โฆสกะ (๑๘) บุพเพสันนิวาส

วันที่ 07 มิย. พ.ศ.2554

 

               เมื่อเดินทางไปจนกระทั่งถึงเรือนของเศรษฐีเพื่อนพ่อ ภรรยาของเศรษฐีนั้นก็ได้มาต้อนรับ เมื่อแรกเห็น ก็รู้สึกนึกรักโฆสกะเหมือนกับเป็นลูกของตัวเอง ได้ซักถามว่า “เธอมาจากไหนหรือ”

 

โฆสกะตอบด้วยถ้อมคำที่น่ารักว่า “คุณแม่ครับ ผมเป็นลูกชายของเศรษฐีซึ่งเป็นเพื่อนกับคุณแม่ครับ”
ภรรยาเศรษฐี  “แล้วเธอชื่ออะไรล่ะ”
โฆสกะ “โฆสกะ ครับ”
ภรรยาเศรษฐี  “ดีจัง เอ้าเข้ามาสิ ล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น ทานอหารให้เรียบร้อย พักที่นี่สักคืน แล้วพรุ่งนี้ค่อยเดินทางต่อก็แล้วกันนะจ๊ะ”

 

               เศรษฐีนั้นมีลูกสาวคนหนึ่ง อายุประมาณ ๑๕ – ๑๖ ปี เธอเป็นผู้มีบุญ รูปร่างสะสวย สง่างาม น่าเลื่อมใส เศรษฐีหาสาวใช้คนหนึ่งให้รับใช้ส่วนตัวแก่ลูกสาวของตน ลูกสาวนั้นอยู่ห้องอันมีสิริ เป็นห้องพิเศษส่วนตัวอยู่บนปราสาทชั้น ๗ เพราะเป็นลูกรักคนเดียว  (ปราสาท ๗ ชั้น นี่คือความอัจฉริยะของคนสมัยก่อน แม้จะเป็นเรือนไม้ แต่สร้างได้หลังใหญ่สูงถึง ๗ ชั้น โดยไม่ต้องตอกตะปูแม้สักตัวเดียว)

 

               พอดีสาวใช้คนนั้นเดินผ่านมา ภรรยาเศรษฐีจึงเรียกนางมา แล้วถามว่า “จะไปไหนหรือ”
สาวใช้  “ธิดาของแม่เจ้า สั่งให้ดิฉันไปกระทำกิจธุระให้เจ้าค่ะ”
ภรรยาเศรษฐี   “เจ้ามานี่ก่อน เรื่องนั้นเอาไว้ทีหลัง ไปเตรียมที่นั่ง เอาน้ำมาล้างเท้าให้ลูกชายฉัน เอาน้ำมันมานวดเท้าให้ด้วย จากนั้นไปจัดที่หลับที่นอนให้ลูกชายฉันด้วยนะ แล้วค่อยไปทำกิจให้ธิดาของฉันในภายหลัง”

 

               เมื่อสาวใช้กลับมาถึง ธิดาเศรษฐีก็ดุว่า “ทำไมมาช้านักล่ะ”
สาวใช้  “แม่เจ้าอย่าเพิ่งโกรธดิฉันค่ะ ลูกชายเศรษฐีโน้นชื่อโฆสกะ มาที่นี่ คุณแม่ของแม่เจ้าใช้ให้ดิฉันจัดเตรียมต้อนรับเขาเจ้าค่ะ”  เมื่อได้ยินคำว่า “โฆสกะ” เท่านั้น ความรักได้แล่นผ่านเฉือนผิวหนัง จรดเยื่อในกระดูกของธิดาเศรษฐีทีเดียว นี่เป็นเพราะว่าบุพเพสันนิวาสนั่นเอง

 

               (บุพเพสันนิวาสนั้น ความหมายที่แท้จริงก็คือ การที่เคยได้อยู่ร่วมกันในชาติก่อนๆ ซึ่งไม่ใช่หมายความเป็นสามีภรรยากันอย่างเดียว อาจเป็นพ่อเป็นลูกกัน เป็นแม่เป็นลูกกัน เป็นพี่น้องหรือญาติๆ ที่อยู่ด้วยกัน คนเดี๋ยวนี้มักเหมาเอาว่า เคยเป็นสามีภรรยากัน เพราะฉะนั้น คนที่เราเห็นครั้งแรกแล้วปิ๊งเลย คนนั้นในอดีต อาจเคยเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่น้องหรือญาติกันมาก่อนก็ได้ วัฏฏสงสารก็เป็นอย่างนี้ ทำให้เราไม่รู้เรื่องอดีต)

 

               ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า เธอก็คือภรรยาของเขาในชาติที่ทิ้งลูกน้อยนั่นเอง เธอได้มาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐีในชาตินี้ ก็เพราะบุญที่ถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า และอยู่รับใช้เตรียมอาหารให้เจ้าของบ้านถวายพระในชาตินั้นนั่นเอง

 

               เมื่อได้ยินคำว่า โฆสกะ เธอจึงรีบถามว่า “แล้วตอนนี้เขาอยู่ที่ไหนล่ะ”
สาวใช้  “ดิฉันได้เตรียมที่นอนไว้ให้แล้วเจ้าค่ะ”
ธิดาเศรษฐี  “เขามีอะไรติดมาด้วยหรือเปล่า”
สาวใช้  “เห็นมีหนังสืออยู่ที่ชายพกเจ้าค่ะ”
ธิดาเศรษฐีนั้นจึงคิดว่า “นั่นเป็นหนังสืออะไรหนอ”

 

              เธอจึงแอบไปดูในช่วงที่พ่อแม่ของตนกำลังใส่ใจอยู่กับเรื่องอื่น เห็นโฆสกะหลับสนิททีเดียว คงเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง เธอจึงค่อยๆ เข้าไปแก้หนังสือนั้นอ่าน แล้วก็ต้องอุทานด้วยความตกใจว่า “ตายจริง อีตานี่ผูกหนังสือฆ่าตัวเองไว้ที่ชายผ้าแท้ๆ เลย นี่ถ้าเราไม่เห็นเข้า เขาต้องตายแน่ๆ” ด้วยความรักและความฉลาด จึงฉีกหนังสือเดิมทิ้ง แล้วรีบเขียนจดหมายปลอมเอาไปเปลี่ยนแทน จดหมายนั้นเขียนว่า ..

 

               “ลูกชายของเราคนนี้ชื่อโฆสกะ ท่านจงนำเครื่องบรรณาการจากบ้านส่วยทั้งร้อยบ้านของเรามา จัดการสู่ขอธิดาเศรษฐีซึ่งเป็นเพื่อนของเราให้มาแต่งงานกับโฆสกะ แล้วปลูกเรือนหอสองชั้นอยู่ในท่ามกลางเรือนของท่านเลย จัดหาคนคอยดูแลรับใช้ให้อย่างดีเยี่ยมด้วยนะ เมื่องานเสร็จแล้ว รีบส่งข่าวมาแจ้งให้เราทราบด้วย เราจะให้รางวัลอย่างงาม”

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0062120000521342 Mins