การช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ รวมทั้งชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยจากแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ระหว่างวันที่ 14 ถึง 17 สิงหาคม พุทธศักราช 2551
จากการที่ประเทศจีนได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงสูงกว่าปกติ และไหลบ่าทะลักเข้าสู่จังหวัดหนองคายอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในครั้งนี้ ได้แก่ อ.สังคม อ. ศรีเชียงใหม่ อ. ท่าบ่อ และ อ.เมือง ในบางส่วนด้วย
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ วัดต่าง ๆ พระภิกษุสามเณร รวมทั้งชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ต้องอพยพมาอาศัยอยู่ริมถนน ไฟฟ้า ถนนถูกตัดขาดในหลายพื้นที่ บ้านเรือนหลายหลังถึงกับทรุด พัง ไปตามกระแสน้ำ โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดการเรียนการสอนโดยไม่มีกำหนด เพราะนักเรียนไม่สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือได้
ส่วนพระภิกษุสามเณรก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน ต้องอาศัยอยู่บนศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ เพราะไม่สามารถทิ้งวัดได้เพราะเกรงว่าของมีค่าในวัดจะถูกขโมยไป การขบฉัน ความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรกว่าพันรูปได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะออกบิณฑบาตไม่ได้ ทั้งชาวบ้านไม่สามารถเดินทางมาใส่บาตรได้ เพราะถนนถูกตัดขาด ไฟฟ้าไม่มีใช้ ห้องสุขาไม่มีใช้ จึงทำให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างยากลำบาก
พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ได้ทราบความเดือดร้อนดังกล่าวแล้ว จึงได้มอบหมายให้พระมหาบุญพรหม จารุปุญโญ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน พระอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดอัมพวัน และคณะกัลยาณมิตรจังหวัดหนองคาย เป็นตัวแทนนำข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค และน้ำดื่ม ไปช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านอย่างเร่วด่วน
เริ่มต้นได้มีการขนข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค และน้ำดื่ม จากวัดพระธรรมกาย โดยใช้รถบรรทุกสิบล้อจำนวน 8 คัน บรรทุกข้าวสารอาหารแห้ง ฯลฯ และออกเดินทางออกจากวัดพระธรรมกายในคืนวันที่ 14 สิงหาคม และมาถึงศาลากลางจังหวัดหนองคายในเวลาประมาณ 15.00 น.ของวันที่ 15 จากนั้นเวลา 09.00 น. พระมหาบุญพรม พร้อมด้วยคณะได้นำข้าวสารอาหารแห้งไปมอบให้กับพระครูปริยัติจันทคุณ เจ้าคณะตำบลหนองปลาปาก เขตหนึ่ง อำเภอท่าบ่อ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาปาก เพื่อนำไปช่วยเหลือพระภิกษุสามเณร และชาวบ้าน
จากนั้น เวลา 15.00 น. พระราชธีราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วย พระมหาบุญพรหม จารุปุญโญ คณะกัลยาณิมตรจังหวัดหนองคาย ตัวแทนพระราชภาวนาวิสุทธิ์ นายวีระพงษ์ สารบรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดหนองคาย และนายสุรศักดิ์ โสตะวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ ได้ร่วมกันมอบข้าวสารอาหารแห้ง ต่อนายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ณ ศาลากลาง เพื่อนำไปช่วยเหลือพระภิกษุสามเณร และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป
หลังจากนั้นทางคณะฯ ได้มุ่งสู่อำเภอศรีเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเวลาจวนพลบค่ำ และแม่น้ำโขงได้อยู่สภาวะเชียวกราก ได้ทหารจากหน่วย นปข.นำข้าวสารอาหารแห้ง ไปช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ในอำเภอศรีเชียงใหม่ และนำข้าวสารอาหารแห้งลงเรือเล็กขนาด 5 เมตร จำนวน 3 ลำ มุ่งสู่วัดหาดปทุม วัดกลาง และวัดช้างเผือก ซึ่งวัดดังกล่าวถูกน้ำท่วมสูงมากกว่า 3 เมตร
เช้าวันที่ 16 สิงหาคม พระมหาบุญพรหม พร้อมด้วยคณะได้นำข้าวสารอาหารแห้งไปมอบให้กับพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ในเขตอำเภอท่าบ่อ ดังต่อไปนี้ วัดเทพนิมิตสถิตย์ฐาราม วัดศิลาเลข วัดศรีสุธรรม วัดคุ้มประดิฐษ์ และวัดแก้ววิจิตร วัดเทพนิมิตรฯ และวัดแก้ววิจิตร ซึ่งน้ำท่วมถึง 3 เมตร
บ่ายวันที่ 16 คณะกัลยามิตรจังหวัดหนองคาย และนายกเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ ได้นำข้าวสารอาหารแห้งไปมอบให้กับพระภิกษุสามเณรที่ วัดสระสุวรรณ วัดปากท่อ วัดสุคนธาราม วัดธาตุปากนาง ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ
ต่อด้วยไปยังวัดท่าคกเรือ อำเภอศรีเชียงใหม่ เพื่อมอบข้าวสารอาหารแห้งไปถวายพระอธิการจีราวัฒน์ ธีรวังโส เจ้าอาวาสวัดท่าคกเรือ เพื่อนำไปช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังวัดแก่งศิลา อำเภอสังคม เพื่อทำพิธีมอบข้าวสารอาหารแห้งให้กับพระพุทธสารสุธี เจ้าคณะอำเภอสังคม โดยมี พระราชธีราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย เป็นประธานมอบในครั้งนี้
ในวันที่ 17 -18 สิงหาคม คณะให้การช่วยเหลือได้นำเครื่องบริโภค ไปมอบให้กับวัดในอำเภอท่าบ่อ เพราะเนื่องจากน้ำยังท่วมสูงอยู่ ได้แก่ วัดสุมังคลาราม วัดโกการาม วัดธรรมเจดีย์ วัดหาดอน วัดโพธิชัย วัดจอมทอง วัดเจียมปรางค์ และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด ส่วนวัดเจียมปรางค์นั้นได้รับความเสียหายหนัก กำแพงวัดได้พังทลายไปทั้งแถบ สถานการณ์น้ำท่วมได้เริ่มลดลงในช่วงเย็นของวันที่ 17 กระแสน้ำแม่น้ำโขงได้ไหลลงสู่จังหวัดนครพนม และมุกดาหารและเริ่มไหลทะลักเข้าสู่ วัด หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงแล้ว
ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้พอ ๆ กันกับเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในครั้งนั้นได้เกิดพนังกั้นน้ำพังจึงทำให้แม่น้ำโขงไหลทะลักเข้ามาในจังหวัดหนองคาย และจังหวัดที่ติดอยู่กับริมแม่น้ำโขง ปี พ.ศ.2545 ก็เกิดจากพายุฝนแต่ก็ไม่ท่วมหนักเท่ากับปีนี้ ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุหนองคายได้รายงานว่า อำเภอสังคมน้ำท่วมหนักมาก และเป็นอำเภอแรกที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้วัดและพระภิกษุสามเณร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยจำนวน 25 วัด พระภิกษุสามเณรจำนวน 140 รูป อำเภอสังคมมีจำนวนวัดที่ได้รับความเดือดร้อน 15 วัด มีพระภิกษุสามเณร 50 รุป อำเภอท่าบ่อมีวัดที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 21 วัด พระภิกษุสามเณร จำนวน 108 รูป.