ขราทิยชาดก ชาดกว่าด้วยโทษของการว่ายากสอนยาก

วันที่ 02 กย. พ.ศ.2565

ID2549_650905.jpg

ข้อคิดจากชาดก

ขราทิยชาดก
ชาดกว่าด้วยโทษของการว่ายากสอนยาก


สถานที่ตรัสชาดก

         เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี


สาเหตุที่ตรัสชาดก

         พระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อแรกบวช มีความตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ครั้นนานเข้า ก็เกิดความเบื่อหน่าย คลายความเพียร เมื่อพระเถระและเพื่อนพระภิกษุด้วยกันตักเตือนเท่าไร ก็ไม่เชื่อฟังกลับดื้อรั้นโต้เถียงไม่ลดละ ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ทรงซักถามได้ความเป็นจริงแล้ว จึงตรัสว่า

         “ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ได้เป็นคนดื้อเฉพาะแต่ในชาตินี้เท่านั้นหรอกนะ แม้เมื่อชาติก่อน เธอดื้อด้านเสียจนกระทั่งต้องไปติดบ่วงตายมาแล้ว”

         จากนั้น พระพุทธองค์ทรงนำ ขราทิยาชาดก มาตรัส ดังนี้
 

เนื้อหาชาดก

         ในอดีตกาล มีพญากวางตัวหนึ่งคุมบริวารฝูงใหญ่อยู่ในป่าใกล้เมืองพาราณสี พญากวางเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สามารถคุมบริวารให้อยู่ในโอวาท และมีระเบียบวินัย เป็นผู้มีเมตตาธรรม ได้อบรมสั่งสอนวิชามฤคมายา หรือ มายาในการเอาตัวรอดของกวางให้แก่บริวารทั้งหลายโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย

         วันหนึ่ง นางกวางซึ่งเป็นน้องสาวผู้หนึ่งของพญากวาง ได้พาลูกชายมาฝากฝังพญากวางให้ช่วยสอนวิชามฤคมายให้ด้วย พญากวางก็ยินดีรับสอน และนัดวันเวลาให้มาเรียน เมื่อถึงกำหนดวันเรียน ลูกกวางก็บ่นกับเพื่อนๆ ว่า

         “ฉันไม่อยากเรียนวิชามฤคมายาอะไรนั่นหรอก ไม่เห็นจะน่าสนุกเลย เรื่องตะกุยดิน เบ่งท้อง พองลม ทำเป็นตายน่ะ ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย ไม่เรียนก็ทำได้”

         ฝ่ายเพื่อนๆ ก็ค้านว่า “นี่เธอ มันอาจจะไม่ง่ายเหมือนอย่างที่คิดก็ได้นะ พญากวางท่านอุตส่าห์สละเวลาสอนให้ มีโอกาสแล้ว รีบเรียนเถอะ”

         แต่กวางน้อยยังคงดื้อดึง ไม่สนใจฟังคำแนะนำตักเตือนของเพื่อนๆ กลับไปเที่ยววิ่งเล่นในป่า จนกระทั่งไปติดบ่วงของนายพรานเข้าในวันหนึ่ง

         ฝ่ายนางกวางไม่เห็นลูกกลับมา วันแรกๆ ยังคิดว่าลูกตนคงขะมักเขม้นเม้นเรียนวิชาอยู่กับพญากวางผู้เป็นลุง จนเวลาล่วงเลยไปถึง ๗ วัน นางกวางรู้สึกเอะใจแล้วกังวล จึงรีบไปหาพญากวางแล้วถามหาลูกชายของตน

         พญากวางจึงบอกว่า ตั้งแต่วันที่เอาลูกมาฝากให้สอนวิชาแล้ว ก็ไม่เห็นหน้าอีกเลย นางกวางได้ยินดังนั้นก็ตกใจมาก เที่ยววิ่งไปสอบถามบรรดาเพื่อนๆ ของลูกชาย จึงรู้ว่าลูกของนางวิ่งเล่นไปจนติดบ่วงของนายพรานและถูกฆ่าตายเสียแล้ว นางเศร้าโศกเสียใจมาก ได้แต่ร้องให้คร่ำครวญถึงความดื้อรั้นของลูกชาย

         พญากวางจึงกล่าวให้สติแก่นางว่า “ขราทิยาเอ๋ย เจ้าอย่าได้เศร้าโศกเสียใจกับลูกหัวดื้อ ไม่ยอมอยู่ในโอวาทนั่นเลย ฉันไม่อาจสั่งสอน และไม่คิดจะสั่งสอนเจ้ากวางผู้มี 8 กีบ มีเขาคดตั้งแต่โคนจนถึงปลาย และทนดื้ด้านอยู่ได้ตั้ง 7 วันเช่นนี้”
 

ประชุมชาดก

         เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าชาดกจบแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

         กวางผู้เป็นหลานในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้ว่ายาก

         กวางขราทิยา ได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี

         พญากวาง ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

         ๑. ลูกดื้อๆ มักจะทำให้พ่อแม่เสียใจอยู่เนืองๆ และหากความดื้อรั้นนั้นเป็นเหตุทำให้ลูกถึงแก่ความตาย ก็จะทำให้เสียใจทวีขึ้นเป็นลำดับ เพราะลูกจะดื้อรั้นสักเพียงใด พ่อแม่ก็รักดังดวงใจพ่อแม่และผู้ใหญ่ควรยึดถือแนวทางต่อไปนี้ในการอบรมบุตรหลาน คือ

                  ๑. ควรฝึกให้ลูกหลานรู้จักกราบไหว้ รู้จักแสดงความเคารพ และสวดมนต์ก่อนนอนเป็นประจำ จะทำให้มีจิตใจอ่อนโดย ไม่หัวดื้อ ว่ายาก

                  ๒. ทำความดีให้ลูกหลานดู เด็กจะได้จดจำยึดถือเป็นแบบอย่าง

                  ๓. ไม่ทำชั่วเด็ดขาด เช่นไม่ดื่มเหล้า

                  ๔. ไม่เข้าข้างลูกหลานเมื่อเขาทำผิด

                  ๕. หาเพื่อนที่ดีให้ลูกหลาน อย่าปล่อยให้เที่ยวเล่นกับเพื่อนเกเร มิฉะนั้น จะติดนิสัยพาลเกเรมา

                  ๖. หาหนังสือที่ดีมีสาระมาให้อ่าน

                  ๗. หาครูบาอาจารย์ที่ดีมาอบรมสั่งสอนลูกหลาน

         ๒. นิสัยของคนเรา ไม่ว่าดีหรือเลว จะติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้ คนที่มีนิสัยดื้อรั้นควรรีบแก้ไขเสีย มิฉะนั้นจะไม่มีใครอยากแนะนำตักเตือน ควรถือว่า บุคคลที่ชี้โทษว่ากล่าวตักเตือนเรา เป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ เพราะทำให้เรารู้จุดที่ควรจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น

         ๓. เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องใดที่แปลกใหม่ อย่ารีบปฏิเสธ อันเป็นวิสัยของคนดื้อ ว่ายาก แต่ก็ไม่เชื่อฟังทันที เพราะจะเข้าลักษณะคนหูเบา หลงงมงาย ควรพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน จึงค่อยตัดสินใจว่าควรเชื่อหรือไม่

         ๔. ให้คิดเสมอว่า ตนเป็นผู้ไม่รู้ พึงต้องมีครู

 

 

 

ข้อคิดจากชาดก
ขราทิยชาดก
ชาดกว่าด้วยโทษของการว่ายากสอนยาก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027607349554698 Mins