ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

วันที่ 09 กย. พ.ศ.2557

ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

    การทำหน้าที่กัลยาณมิตร นอกจากจะต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองแล้ว ในฐานะที่เป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่อันประเสริฐที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับบุคคลอื่นด้วย บุคคลผู้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรจึงเป็นบุคคลสำคัญ เพราะหน้าที่ของการเป็นกัลยาณมิตรนั้น ยังก่อให้เกิดคุณูปการต่างๆแก่เพื่อนมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งแก่ชีวิตในปัจจุบันและชีวิตในปรโลก ดังเช่นครั้งหนึ่งพระอานนท์ทูลถามพระพุทธองค์ว่า “กัลยาณมิตรนี้ มีความสำคัญเท่ากับครึ่งหนึ่ง ของการประพฤติ พรหมจรรย์ได้หรือไม่”

ซึ่งพระองค์ตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น กัลยาณมิตรมีความสำคัญเท่ากับ พรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว”

      และพระองค์ยังตรัสอีกว่า  “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย เมื่อบุคคลมีกัลยาณมิตร กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้นและอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป”

     “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรมเหมือนความมีกัลยาณมิตร”

    การที่บุคคลใดมีกัลยาณมิตร  ย่อมจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า  และหวังได้ว่าจะทำให้ได้โอกาสในการพัฒนา ฝึกฝนอบรมตนเอง ให้มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป จักเป็นผู้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้ร่วมสนทนาในเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะขัดเกลาอุปนิสัย ชำระจิตใจให้ปลอดโปร่ง เช่น เรื่องความมักน้อย เรื่องการบำเพ็ญเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ฯลฯ จะทำให้เป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียรเพื่อกำจัดอกุศลธรรม และเพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมให้เพียบพร้อม จักเป็นผู้แข็งขัน บากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรม เป็นต้น

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010710517565409 Mins