ประวัติความเป็นมาของบทสวดมนต์
การสวดมนต์มีความหมายอย่างไร
การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นการสวดในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้เพื่อไม่ให้ลืมในคำสอนนั้นๆ และทบทวนในสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะในครั้งพุทธกาลยังไม่มีพระไตรปิฏก จึงต้องใช้การท่องจำ หลังพุทธปรินิพพานมีการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 1 ก็ยังใช้การท่องจำสืบทอดต่อกันมา เรียกว่า "มุขปาฐะ"(หมายถึง การท่องด้วยปาก การกล่าวด้วยปาก การจดจำต่อเนื่องกันมาด้วยการสอนแบบปากต่อปาก) ดังนั้น จึงมีการคัดเอาคำสอนที่สำคัญมาสวดสาธยายกันอย่างเนืองนิตย์ คำสอนสำคัญเหล่านี้จึงกลายเป็นบทสวดมนต์ในที่สุด ในบางคราวพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาพาธได้มีพระภิกษุมาสาธยายพุทธมนต์ให้พระพุทธองค์ฟัง เช่น บทโพชฌงค์ 7 ทำให้พระองค์อาการอาพาธทุเลาลง ฉะนั้นบทสวดมนต์จึงมีอานุภาพมาก นับแต่นั้นมาทั้งพระภิกษุและฆราวาสก็สวดมนต์เรื่อยมาเพื่อเป็นการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้า
บทสวดมนต์และคาถามีความแตกต่างกันอย่างไร
คำว่า "คาถา" แปลว่า ร้อยกรอง คำสอนของพระพุทธเจ้ามีทั้งบท ร้อยแก้ว และ ร้อยกรอง 1 คาถา มี 2 บรรทัด 4 วรรค รวมกันเป็น 1 คาถา
คำว่า "อาคม" แปลว่า พระสูตรในหลายๆ ครั้งเราจะได้ยิน 2 คำ นี้รวมกันเป็นคำว่า "คาถาอาคม"
ในสมัยก่อนมีคาถาบทหนึ่งเอาไว้สวดให้ผู้หญิงที่คลอดยาก ชื่อว่า "คาถาพระปริตร" ที่มาของคาถานี้มาจาก "พระองคุลีมาล" ในครั้งนั้นท่านได้เดินไปเจอหญิงท้องแก่คนหนึ่ง ด้วยความกลัวหญิงท้องแก่นี้พยายามจะหนีเพราะกลัวพระองคุลีมาลจะทำร้ายตน (พระองคุลีมาลในตอนนี้ทรงบวชแล้ว) หญิงคนนี้ตั้งครรภ์มานานไม่ยอมคลอดได้รับความทรมานอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองคุลีมาลจึงเข้าไปโปรดด้วยการตั้งสัตยาธิษฐาน ว่า "ตั้งแต่ข้าพเจ้าออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้านี้ไม่เคยเลยที่จะปลงสัตว์จากชีวิตแม้ด้วยความคิดด้วยอานุภาพแห่งสัจวาจาขอความสวัสดีจงมีแด่น้องหญิงและทารกในครรภ์เทอญ" สิ้นเสียงพระองคุลีมาลทารกในครรภ์ก็คลอดออกมาอย่างง่ายดายด้วยอานุภาพแห่งสัจวาจาของท่าน นี้คือที่มาของ "คาถาทำคลอด" นั่นเอง (บทสวดมนต์ที่เราคุ้นเคยและได้ยินกันบ่อยนั่นก็คือ บทสวดมนต์ทำวัตร เช้า - เย็น, บทสวดพระปริตร บทให้พรของพระก็ถือว่าคาถาอย่างหนึ่งเช่นกัน)
ความแตกต่างของบุญพิธีในที่ต่างๆ
# หลายท่านอาจเคยสงสัยกันว่า ทำไมในแต่ละวัดจึงไม่เหมือนกัน บางที่มีพรมน้ำมนต์ บางที่มีสายสิญจน์ แต่บางที่ไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ความศักดิ์สิทธิ์ต่างกันหรือไม่
คำตอบ สาระสำคัญหรือแก่นของบุญพิธีต่างๆ คือ "บทสวด" ที่สวดออกไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย เป็นต้น ส่วนพิธีกรรมต่างๆ เช่น การพรมน้ำมนต์, การโยงสายสิญจน์ นี้เป็นส่วนประกอบ โดยที่สาระสำคัญยังคงเป็นบทสวดมนต์ เป็นการเสริมความศรัทธาความเชื่อมั่นและกำลังใจ ดังนั้น สามารถใช้ได้ เช่นกัน
# การไปร่วมงานสวดภาณยักษ์ เป็นบทสวดที่ธรรมดาไม่คุ้นเคย บางคนที่ไปร่วมงานต่างมีอาการแปลกๆ แสดงออกมา และสวดภาณยักษ์ไปเพื่ออะไร
บทสวดภาณยักษ์ คือ เนื้อบทสวดภาณยักษ์เป็นบทสวดทางพระพุทธศาสนา เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องยักษ์ แต่สังเกตว่าจังหวะไม่เหมือนกัน พระไทย พระพม่า พระลังกา สวดมนต์บทเดียวกันเสียงไม่เหมือนกัน จังหวะ ทำนองของแต่ละท้องถิ่นก็ต่างไปได้แต่เนื้อหาสาระเหมือนกัน เช่น พระภาคกลางกับภาคเหนือจังหวะสวดก็ต่างกัน ความนิยมของแต่ละท้องที่ บทสวดภาณยักษ์อาจคิดว่าเกี่ยวข้องกับยักษ์จึงสวดแบบเสียงดุดัน จึงสวดเสียงดัง กระแทกกระทั้น สำหรับคนที่มาแล้วเกิดปฏิกิริยาท่าทางต่างๆ บางคนที่มาใจพร้อมจะแสดงออกมามีอายตนะ เมื่อเจอบทสวดบวกกับใจพร้อมจะเตลิดออกจากตัวเหมือนมีทรงหรือองค์เข้าต่างๆ นานา สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามอายตนะ แต่ถ้าเป็นคนปกติหรือคนดีๆ ไม่เป็นแต่ต้องดูว่าคนดีก็อาจจะมีเชื้ออยู่ในใจ เช่นอาจจะมีอยู่แค่ 10-20% จึงไม่ออกอาการ และประเภทพวกนี้ชอบทางนี้ 70-80% สั่งสมมาข้ามชาติ
เพราะฉะนั้นคนที่ไม่เป็นอาจจะเป็นได้ เกิดจากการเหนี่ยวนำจากสิ่งแวดล้อมต่อไปก็จะเป็นอีก จึงไม่แนะนำให้ไปอยู่ในพิธีกรรมที่ทำให้เราขาดสติ การฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ดีกว่า เพราะเป็นการตั้งสติระลึกถึงพระรัตนตรัย การสวดมนต์หรือฟังสวดต้องเป็นไปในทางที่ดีแต่ถ้าไปฟังเพื่อให้ขาดสติเหมือนเข้าทรงไม่ดี เพราะฉะนั้นเราหลีกเลี่ยงแต่รู้พอให้เป็นเกร็ดความรู้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปอยู่ในพิธีแบบนั้น เพราะเสียเวลา เสียภูมิธรรม บางครั้งอาจไปเหนี่ยวนำสิ่งไม่ดีที่มีอยู่ในตัวเราออกมา
การสวดมนต์ควรสวดทุกวันหรือไม่ เป็นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติหรือเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์
การสวดมนต์เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เดิมแล้วเนื้อหาแต่ละท้องถิ่นมีหลากหลาย ระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยหรือสวดมนต์ในบทที่แตกต่างกันไป ก่อนที่รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงออกผนวชอยู่ 20 กว่าพรรษาและมีพระปัญญามาก พระองค์จึงวางรูปแบบการทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นทั้งประเทศให้เป็นแบบแผนเดียวกัน รูปแบบการสวดมนต์ การอาราธนาศีล พิธีกรรมสงฆ์ต่างๆ เช่น การถวายสังฆทาน การเจริญพระพุทธมนต์ สวด 7 ตำนาน 12 ตำนาน เป็นต้น ก็ปรับเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความเป็นเอกภาพของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นให้รู้ว่า มิใช่หน้าที่ของพระภิกษุเท่านั้น ชาวพุทธทุกคนอย่างน้อยทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ใช้เวลาไม่มากและเป็นประโยชน์ต่อเรา
การสวดมนต์แบบเข้าใจความหมายกับไม่เข้าใจความหมาย อานิสงฆ์ที่ได้แตกต่างกันหรือไม่ และจะช่วยกันสืบต่อวัฒนธรรมนี้ต่อไปอย่างไร
ภาษาบาลี มี สระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ แค่ 8 ตัว ไม่เยอะเหมือนภาษาไทย เพราะฉะนั้นเวลาผสมเสียงออกมาจากในตัวได้ดี เพราะฉะนั้นเราสวดมนต์แม้จะไม่รู้ความหมายก็มีประโยชน์ รู้โดยรวมว่าเป็นการสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย สวดเพื่อตอกย้ำความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นประโยชน์มาก การมีศรัทธาเป็นยอดทรัพย์ เมื่อมีศรัทธาในพระรัตนตรัยจะทำให้เรามีโอกาสสร้างบุญกุศลอื่นๆ อีกมากมาย เหมือนดังในอดีตมีพระภิกษุท่านสาธยายพุทธมนต์ มีค้างคาวฟังอยู่แต่ค้างคาวไม่รู้เรื่องว่าพระสวดอะไร แต่ฟังภาษาบาลีฟังแล้วสบายใจเลื่อมใสในเสียงสวดมนต์ที่ไม่รู้แม้แต่น้อย จดจ่อกับเสียงสวดมนต์เมื่อตายได้ไปเกิดเป็นเทวดา จากสัตว์เดรัจฉานไม่ได้เกิดเป็นคนแต่ไปเป็นเทวดา
เพราะฉะนั้นแค่การฟังเสียงสวดมนต์โดยไม่รู้ความหมายแท้จริงยังมีบุญขนาดนี้ แต่เราเป็นคนรู้เรื่องมากกว่าค้างคาว รู้ว่ากำลังสรรเสริญพระรัตนตรัยอยู่ ยิ่งถ้าได้สวดมนต์เองยิ่งกว่าการฟังบุญยิ่งเกิด และควรหาเวลาสวด หนังสือสวดมนต์มีคำแปลบอกแต่ไม่ต้องสวดบาลีคำไทยคำเพราะระบบไวยากรณ์ จะทำให้มีสมาธิ(Meditation)มากกว่าหลังจากสวดเป็นภาษาบาลีจึงมาดูคำแปลทีหลังจะดีกว่า การสวดมนต์ถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง เราสวดมนต์ไปทำสมาธิไปด้วย ถ้าตั้งใจจริงสามารถบรรลุธรรมได้ใจจดจ่อนิ่งทำให้เข้าถึงธรรมได้ แต่ถ้ายังไม่บรรลุธรรมการสวดมนต์ช่วยเคลียร์ใจให้นิ่งระดับหนึ่ง เป็นพื้นฐานอย่างดีต่อการทำสมาธิ
เพราะฉะนั้น โดยทั่วไปจะสวดมนต์ก่อนการนั่งสมาธิ ใจก็สบายถึงเวลานั่งสมาธิจึงนั่งได้ดี การสวดมนต์ให้ประโยชน์ทุกสถานแม้ไม่รู้ความหมายฟังสวดมนต์ก็ได้บุญ สวดมนต์เองบุญยิ่งเยอะ รู้ความหมายด้วยบุญยิ่งทับทวี รู้ความหมายด้วยทำสมาธิไปด้วยบุญมหาศาลถูกต้องตามหลักวิชา
ที่มาของการกล่าว นะโม 3 จบ
หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมต้องกล่าวบทคำบูชาพระพุทธเจ้านี้ก่อนว่าคาถา (โบราณเรียกตั้งนะโม ๓ จบ) หรือนำหน้าบทสวดมนต์ต่างๆ ตลอดด้วย ที่มาของคำบูชาพระบรมศาสดานี้ มีเรื่องเล่าว่า ณ แดนหิมวันต์ประเทศ มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นที่ร่มรื่น รมณียสถาน เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ที่เป็นภุมเทพยดา อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์ มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ ทางทิศเหนือ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ สาตาคิรียักษ์ได้มีโอกาสสดับ พระสัทธรรมจากพระบรมศาสดา จนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า "นะโม" หมายถึง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นใหญ่กว่า มนุษย์ เทพยดา พราหมณ์ มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง
กล่าวฝ่าย อสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระเกียรติศัพท์ ของพระบรมศาสดา ก็มีจิตปรารถนาที่จะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาบ้าง แต่ด้วยกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงคิดดูแคลนพระบรมศาสดาว่า มีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่ พอนานวันเข้าพระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งขจรขจายไปทั้งสามโลก จนทำให้อสุรินทราหูอดรนทนอยู่มิได้ จึงเหาะมาในอากาศตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกาย เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าขอฟังธรรม แต่พอมาถึงที่ประทับ อสุรินทราหู กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระสัทธรรม ชำระจิตอันหยาบกระด้างของ อสุรินทราหู ให้มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า “ตัสสะ” แปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ
เมื่อครั้งที่ท้าวจาตุมหาราช ทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรก มีชื่อเรียกว่า ชั้นกามาวจร มีหน้าที่ปกครองดูแลประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมบริวาร ได้พากันเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วทูลถามปัญหา พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมตอบปัญหาแก่มหาราชทั้งสี่พร้อมบริวาร จนยังให้เกิดธรรมจักษุแก่มหาราชทั้งสี่ และบริวารท่านทั้ง ๔ นั้น จึงเปล่งคำบูชาสาธุขึ้นว่า “ภะคะวะโต” แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
อะระหะโต เป็นคำกล่าวสรรเสริญของ ท้าวสักกะเทวราช เจ้าสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ท่านสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะเทวราช ได้ทูลถามปัญหาแด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงตรัสปริยายธรรม และทรงตอบปัญหา จนทำให้ท้าวสักกะเทวราชได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า "อะระหะโต" แปลเป็นใจความว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง
สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญของ ท้าวมหาพรหม หลังจากได้ฟังธรรม จนบังเกิดธรรมจักษุ จึงเปล่งคำสาธุการ "สัมมาสัมพุทธัสสะ" หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่ง กว่าผู้รู้อื่นใด
รวมเป็นบทเดียวว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" แปลโดยรวมว่า ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น (3 ครั้ง) ด้วยเหตุนี้โบราณท่านจึงว่า หากขึ้นต้นคาถาหรือบทสวดมนต์ใดๆด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ คาถานั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักด้วย เพราะเป็นคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่มีเทพพรหมชั้นหัวหน้าได้กล่าวไว้ แรงครูหรือแรงแห่งเทพ-พรหม และแรงพระรัตนตรัยท่านจึงประสิทธิ์ให้สมประสงค์
ที่มาข้อมูล (ประวัติคำกล่าว นะโม 3 จบ) banprak-nfe.com