุ

.....๒. กิตติศัพท์ที่ชั่วของผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมกระฉ่อนไป

.....๓. ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าสู่บริษัทใด ๆ คือขัตติยบริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมไม่องอาจ เก้อเขินเข้าไป

.....๔. ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลงใหลทำกาละ

.....๕. ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

.....ทุกข์โทษจากการล่วงละเมิดศีล ล้วนรุนแรงและน่ากลัว ความรู้ในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเตือนใจให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้จากเรื่องราวในอดีต จากประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่เคยผิดพลาดไป จึงเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายไม่ควรมองข้าม

.....โทษแห่งปาณาติบาต

.....การทำลายชีวิตผู้อื่นแม้เพียงครั้งเดียว ผลที่ตามมากลับหนักหนาสาหัสอย่างคาดไม่ถึง จึงเกิดเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจ ของผู้ที่ต้องชดใช้ความผิดด้วยชีวิตของตน

.....มตกภัตตชาดก**

.....ในอดีตกาล สมัยที่พระเจ้าพรหมทัตครองนครพาราณสี มีพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ท่านหนึ่ง คิดจะบวงสรวงดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้แพะเป็นเครื่องสังเวย พราหมณ์จึงได้ให้เหล่าศิษย์ไปจัดหาแพะมาตัวหนึ่ง พวกศิษย์ได้ตกแต่งแพะเสร็จ ก็ปล่อยให้แพะยืนพักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

.....ขณะนั้นแพะได้ระลึกชาติเห็นกรรมเก่าของตน ที่ทำให้ต้องมาทนทุกข์อย่างนี้ และเมื่อรู้ว่าวันนี้ตนจะพ้นจากความทุกข์ จึงเกิดความดีใจ หัวเราะขึ้นมาเสียงดังลั่น แต่เมื่อกลับคิดว่า หากพราหมณ์ฆ่าตน พราหมณ์ย่อมจะต้องได้รับความทุกข์ เช่นที่ตนเคยรับมา คิดแล้วรู้สึกสงสารพราหมณ์นั้น จึงร้องไห้ออกมาด้วยเสียงอันดัง

.....พวกศิษย์ได้เห็นดังนั้น จึงนำแพะกลับไปยังสำนัก พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวให้อาจารย์ฟัง พราหมณ์จึงไตร่ถามแพะ

.....แพะเล่าว่า เมื่อก่อนตนเคยเป็นพราหมณ์ และได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องสังเวย ในการบวงสรวงดวงวิญญาณ เพราะเหตุนั้นทำให้ต้องถูกตัดศีรษะมาแล้ว ๔๙๙ ชาติ และชาติที่ ๕๐๐ นี้จะเป็นชาติสุดท้าย ตนเกิดความดีใจที่จะพ้นทุกข์จึงได้หัวเราะ แต่ที่ร้องให้เพราะสงสารพราหมณ์ เพราะถ้าพราหมณ์ฆ่าตน ก็จะต้องทนทุกข์ถูกตัดศีรษะ ๕๐๐ ชาติเหมือนตน
เมื่อพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงได้ปล่อยแพะ แต่แพะบอกว่าตนต้องตายในวันนี้ พราหมณ์และเหล่าศิษย์จึงอาสาติดตามคุ้มครอง แพะได้เดินตรงไปยังต้นไม้ซึ่งขึ้นอยู่ที่หลังแผ่นหินแห่งหนึ่ง ขณะที่แพะกำลังชะเง้อเพื่อจะกินใบไม้ ทันใดนั้นเอง ฟ้าก็ผ่าลงที่หลังแผ่นหินนั้น สะเก็ดหินชิ้นหนึ่ง ได้กระเด็นมาตัดคอแพะจนศีรษะขาด

.....การตายของแพะ ได้ทำให้ผู้คนทั้งหลาย มาประชุมกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระโพธิสัตว์ ซึ่งบังเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในที่นั้น ได้ปรากฏกายขึ้นในอากาศ พร้อมทั้งแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะว่า

....."สัตว์ทั้งหลาย เมื่อรู้ผลของบาปเช่นนี้ ไม่ควรทำปาณาติบาต

.....พึงรู้ว่า การเกิดนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก"

.....เสียงหัวเราะ และร้องไห้ ในวันสุดท้ายแห่งชีวิตของแพะนั้น อาจช่วยผู้คนทั้งหลายให้รอดพ้นจากภัยแห่งการผิดศีลได้ แต่แพะผู้สำนักผิด และได้รับการคุ้มครองป้องกันเป็นอย่างดี ก็มิอาจรอดพ้นจากการถูกตัดศีรษะในที่สุด

.....เพียงเพราะชาติหนึ่งที่หลงผิด ทำการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คุณภาพจิตใจจึงถูกทำลายจนตกต่ำเสื่อมทราม ไม่อาจรองรับความเป็นมนุษย์ได้ ต้องวนเวียนเกิดตายในร่างเดรัจฉาน ชดใช้บาปกรรมอย่างทุกข์ทรมานตลอดมา

.....อ้างอิง : * ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎก บาลีสยามรัฐ เล่ม ๑๐ ข้อ ๗๙ หน้า ๑๐๑

.....** พระสูตรและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๕๕ หน้า ๒๖๗
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011438814798991 Mins