อริยมรรคมีองค์ ๘

วันที่ 04 สค. พ.ศ.2554

พระบรมศาสดาของเราตรัสเรื่องทางเดิน หรือหนทางปฏิบัติตน หรือที่เรียกด้วยภาษาธรรมว่า "มรรค" ไว้ว่าในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น

๑. สัมมาทิฎฐิ (ความเห็นชอบ) คือ มีความรู้ในเรื่องทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด สภาพปราศจากทุกข์ และวิธีปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นทุกข์ เรียกว่า รู้อริยสัจ ๔

เรื่องทุกข์ ต้องทำความรู้จักว่ามีอะไรบ้างที่เป็นทุกข์
เรื่องเหตุให้ทุกข์เกิด (สมุทัย) ต้องกำจัดให้สิ้นไป หรือต้องละเว้น ไม่ให้เกิด
เรื่องสภาพปลอดทุกข์ (นิพพานหรือนิโรธ) ต้องทำให้แจ้ง คือ รู้จักโดยแจ่มแจ้ง (ทางใจ)
เรื่องวิธีปฏิบัติตนเพื่อดับทุกข์ (มรรค ๘) ต้องทำให้เกิดขึ้น คือ ลงมือปฏิบัติให้ได้รับผล

๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) คือ ดำริออกจากกาม ดำริออกจากความพยาบาท และดำริออกจากความเบียดเบียน

๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) คือ เจตนาเว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม

๕. สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) คือ ละอาชีพผิดที่ทำด้วยมิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ ทำแต่อาชีพชอบ

๖. สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) คือ ปรารภความเพียรด้วยความพอใจ ประคองจิตไว้ อกุศลกรรมอันลามกใดๆ ที่ยังไม่เกิดก็อย่าให้เกิด อันใดที่เกิดอยู่แล้วพยายามละออกให้หมด ส่วนกุศลกรรมธรรมใดๆ ที่ยังไม่เกิด เพียรทำให้เกิดขึ้น ส่วนที่มีอยู่แล้วก็ทำให้เจริญไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้น

๗. สัมมาสติ (สติชอบ คือ ระลึกในสิ่งที่ควร) คือ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ
กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย

พิจาราณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่.. .กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่...กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่...กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสีย

๘. สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ) คือ การตั้งใจมั่น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม

เข้าปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร ปีติ และสุขที่เกิดจากวิเวก
เข้าทุติยฌาน อันเป็นความผ่องใสแห่งจิตภายใน เป็นธรรมเอก ผุดขึ้น วิตกวิจารสงบไป มีแต่ปีติสุขที่เกิดจากสมาธิ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
เข้าตติยฌาน ซึ่งเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นมุข (นำหน้า)
เข้าจตุฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
(จากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๓๑ หน้า ๓๘-๓๙)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.032004264990489 Mins