การแก้นิสัยหรือข้อบกพร่องของตัวเองเป็นสิ่งที่ยากมาก

วันที่ 13 มิย. พ.ศ.2557

 
 
การแก้นิสัยหรือข้อบกพร่องของตัวเองเป็นสิ่งที่ยากมาก
 

เหตุที่แก้ยากก็เพราะ

1.กว่าจะรู้ตัวว่ามีนิสัยไม่ดีก็ยาก เพราะมองทีไรก็มองออกไปนอกตัวทุกที เลยเห็นแต่ชาวบ้านไม่ดี ไม่ค่อยจะถูกใจ

2.จะหาคนมาบอกว่าเรานิสัยไม่ดีบ้างก็ยาก เพราะเขากลัวเราจะโกรธ

3.ถึงมีคนบอกแล้ว จะให้เราเชื่อทำตามที่เขาบอกก็ยาก เพราะเรามักจะหาว่าเขามาจับผิด

4.ถึงจะเชื่อว่าเป็นความจริงตามที่เขาบอก แต่ก็หาวิธีแก้นิสัยไม่ดียาก

5.ถึงหาวิธีแก้ได้แล้ว แต่จะหากำลังใจมาแก้ก็ยาก เหมือนคนติดเหล้าบุหรี่ ที่เลิกไม่ได้เพราะขาดกำลังใจ

6.มีกำลังใจจะแก้แล้ว แต่กำลังกายอาจหมดคือตายซะก่อน

7.มีกำลังใจ กำลังกายพร้อม แต่ถ้าสังคมไม่ให้โอกาสก็แก้ยาก เช่น คนที่เคยติดคุก กำลังใจจะแก้นิสัยก็มี กำลังกายจะแก้นิสัยไม่ดีก็มี แต่สังคมไม่ยอมรับ ไม่ให้โอกาส ในเมื่อแก้ไม่ได้ก็ต้องอดทน

เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอรหันต์ไว้ว่า ให้ไปบอกชาวโลกว่า ไม่ว่าเจอเรื่องอะไรให้ทน จะได้แก้ไขตัวเองได้สะดวก ถ้ายังไม่ถึงนิพพานก็ต้องทนกันไป แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายก็ต้องทนกันมาก่อนทั้งนั้น

1.ไม่ว่าร้ายใคร

2.ไม่ทำร้ายใคร

3.รักษาศีล 8 และมารยาทให้ดี

4.รู้ประมาณในอาหาร

5.เลือกนอนเลือกนั่งในที่อันสงบ

6.ทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง

1.ไม่ว่าร้ายใคร : เรามาอยู่รวมกันจำนวนมาก โดยที่เราและเขาต่างมีข้อบกพร่อง ต้องเลือกดูแต่สิ่งดีๆของเขา ที่ไม่ดีไม่ดู แต่ถ้าสิ่งที่ไม่ดีนั้นมากระทบเราก็ให้คุยกันดีๆ อย่าไปว่ากัน ให้ใช้คำเทียบเคียงให้เขาได้คิด ถ้ายังไม่ได้คิดก็จำเป็นต้องบอกตรงๆ ถ้าบอกตรงๆแล้วยังไม่รู้ก็ต้องทน ทนแค่ไม่กี่วัน แล้วให้นึกว่าใช้กรรมเก่าที่เคยทำไว้ก็แล้วกัน

2.ไม่ทำร้ายใคร : การทำร้ายนั้น ไม่ถึงกับตบต่อยกัน แต่พูดกันไม่รู้เรื่องแล้วแสดงอากัปกิริยาประชดประชันเขา มันก็เหมือนทำร้ายเขาโดยอ้อมๆ อย่าทำ !!! เมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องก็ต้องอดทนกันไป

3.รักษาศีล 8 และมารยาทให้ดี : ตัวอย่างเช่น เวลาเดินบางคนเดินลากเท้า ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้ที่นั่งหลับตาทำสมาธิอยู่ ทำให้ใจไม่เป็นสมาธิ หรือเวลานั่งหลับตาอยู่ ก็ต้องรู้ว่า วิธีนั่งของชาวพุทธที่ถูกเขาทำอย่างไร จะเปลี่ยนท่านั่งก็ช่วยระวังด้วย ต้องพยายามให้เบาที่สุด มารยาทงามก็ช่วยจดจำเอาไปทำบ้าง อีกหน่อยพอกลับไปถึงบ้าน จะได้ไปสอนลูกสอนหลาน ส่วนเรื่องศีล 8 ให้พยายามรักษาให้ดีที่สุด อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะจริงๆแล้ว ถ้าเราอยู่ในยุคคนมีกิเลสเบาบาง แค่ศีล 8 ก็เหลือเฟือแล้ว ก็จะเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นรักษาให้เต็มที่

4.รู้ประมาณในอาหาร : คำว่ารู้ประมาณในอาหารหมายถึง 4-5 คำจะอิ่มให้หยุด แล้วดื่มน้ำครึ่งแก้ว จะอิ่มพอดี การรู้ประมาณในอาหารเป็นบทฝึกกำลังใจ ใครที่ควบคุมน้ำหนักจะเข้าใจตัวเองว่า 4-5 คำจะอิ่มนั้นหยุดได้แล้ว กำลังใจจะเกิดขึ้นมาก จะสะสมไปตามลำดับ และจะทำให้เกิดกำลังใจที่จะทำเรื่องอื่นๆให้ดียิ่งขึ้น

5.เลือกนอนเลือกนั่งในที่สงบ :  เพราะที่สงบๆทำให้เรามีความเป็นตัวเองได้มากขึ้น สติอยู่กับตัวมากขึ้น ใจที่อยู่กับตัวจะเริ่มเห็นตัวเอง จะได้ดูตัวเองให้ชัดๆ ดูว่าตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาเราได้ทำตามครูบาอาจารย์สอนทุกคืนหรือเปล่า

6.ทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง : ให้ถือโอกาสทำสมาธิเยอะๆ ทำให้ต่อเนื่อง ทำสมาธิให้ได้ทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน หากทำได้อย่างนี้ บุญใหญ่จะเกิดขึ้น จะได้สดชื่น

ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ไม่สามารถจะพูดได้ ทำอย่างไรดี ??? แนะนำได้  เปลี่ยนจาก ขัดเคือง ขัดแย้ง เป็น สามัคคี  สิ !

การอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะใหญ่ต้องอาศัย “ความเสียสละ” และ “ความเข้าใจซึ่งกันและกัน” ไม่มีอะไรดีที่สุดเท่ากับ “การเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน” เราต้องฝึกที่จะ “ช่วยเหลือและดูแลตัวเองในทุกๆเรื่องให้ได้มากที่สุด” ไม่ปล่อยตัวเองให้ต้องเป็นภาระของหลวงพ่อและหมู่คณะมากเกินไป ถ้าช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็ต้องเข้าไปแบ่งเบาภารกิจหน้าที่ของหมู่คณะให้มากขึ้น

เราต้องฝึกเป็นผู้ที่ให้กำลังใจตัวเองก่อน ไม่ต้องรอคอยกำลังใจจากคนรอบข้างอย่างเดียว กำลังใจที่ดีที่สุดก็มาจากมหาปูชนียาจารย์ ถ้ารู้สึกไม่สบายใจก็ต้องรีบไปสั่งสมบุญ รักในสิ่งที่ทำอยู่ เราจะมีความสุข

ท่องไว้ 3 คำ 3 ชุด

วินัย        เคารพ      อดทน
ยอม        หยุด         เย็น(ยิ้ม)
เมตตา     อดทน     ให้โอกาส
 

 


โอวาทหลวงพ่อทัตตชีโว
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00325581630071 Mins