อบายมุข 6 ประการ
อริยสาวกไม่ข้องแวะอบายมุข 6 ประการ แห่งโภคะทั้งหลาย
1. การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
2. การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
3. การหมกมุ่นเที่ยวดูมหรสพ เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
4. การหมกมุ่นในการเล่นการพนัน อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นอบายมุขแห่งโภคะ
ทั้งหลาย
5. การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
6. การหมกมุ่นในความเกียจคร้าน เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
อธิบายความ อบายมุข มาจากคำ 2 คำ คือ
1. คำว่า "อบาย" แปลว่า ความเสื่อม
2. คำว่า "มุข" แปลว่า ปากทาง
อบายมุข แปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อมเมื่ออบายมุขเป็นปากทาง เราจึงยังมองไม่เห็นความเสื่อมทันที เพราะความเสื่อมจริงๆมันเป็น "ปลายทาง" แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองเห็น และทรงชี้ให้เราเห็นด้วยว่าปากทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้ มี 6 ทาง และปลายทางของอบายมุขนี้ ย่อมมีความย่อยยับของโภคทรัพย์ หรือ ความพินาศของเศรษฐกิจรออยู่ ซึ่งระดับของความเสียหายนั้นมีตั้งแต่ระดับส่วนตัว จนกระทั่งถึงระดับชาติ ตลอดจนระดับโลกอริยสาวกย่อมมองเห็นโทษของอบายมุข 6 และเว้นห่างจากปากทางแห่งความเสื่อมทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น มาตรฐานคนดีที่โลกต้องการ ประการที่ 3 คือ คนดีต้องมีสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการเว้นขาดจาก อบายมุข 6
จากหนังสือ DOU
วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก
กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก