วันอาสาฬหบูชา

วันที่ 24 มีค. พ.ศ.2560

วันอาสาฬหบูชา
วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

อาสาฬหบูชา , อาสาฬหปูรณมีบูชา , วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 , อาสาฬหปุรณมีดิถี , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , ปัญจวัคคีย์ , พระอัญญาโกญฑัญญะ , พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ , ธรรมเมกขสถูป , เวียนเทียน

       อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

      วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์

           ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ ดังต่อไปนี้

     1. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก คือบท "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

   2. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก

    3. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ ภายหลังจากที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบท ยกขึ้นเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

    4. เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ก็ครบถ้วนบริบูรณ์ คือ มิใช่เพียงแค่ตรัสรู้ธรรมเพียงพระองค์เดียวอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้า

 

ความสำคัญ

อาสาฬหบูชา , อาสาฬหปูรณมีบูชา , วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 , อาสาฬหปุรณมีดิถี , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , ปัญจวัคคีย์ , พระอัญญาโกญฑัญญะ , พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ , ธรรมเมกขสถูป , เวียนเทียน

       ความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชานั้น เริ่มต้นจากในครั้งพุทธกาล หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน 6 แล้วทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ หลังจากนั้นทรงพระปริวิตกว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก หมู่สัตว์ที่ยังมีกิเลสหนายากที่จะรู้เห็นตามได้ ท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบความปริวิตกของพระองค์ จึงมาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ที่มีธุลีในจักษุน้อยยังมีอยู่

     เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ผู้ยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภพสาม จึงทรงตรวจดูหมู่สัตว์ด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่มีกิเลสน้อยก็มี มีกิเลสมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่สอนง่ายก็มี สอนยากก็มี เหมือนดอกบัวที่เกิดและเจริญเติบโตในน้ำ บางพวกก็อยู่ในน้ำลึก บางพวกก็อยู่เสมอน้ำ บางพวกก็พ้นจากน้ำแล้ว คือ บางจำพวกยังไม่พร้อมที่จะบาน บางจำพวกก็พร้อมที่จะบาน เช่นเดียวกันกับหมู่สัตว์ที่พอสอนได้ก็มีอยู่ จึงทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม

     เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมกลับไปสู่พรหมโลกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงดำริว่า “เราจะแสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว” ทรงดำริต่อว่า “อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีกิเลสเบาบางมานาน หากได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมได้เร็ว เราควรแสดงธรรมแก่ท่านทั้งสองก่อน”

     เทวดาตนหนึ่งทราบพระดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงอันตรธานจากวิมานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดาบสทั้งสองนั้นได้สิ้นชีวิตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูก็ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองนั้นสิ้นชีพแล้ว จึงทรงดำริว่า “พระดาบสทั้งสองเป็นผู้ประสบความเสื่อมอย่างใหญ่แล้ว เพราะถ้าเขาได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ได้ตลอดทั้งหมดโดยฉับพลัน” ครั้นแล้ว จึงทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้ตามมาอุปัฏฐากเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ จึงเสด็จไปโปรด ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

      ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงได้นัดหมายกันและกันว่า “ท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตร จีวร ของพระองค์ เพียงแต่วางอาสนะไว้ก็พอ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จะประทับนั่ง”

      ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึง ด้วยพุทธานุภาพจึงทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งรับบาตร จีวร ของพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งวางตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท หลังจากดูแลต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พวกปัญจวัคคีย์ได้เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยระบุพระนาม และใช้คำว่า “อาวุโส”

     เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามเหล่าปัญจวัคคีย์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า อาวุโส ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์” 

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “อาวุโสโคดม ที่ผ่านมานั้นท่านได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด แต่ก็ยังไม่อาจบรรลุธรรมอันประเสริฐ ก็บัดนี้ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เล่า” 

      เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์” พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสต่อไปอีกว่า “ดูก่อนท่านทั้งหลาย ถ้อยคำเช่นนี้เราไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน เราเพิ่งพูดในบัดนี้เท่านั้น” 

     พวกปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังถ้อยคำยืนยันอย่างหนักแน่น จึงยินยอมเชื่อฟังและตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ตรัสถึงข้อปฏิบัติ 2 อย่างที่บรรพชิตไม่พึงปฏิบัติ ได้แก่

       1. การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 

       2. การทรมานตนเองให้ลำบาก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

     และทรงยกย่องทางสายกลาง คือ ข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 และ อริยสัจ 4 จบพระธรรมเทศนา ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ด้วยเหตุนี้เอง พระรัตนตรัยจึงได้บังเกิดขึ้นครบถ้วนเป็นครั้งแรก

อาสาฬหบูชา , อาสาฬหปูรณมีบูชา , วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 , อาสาฬหปุรณมีดิถี , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , ปัญจวัคคีย์ , พระอัญญาโกญฑัญญะ , พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ , ธรรมเมกขสถูป , เวียนเทียน

      เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว บรรดาเทวดาทั่วทุกชั้นฟ้าก็บันลือเสียง ตั้งแต่ภุมมเทวาไปจนถึงชั้นพรหมโลกต่างชื่นชมอนุโมทนา ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุได้ไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ก็สว่างรุ่งเรืองไปทั่ว เพราะอานุภาพของเหล่าเทวดา

     เมื่อเราได้ทราบประวัติความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชาแล้ว พวกเราชาวพุทธทุกคนจึงควรทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในโดยเร็ว ประเพณีนิยมในวันอาสาฬหบูชา 


อาสาฬหบูชา , อาสาฬหปูรณมีบูชา , วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 , อาสาฬหปุรณมีดิถี , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , ปัญจวัคคีย์ , พระอัญญาโกญฑัญญะ , พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ , ธรรมเมกขสถูป , เวียนเทียน

จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา (ธรรมเมกขสถูป)

       ปัจจุบัน สามารถสันนิษฐานได้ว่าจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา คือที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เพราะแม้ในพระไตรปิฎกจะไม่ระบุว่าจุดใดคือที่ตั้งของสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และแม้สารนาถจะถูกทำลายและถูกทอดทิ้งไปนานกว่าเจ็ดร้อยปี แต่ด้วยหลักฐานบันทึกของสมณทูตจีนที่บันทึกไว้และชื่อเรียกของสถูปแห่งนี้ที่มีนามว่า ธรรมเมกขะ ที่แปลว่า "ผู้เห็นธรรม" บอกชัดเจนว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา (ซึ่ง ธรรมเมกขะ เป็นศัพท์จากภาษาบาลีว่า ธมฺม (ธรรม) + อิกข (เห็น) แปลได้ว่า เห็นธรรม หรือสถูปที่อุทิศให้แด่ผู้เห็นธรรม ซึ่งก็ได้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรกในโลกนั่นเอง)

     สถูปธรรมเมกขะในปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดในสารนาถ แม้สถูปแห่งนี้จะถูกผู้บุกรุกพยายามรื้อถอนทำลายอย่างเป็นระบบหลายครั้ง แต่มหาสถูปองค์นี้ก็ยังคงตั้งอยู่ เป็นโบราณสถานที่เด่นที่สุดในสารนาถจนปัจจุบัน

       ปัจจุบัน หลังโบราณสถานสารนาถได้รับการบูรณะ รัฐบาลอินเดียได้มีการเทพื้นซีเมนต์รอบธรรมเมกขสถูปและตกแต่งบริเวณโดยรอบเป็นสวนหย่อม เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาและปฏิบัติธรรม


อาสาฬหบูชา , อาสาฬหปูรณมีบูชา , วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 , อาสาฬหปุรณมีดิถี , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , ปัญจวัคคีย์ , พระอัญญาโกญฑัญญะ , พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ , ธรรมเมกขสถูป , เวียนเทียน

ใจความสำคัญของปฐมเทศนา

     ก. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ 

     ๑. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค 

     ๒. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

       การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต

๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต

๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต

๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

        ข. อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

      ๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด

     ๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ

    ๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

      ๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น


     ญาณทัสนะหรือปัญญาอันรู้เห็นในอริยสัจ ๔ นั้น มีรอบ ๓ อาการ ๑๒ คือ

อาสาฬหบูชา , อาสาฬหปูรณมีบูชา , วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 , อาสาฬหปุรณมีดิถี , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , ปัญจวัคคีย์ , พระอัญญาโกญฑัญญะ , พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ , ธรรมเมกขสถูป , เวียนเทียน

    ญาณทัสนะในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้วพระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่

     จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้น พบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลยตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ ยิ่งกว่านั้นยังเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ทั้งหลายว่า การตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นปฐมนี้ ถือเป็นพระประเพณีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์

    การแสดงปฐมเทศนาในครั้งนั้นทำให้โกณฑัญญพราหมณ์ผู้เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นท่านแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกวันนี้ว่า “วันพระธรรม” หรือ “วันพระธรรมจักร” อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรกและ “วันพระสงฆ์” คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
 

อาสาฬหบูชา , อาสาฬหปูรณมีบูชา , วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 , อาสาฬหปุรณมีดิถี , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , ปัญจวัคคีย์ , พระอัญญาโกญฑัญญะ , พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ , ธรรมเมกขสถูป , เวียนเทียน

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา 

     การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาของประชาชนทั่วไปนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

       โดยแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาตามประกาศสำนักสังฆนายก ที่คณะสงฆ์ไทยได้ถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบันนี้คือให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจัดเตรียมสถานที่ก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา โดยมีการทำความสะอาดวัด และเสนาสนะต่าง ๆ จัดตั้งเครื่องพุทธบูชา ประดับธงธรรมจักร และเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก็ให้จัดการแสดงพระธรรมเทศนาตลอดทั้งวัน เมื่อถึงเวลาค่ำให้มีการทำวัตรสวดมนต์และสวดบทพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร มีการแสดงพระธรรมเทศนาในเนื้อหาเรื่องในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร นำสวดบทสรภัญญะบูชาคุณพระรัตนตรัย และให้พระสงฆ์นำเวียนเทียนบูชาพระพุทธปฏิมา อุโบสถ หรือสถูปเจดีย์ เมื่อเสร็จการเวียนเทียนอาจให้มีการเจริญจิตตภาวนา สนทนาธรรม แต่กิจกรรมทั้งหมดนี้ควรให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 24.00 น. ของวันนั้น เพื่อพักผ่อนเตรียมตัวก่อนเริ่มกิจกรรมวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ในวันรุ่งขึ้นต่อไป

        การประกอบพิธีวันอาสาฬหบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตรฯ ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014784419536591 Mins