หลักการทำหน้าที่กัลยาณมิตรไม่สร้างความเดือดร้อน
ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อหมู่ญาติหรือบุคคลอันเป็นที่รัก เราต้องมีหลักอยู่ในใจเสมอว่า เราไปในฐานะของผู้ให้ ทำให้ผู้ที่เราไปพบได้ทราบหนทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามซึ่งเป็นทางสว่างแห่งชีวิต ให้พวกเขาได้พบที่พึ่งอันเกษม ให้ได้มีโอกาสสร้างบารมี ให้มีอริยทรัพย์สำหรับติดตัวสร้างบารมีไป ข้ามภพข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้เขามาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ให้รักษาศีล หรือสร้างทานกุศลก็ดี แม้จะเป็นการแนะนำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ และเกิดอานิสงส์ แก่ตัวของเราเองมากเพียงใดก็ตาม เราจะต้องตระหนักไว้ในใจเสมอว่าอย่าให้เขาเกิดความเศร้าหมองขุ่นมัวจากการทำหน้าที่ของเรา เพราะการทำความดีต้องทำแล้วเกิดความเบิกบานผ่องใส ปีติในบุญดังนั้นหากเห็นว่าเขายังไม่พร้อมจากปัญหาส่วนตัว ครอบครัว หรือช่วงเวลาไม่เหมาะสม ขอให้เรา ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอข่าวบุญ และชี้ประโยชน์ให้เขาเห็นอย่างเต็มกำลังความสามารถของเราเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจที่จะลงมือทำความดีแต่ละประเภทนั้น ให้เป็นหน้าที่ของเขาเอง อย่าให้เขาเกิดความรู้สึกว่า เป็นผู้ไปสร้างความเดือดร้อนแก่ตัวเขาและครอบครัวเด็ดขาด ในทางตรงกันข้าม นอกจากเราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไปให้หนทางสวรรค์นิพพานแก่เขาแล้ว ต้องให้ผู้ที่เราไปทำหน้าที่นั้นเกิดความรู้สึกเฉกเช่นตัวเราอีกด้วย
พุทธพจน์ต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้กำหนดว่าเป็นคุณสมบัติของผู้เป็นกัลยาณมิตร แต่ก็นับได้ว่าเป็นคุณสมบัติร่วมในการเป็นกัลยาณมิตรได้เหมือนกัน
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 6 ประการ เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนและผู้อื่น ธรรม 6 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1.เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย
2.เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว
3.พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำแล้ว
4.รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
5.เป็นผู้มีวาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้ประโยชน์
6.เป็นผู้ชี้แจงพรหมจารีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม 6 ประการนี้แล เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น”