วันสารทจีน
นับว่าเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับชาวจีน เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานชาวจีนจะได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยการเซ่นไหว้ อีกทั้งยังเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายขึ้นมารับส่วนกุศลผลบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ไว้ได้อีกด้วย
วันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือ วันเทศกาลจงเยฺวี๋ยน วันเทศกาล Zhongyuan ของจีน หรือที่เราเรียกว่า วันสารทจีน เป็นวันซึ่งทุกครอบครัวทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้น บางครั้งชาวจีนจึงเรียกวันดังกล่าวว่า GuiJie กุ่ยเจี๋ย หรือ Wangren Jie หวางเหรินเจี๋ย
Gui = ผี ซึ่งเป็นคำเรียกคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว
Wangren = คนที่ตายไปแล้ว
Jie = เทศกาล
GuiJie หรือ Wangren Jie จึงแปลว่า เทศกาลเซ่นไหว้ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว
ชาวจีนเชื่อกันว่าวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 เป็นวันซึ่งวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้กลับมาเยือนโลกมนุษย์เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวของตน เพราะฉะนั้น ในวันนี้ชาวจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันทุกครัวเรือน
ชุดไหว้ในพิธีสารทจีน
การไหว้ในเทศกาลสารทจีนแบ่งออกเป็น 3 ชุด ดังนี้
1. ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่
จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวานขนมกุยช่าย|กุยช่าย]] ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
2. ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ
คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใส ๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ขาดไม่ได้ก็คือขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้และกระดาษเงินกระดาษทอง
3. ชุดสำหรับไหว้สัมภเวสี
วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า สัมภเวสี หรือ ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้านของไหว้จะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการและที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองจัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
อาหารไหว้วันสารทจีน
– ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
– เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
– ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
– หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
– ปลาหมึก หมายถึง เหลือกิน เหลือใช้ (เหมือนปลา)
– บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หรือ ฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
– เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
– ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
– สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
– หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก
อาหารที่ใช้เซ่นไหว้วันสารทจีน
อาหารที่ใช้เซ่นไหว้นอกจากหมูเห็ดเป็ดไก่แล้ว มักมีอีก 4 อย่าง คือ
1. Baozi เปาจึ ซาลาเปา
2. Jiaozi เจี่ยวจือ เกี๊ยวแบบเกี๊ยวจีน
3. Mantou หมานโถว หมั่นโถว
4. Pingguo ผิงกว่อ แอปเปิล
ขนมที่ใช้ไหว้
ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี
1. ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
2. เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่
3. หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
4. มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
5. กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ
ขนมไหว้วันสารทจีน
– ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
– ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
– ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
– ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่าห่อโชค
– จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป
ผลไม้ไหว้วันสารทจีน
– กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
– แอปเปิ้ล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
– สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวังไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
– ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
– องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
7 ข้อห้ามทำเมื่อถึงสารทจีน
1. ห้ามแต่งงานในเดือนนี้
2. ห้ามเดินทางบ่อยในเดือนนี้
3. ห้ามอยู่นอกบ้านช่วงดึกดื่นในเดือนนี้
4. ห้ามซื้อบ้าน / ห้ามย้ายบ้านในเดือนนี้
5. ห้ามเริ่มงานก่อสร้างใดๆ ในเดือนนี้
6. ห้ามดำเนินการเริ่มธุรกิจใดๆ ในเดือนนี้
7. ห้ามว่ายน้ำตอนกลางคืนในเดือนนี้
แง่คิดความจริงของวันสารทจีน
ประเพณีสารทจีนนอกจากจะเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายในการสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วม กันอย่างพร้อมหน้าและมีความสุข