ความพร่องและความต้องการของบุคคลทั่วไปที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 09 กย. พ.ศ.2557

ความพร่องและความต้องการของบุคคลทั่วไปที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

ความพร่องและความต้องการของบุคคลทั่วไปที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ผู้จะทำหน้าที่นี้จะต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่า บุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้เขานั้น เขาทั้งหลายต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีความต้องการเช่นเดียวกับเรา และยังมีความไม่สมบูรณ์พร้อมอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือยังมีความพร่องอยู่ ซึ่งความพร่องของทุกคนนั้น สามารถจำแนกได้อยู่ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่

       1.พร่องสมบัติ คือ มีทรัพย์สมบัติไม่ค่อยจะพอ จนกระทั่งต้องทำมาหากิน ประกอบอาชีพกันตลอดชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติของคนทั่วไป ที่ต่างต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้ทรัพย์มา

   2.พร่องกำลังใจ คือ บุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะมีความเก่งกาจสามารถขนาดไหน เวลาทำงานก็จะต้องเจออุปสรรคเป็นธรรมดา ถ้าหากมีอุปสรรคแค่เพียงเล็กน้อยก็พอแก้ไขด้วยตนเองได้ แต่หากเจออุปสรรค หนักๆ เข้า กำลังใจก็ย่อมจะถดถอยได้ ดังนั้น บุคคลทั้งหลายจึงยังต้องการกำลังใจ ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬา ถ้าไม่มีคนเชียร์ หรือว่าไม่มีคนแข่งขันด้วย เกมก็ไม่สนุก เพราะฉะนั้นพอกำลังใจพร่องก็ต้องมีคนเชียร์

     3.พร่องความรู้ความสามารถ กล่าวคือ มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แล้วจึงมาเรียนรู้กันในภายหลังทั้งนั้น แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถเรียนให้จบครบถ้วนถึงความรู้ในโลกนี้ได้ทั้งหมด แม้จะให้มนุษย์มีอายุยืนยาวเป็นพันปีก็ตาม เพราะฉะนั้น ความรู้ความสามารถของคนเรา จึงพร่องอยู่ตลอดเวลา ยิ่งการงานก้าวหน้า ความรู้ที่มีอยู่ยิ่งไม่ทันงาน ก็ต้องไปหาคนมาสอนหรือแนะนำเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้

      4.พร่องความปลอดภัย กล่าวคือ ในขณะที่ทำงานไป ก็ต้องคอยระมัดระวังความปลอดภัยไปด้วย ทั้งความปลอดภัยจากงานที่ทำ และความปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ ที่อาจจะมีความไม่ชอบเห็นความเจริญก้าวหน้าของเรา ดังสุภาษิตที่ว่า “ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน” เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง เพราะแม้เราจะยังไม่เก่งก็มีภัยมากเก่งมากนักก็ยิ่งมีภัยมาก เพราะฉะนั้นเมื่อความปลอดภัยพร่องไป ก็ต้องหามาเติมให้เต็ม จนกระทั่งภัยนั้นหมดไป เป็นต้น


      ดังนั้น เมื่อเราทราบว่ามนุษย์ล้วนมีความพร่องในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้จำแนกไว้ 4 หมวดดังกล่าว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร ที่จะไปเติมเต็มสิ่งบกพร่องของเพื่อนมนุษย์ดังกล่าวให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งการจะเติมเต็มความบกพร่องดังกล่าวนี้ กระทำได้โดยการเป็นผู้ให้ และให้ในสิ่งที่พร่อง 4 ประการ ได้แก่

     1.ทาน คือ การให้ กล่าวคือ เมื่อถึงคราวที่เพื่อนขาดทรัพย์สมบัติเรามีอะไรแบ่งปันกันได้ก็แบ่งปันช่วยเหลือจุนเจือกันไป

     2.ปิยวาจา คือ การให้คำพูดเป็นกำลังใจ เพราะบางคนเมื่อถึงคราวป่วยไข้ หรือเจออุปสรรค แม้แต่มีการกระทบกระทั่งกันเองในครอบครัว ก็ต้องการกำลังใจ ทั้งนี้สิ่งที่จะทอนกำลังใจมนุษย์นั้น ไม่มีอะไรเกินกว่าคำพูดที่แสลงใจ และสิ่งที่จะเพิ่มพูนกำลังใจให้มนุษย์ ก็ไม่มีอะไรเกินคำพูดที่ไพเราะ อันเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจกันของมนุษย์นั่นเอง

     3.อัตถจริยา คือ การให้ความช่วยเหลือด้วยการกระทำ เช่น หากมีเรี่ยวแรง มีความรู้ มีความสามารถก็ไม่หวง และหากสามารถแนะนำอะไรได้ ก็ให้คำแนะนำ ความสามารถอะไรที่มีอยู่ ถ้าสามารถช่วยได้ ก็ทุ่มเทกำลังกาย ทุ่มเทศิลปะ ทุ่มเทเทคโนโลยี ช่วยให้เพื่อนหรือผู้ยังพร่องอยู่นั้น สมบูรณ์ขึ้นมาได้

     4.สมานัตตตา คือ มีความจริงใจให้การสนับสนุนกัน อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ถึงคราวเพื่อนได้ดี ก็ดีใจด้วย ไม่อิจฉา ตาร้อนมีจิตมุทิตา ดีใจด้วยกับเพื่อนที่ได้ตำแหน่งเพิ่มขึ้น หรือว่าดีใจด้วยที่เพื่อนได้กำไรมาก แม้จะมากกว่าเราก็ตามเป็นต้น

    เมื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตรเช่นนี้ คือให้ทั้งสิ่งของ ให้คำพูด ให้กำลังกาย ให้กำลังใจ ทำตัวเสมอต้น เสมอปลาย ย่อมถือว่าเป็นการให้ความปลอดภัยแก่กัน ผลที่เกิดขึ้น นอกจากเราจะสามารถสร้างเครือข่าย คนดีแล้ว ยังจะทำให้เรามีกัลยาณมิตรรอบข้างได้อย่างมากมายอีกด้วย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028296033541361 Mins