"วันเข้าพรรษา"

วันที่ 13 กค. พ.ศ.2557

 
 
 
"วันเข้าพรรษา"
ปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม
เป็นวันที่พระภิกษุเริ่มเข้าจำพรรษา
อยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งในระหว่างฤดูฝน
กำหนดตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ รวมเวลา ๓ เดือนเต็ม
มีเหตุการณ์สำคัญในวันนี้ คือ พระศาสดาเสด็จจำพรรษา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา

ภิกษุเหยียบย่ำพืชพันธุ์ชาวบ้าน

ในสมัยที่พระศาสดายังมิได้ทรงบัญญัติให้ภิกษุจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายเที่ยวจาริกไปทั้ง ๓ ฤดู หมู่ชนก็พากันเพ่งโทษ ติเตียน ภิกษุเหล่านั้นว่า เที่ยวจาริกตลอดทั้ง ๓ ฤดู เหยียบย่ำพืชพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อยทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แม้กระทั่งฝูงนกก็ยังทำรังบนยอดไม้และพักอาศัยอยู่ตลอดฤดูฝน เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน จึงไปกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุอยู่จำพรรษา คืออยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝนตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน

ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาได้มาฟังธรรม แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่สงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ ตกในทวีปทั้ง ๔ พระศาสดารับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายสรงสนานกาย

นางวิสาขามหาอุบาสิกาสั่งให้นางทาสีไปนิมนต์ภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อนางทาสีไปถึงที่วัดเห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่าในอารามมีแต่พวกชีเปลือยไม่มีภิกษุจึงกลับบ้าน ส่วนนางวิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาดเฉียบแหลมรู้แจ้งในเหตุการณ์ทั้งปวง เมื่อโอกาสอันควรจึงทูลขอพร พระศาสดาทรงอนุญาต และตรัสอนุโมทนาพร ๘ ประการ ดังนี้

๑ . ขอถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่พระสงฆ์ เพื่อปกปิดความเปลือยกาย

๒ . ขอถวายภัตแก่พระอาคันตุกะ เนื่องจากพระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง

๓ . ขอถวายคมิกภัตแก่พระผู้เตรียมตัวจะเดินทาง เพื่อจะได้ไม่พลัดจากหมู่เกวียน

๔ . ขอถวายคิลานภัตแก่พระอาพาธ เพื่อไม่ให้อาการอาพาธกำเริบ

๕ . ขอถวายภัตแก่พระผู้พยาบาลพระอาพาธ เพื่อให้ท่านนำคิลานภัตไปถวายพระอาพาธได้ตามเวลา และพระผู้พยาบาลจะได้ไม่อดอาหาร

๖ . ขอถวายคิลานเภสัชแก่พระผู้อาพาธ เพื่อให้อาการอาพาธทุเลา

๗ . ขอถวายยาคูเป็นประจำแก่สงฆ์

๘ . ขอถวายผ้าอุทกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่ภิกษุณีสงฆ์ เพื่อปกปิดความไม่งามและไม่ให้ถูกเย้ยหยัน

ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสัตตาหกรณียะ

อุบาสกชื่ออุเทน มีจิตศรัทธาได้สร้างวิหารถวายอุทิศแด่สงฆ์ไว้ในโกศลชนบท เขาได้ส่งทูตไปสำนักภิกษุทั้งหลาย กราบนิมนต์พระคุณเจ้ามาเพื่อจะถวายทานและฟังธรรม แต่ภิกษุเหล่านั้นปฏิเสธการนิมนต์เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงของการจำพรรษา ไม่สามารถไปค้างแรมได้ อุบาสกอุเทนจึงเพ่งโทษ ติเตียน ภิกษุเหล่านั้นว่า อุตส่าห์ส่งทูตไปนิมนต์แล้วก็ไม่มาทั้งๆ ที่ตนก็เป็นทายก เป็นผู้ก่อสร้างวิหาร เป็นผู้บำรุงสงฆ์ ภิกษุทราบความจึงไปกราบทูลพระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ และต่อมาทรงมีพุทธานุญาตได้ในกรณีดังต่อไปนี้

๑. ทายกปรารถนาจะถวายทานและฟังธรรม

๒. เพื่อนภิกษุและสามเณร อาพาธเกิดความกระสัน มีความเห็นผิด ต้องอาบัติหนักต้องการเข้าปริวาส ให้มานัต ให้อัพภาน

๓. สามเณรต้องการอุปสมบท

๔. บิดา มารดา พี่น้อง หรือญาติของภิกษุป่วย

๕. ทำกิจของสงฆ์

ด้วยเหตุนี้ แม้เป็น ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุสามารถไปด้วย “สัตตาหะ” คือ ค้างแรมที่อื่นได้ไม่เกิน ๗ วัน (๖ คืน) เพื่อทำกิจธุระตามที่ทรงมีพุทธานุญาตไว้แล้วนั่นเอง

เสด็จจำพรรษาดาวดึงส์โปรดพุทธมารดา

เมื่อพระศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว ทรงรำพึงว่า จะจำพรรษาที่ไหน ทรงตรวจดูแล้วเห็นว่า พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายทำปาฏิหาริย์แล้วจำพรรษาในภพดาวดึงส์ พระศาสดาทรงจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะ ประทับนั่งท่ามกลางเทวบริษัท ทรงแสดง “พระอภิธรรม” โปรดเทพบุตรพุทธมารดา

เมื่อทรงแสดงธรรมอยู่ ในเวลาภิกษาจาร ทรงนิรมิตพระพุทธนิมิตให้แสดงธรรมแทนพระองค์แล้วจึงเสด็จไปบิณฑบาตที่อุตรกุรุทวีป เมื่อทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว เสด็จไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมเองต่อจากที่พระพุทธนิมิตแสดง ทรงแสดงธรรมโดยทำนองนี้ตลอด ๓ เดือน เมื่อจบพระธรรมเทศนา เทพบุตรพุทธมารดาได้สำเร็จโสดาปัตติผล ธรรมาภิสมัยมีแก่เทวดาแปดหมื่นโกฏิ แล้วเสด็จลงที่ประตูเมืองสังกัสสะในวันมหาปวารณา ทรงเปิดโลกให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกได้เห็นซึ่งกันและกัน

ข้อปฏิบัติของชาวพุทธ

ในวันนี้เป็นวันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์จะอธิษฐานอยู่จำพรรษาในเขตอารามที่ตนพำนัก โดยมีธรรมเนียมว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่สงฆ์มารวมกันจึงมักไปฟังธรรมจากพระมหาเถระ หัวข้อธรรมใดที่เคยสงสัยก็จะถือโอกาสซักถามกันในเวลานี้ และขอคำสอนในการทำสมาธิภาวนา ดังนั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ณ อาราม เพื่อบำเพ็ญเพียรให้ยิ่งขึ้นไป สาธุชนทั้งหลายก็สามารถจำพรรษาได้ ณ วงกายของตนเอง ด้วยการทำความดี ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ จาก ๓ ทาง คือ ทาน ศีล และภาวนา

ประเพณีในเทศกาลนี้ สาธุชนมักนำ “ เทียนพรรษา” ไปถวายวัด เพราะเป็นธรรมเนียมว่า ช่วงนี้พระจะศึกษาธรรมะในอดีตไม่มีไฟฟ้า จึงจะได้ใช้เทียนในเวลากลางคืนอ่านหนังสือ ปัจจุบันความสว่างของไฟฟ้าช่วยขจัดความมืดได้ อาจเปลี่ยนมาเป็นถวายหลอดไฟ หรือทำบุญเป็นค่าน้ำค่าไฟให้วัดก็ได้เช่นกัน แต่ประเพณีถวายเทียนพรรษาซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยไปแล้วจึงควรอนุรักษ์ไว้เช่นกัน
 
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018645298480988 Mins