กระบวนการวิธีในการปฏิรูปมนุษย์ ( ต่อ )

วันที่ 30 เมย. พ.ศ.2546


.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งชัดถึงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของใจ ดังได้พรรณนามานี้เป็นอย่างดี จึงได้ทรงชี้แนะหลักการปฏิบัติให้แก่ชาวโลก ซึ่งอาจสรุปเป็นสาระสำคัญ ในการครองชีวิตให้เป็นอิสระจากอำนาจกิเลสได้ ๒ ประการ คือ

.....๑. ต้องมีสติระมัดระวังใจให้ห่างไกลจากสิ่งเร้า เพื่อป้องกันการกำเริบของกิเลสในใจตน

.....๒. สัมมาทิฎฐิที่ปลูกฝังลงในจิตใจอย่างมั่นคงแล้ว จะช่วยให้คนเรามีสติดังกล่าวในข้อ ๑

.....ซึ่งนอกจากจะสามารถป้องกันไม่ให้กิเลสที่นอนนิ่งอยู่ในใจกำเริบขึ้นแล้ว ยังจะเป็นเหตุให้สามารถกำจัดกิเลสที่เคยกำเริบมาก่อนให้ลดน้อยถอยลงตามลำดับๆ ได้อีกด้วย

.....เพราะฉะนั้น สาระสำคัญทั้ง๒ ประการนี้ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นแม่บทของกระบวนวิธีในการปฏิรูปมนุษย์
เพื่อให้เข้าใจง่าย อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนวิธีในการปฏิรูปมนุษย์ที่เหมาะสมถูกต้องก็คือ การปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้มั่นคงลงในจิตใจของปุถุชนให้ได้ เมื่อบุคคลเกิดสัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจถูกๆ เกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตตามจริงแล้ว มิจฉาทิฏฐิ คือความเข้าใจผิดๆ ที่เคยมีอยู่เดิมย่อมถูกฆ่าทิ้งไป และความเข้าใจผิดใหม่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น จากนั้นขบวนการแห่งความดีงามต่างๆ ก็จะเข้ามาแทนที่โดยอัตโนมัติ

 

....มิจฉาทิฏฐิเป็นผลิตผลของกิเลส

.....ก่อนที่จะก้าวไปถึงเรื่อง.สัมมาทิฏฐิในรายละเอียด มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ประเด็นสำคัญของมิจฉาทิฏฐิ หรือความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิต ให้ตรงกันเสียก่อน
ความเข้าใจผิด หรือความเข้าใจไม่ถูกต้องตามจริง เกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตของแต่ละคน อาจมีรายละเอียดอีกมากมาย แต่ความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดโทษภัยร้ายแรงทั้งแก่ตนเองและสังคมอาจแบ่งได้เป็น ๓ ประการคือ

.....๑. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัย แท้ที่จริงการเกิด คือต้นทางนำไปสู่ความแก่และความตาย ถ้าไม่เกิดย่อมไม่แก่และไม่ตาย เพราะฉะนั้นในทันทีที่แต่ละชีวิตถือกำเนิดลืมตามาดูโลก ก็คือจุดตั้งต้นสำหรับการนับถอยหลังไปสู่ความตาย สิ่งนี้คือความทุกข์ที่แฝงเร้นให้ชีวิตคนเรา
แต่เพราะเหตุที่ปุถุชนมองความทุกข์ที่แฝงเร้นกันไม่ออก จึงเกิดความเห็นผิดว่า วัยของทารกที่เติบโตขึ้น ตามจำนวน วัน เดือน และปี เป็นความเจริญของมนุษย์แบบก้าวไปข้างหน้า ผู้เป็นพ่อแม่ก็เฝ้าคอยดูความเจริญวัยของลูกด้วยความชื่นชมยินดี และมีความสุข ส่วนผู้เป็นลูกก็เร่งวันเร่งคืน ปรารถนาให้ตนเจริญวัยอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้มีอิสระในการแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินในชีวิต จากกามคุณ ๕ อันเป็นยอดปรารถนาของปุถุชน
ความเข้าใจผิดเช่นนี้เอง ที่เป็นเหตุให้ปุถุชนพากันดำรงชีวิตอยู่อย่างประมาท ด้วยการหลงระเริงอยู่กับการแสวงหาความพอใจจากโลกียสุข ด้วยการเบียดเบียนกัน ก่อกรรมทำเข็ญกัน โดยไม่กลัวเกรงกฏหมายและบาปกรรม นอกจากนี้ยังมองไม่เห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการประพฤติธรรม

.....อนึ่ง ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างกลัวตาย แต่ปุถุชนก็ไม่เคยสนใจใฝ่รู้ถึงการป้องกันภัยอันตราย ที่จะมาถึงตนในปรโลก และสังสารวัฏอันหาต้นหาปลายมิได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ บางคนกว่าจะตระหนักถึงการประพฤติธรรม ก็ต่อเมื่อสังขารร่างกายเสื่อมโทรม เพราะถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน และเพราะความชราเข้าครอบงำ เมื่อถึงตอนนี้ สังขารก็ไม่อำนวยเสียแล้ว
ยิ่งกว่านั้น ยังมีชายชราจำนวนไม่น้อย ที่พยายามแสวงหายาอายุวัฒนะมาบำรุงบำเรอให้กายและใจเป็นหนุ่มฉกรรจ์ เพื่อจะได้มีโอกาสแสวงหาความสุข อย่างท้าทายมัจจุราชต่อไปอีก

.....ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งในธรรม อันเป็นเหตุให้ปุถุชน คิดผิด พูดผิด และทำผิด ซึ่งเป็นพฤติกรรมเลวร้าย ที่ก่อให้เกิดความวิบัติต่างๆ ขึ้นในสังคม และกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

.....๒. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต คนเราย่อมมีชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ถ้าขาดปัจจัย ๔ เสียแล้ว ย่อมมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย หรือแม้ถ้าขาดเพียงบางอย่าง ชีวิตย่อมทุกข์มาก หรืออาจถึงตายได้ เพราะฉะนั้นการแสวงหาปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงชีวิต จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน

.....แต่เพราะเหตุที่ปุถุชนไม่ได้เฉลียวใจว่า ตนกำลังเดินไปสู่ความตายทุกขณะ มิหนำซ้ำยังหวังจะมีอายุยืนยาวค้ำฟ้า ไม่อยากตายอีกด้วย คนกิเลสหน้าทั้งหลายจึงพากันมุ่งสะสมโภคทรัพย์สมบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเก็บไว้บำรุงบำเรอความสุขทั้งของตน และเผื่อไว้สำหรับลูกหลานเหลนต่อไปอย่างไม่รู้จบอีกด้วย จึงทำให้เกิดการสะสมโภคทรัพย์เกินความจำเป็น นี่คือกิเลสตระกูลโลภะคือความโลภอยากได้ไม่รู้จบ ได้กำเริบขึ้นในจิตใจแล้ว


สุ. พูนพิพัฒน์.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0078805843989054 Mins