ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตรทางวาจา
การทำหน้าที่กัลยาณมิตรทางวาจาในที่นี้หมายถึง การทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยการใช้คำพูดและคำแนะนำ แม้กระทั่งเป็นคำเตือนแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย โดยตั้งอยู่บนความปรารถนาดีและความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ นั่นคืออาศัยความเป็นกัลยาณมิตรหรือมิตรที่ดีด้วยการใช้คำพูดที่ดีงาม เพื่อแนะนำบุคคลทั้งหลายให้รู้จักสิ่งที่มีประโยชน์และมีความประเสริฐต่อชีวิต อย่างไรก็ตามในการพูดนั้น เรื่องของมารยาทการพูด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาในเรื่องมารยาทการพูดที่ดีงาม เช่น บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่พูดวาจาที่เป็นเท็จ ไม่พูดวาจาอันทำความแตกร้าว ไม่พูดวาจาส่อเสียด ไม่มุ่งเอาชนะกันด้วยการกล่าววาจาอันเกิดจากความแข่งดีกัน กล่าวแต่วาจาอันมีหลักฐานด้วยปัญญา กล่าวตามกาลอันสมควร
3.1 หลักการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยวาจา
ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่นักพูดที่มีความชำนาญหรือเป็นนักบรรยายที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ เราจะต้องรู้จักวิธีการพูดและวิธีการสื่อสาร เพื่อนำเอาสิ่งที่ดีและความปรารถนาดีภายในจิตใจของเรา ให้ผู้ที่เราไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น รับทราบและเข้าใจในวัตถุประสงค์ของเรา ซึ่งการจะฝึกฝนตนเองให้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ดีงาม ให้กับบุคคลทั้งหลายได้ทราบและนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดคุณค่ากับชีวิตนั้น เราจะต้องเข้าใจถึงวิธีการพูดที่เหมาะสม ดังที่ได้ศึกษามาแล้วว่า ผู้ที่ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น มีหน้าที่สำคัญประดุจนักการทูต คือเป็นบุคคลที่จะเป็นสื่อนำความปรารถนาดีไปมอบให้กับบุคคลทั้งหลาย ซึ่งลักษณะของนักการทูตที่ดีนั้น มีดังนี้
1.ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ
2.เมื่อถึงคราวพูดก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง
3.รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด
4.จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด
5.เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง
6.ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้
7.ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
8.ไม่พูดชวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท
จากลักษณะทั้ง 8 ประการดังกล่าว สามารถนำมาเป็นหลักการ เพื่อจะได้ศึกษาเปรียบเทียบจาก เรื่องราวในพระไตรปิฎก ซึ่งกล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับอสูรตนหนึ่ง ซึ่งจะพบว่าพระพุทธองค์ทรงมีกุศลวิธีในการอธิบายและยกอุปมาอุปมัย นอกจากจะมีความงาม ความไพเราะแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่มีการหักล้างหรือมีลักษณะกล่าวขัดแย้ง กับผู้ที่พระองค์ร่วมสนทนาแต่อย่างใด ดังตัวอย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับอสูรชื่อ “ ปหาราทะ” ดังปรากฏอยู่ใน “ปหาราทสูตร” ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา ที่เนฬรุยักษ์สิงสถิตใกล้กรุงเวรัญชาครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง “ดูก่อนปหาราทะ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทรบ้างหรือ” ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนปหาราทะ ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาสักเท่าไรที่พวกอสูรเห็นแล้ว ย่อมอภิรมย์”
ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า+ “มี 8 ประการ พระเจ้าข้า 8 ประการเป็นไฉน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญมหาสมุทรลาดลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรลาดลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 1 ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่งนี้ เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 2 ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพและในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 3 ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมหมดถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมเปลี่ยนนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 4 ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศ ตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฎว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฎว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ 5 ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ 6 ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิดในมหาสมุทรมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรนั้นมีรัตนะ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาประการที่ 7 ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ 100 โยชน์ 200 โยชน์ 300 โยชน์ 400 โยชน์ 500 โยชน์ ก็มีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ และสิ่งที่ มีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาคคนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ 100 โยชน์ 200 โยชน์ 300 โยชน์ 400 โยชน์ 500 โยชน์ ก็มีอยู่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 8 ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วจึงอภิรมย์อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้แลธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา 8 ประการ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึง อภิรมย์อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้บ้างหรือ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้”
ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสักเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ มี 8 ประการ ปหาราทะ 8 ประการเป็นไฉน ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรลาดลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรง ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ในธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับมีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 1 ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็น แล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่”
ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่งฉันใด สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุ แห่งชีวิต ดูก่อน ปหาราทะ ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการ ที่ 2 ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรมมีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติ พรหมจรรย์เน่าในชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา
ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปกรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 3 ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูก่อนปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ 4 เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่า ศากยบุตรทั้งนั้น ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่วรรณะ 4 เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งนั้น นี้เป็นธรรมที่ น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 4 ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูก่อนปหาราทะ แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุ ก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 5 ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือวิมุตติรส ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยมีรสเดียว คือ วิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 6 ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ก็มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 7 ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งที่มีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ 100 โยชน์ 200 โยชน์ 300 โยชน์ 400 โยชน์ 500 โยชน์ มีอยู่ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ ก็เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนี้ มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามีท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนี้มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ 8ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ดูก่อนปหาราทะในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา 8 ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่”
เรื่องราวที่ยกมาเป็นตัวอย่างของการสนทนา ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับปหาราทะจอมอสูรนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงมีกุศลวิธร ในการอธิบายเปรียบเทียบความคิด ความเห็นของอสูรกับธรรมะในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการเทียบเคียงโดยมิได้มีการแสดงความขัดแย้งความเห็นกันเลย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยความมีมิตรภาพระหว่างคู่สนทนา ถึงแม้จะยังมีความคิดความเห็นที่ยังไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันแม้พระพุทธธรรมคำสอนนั้น จะมีความประเสริฐเลิศกว่าคำสอนใด แต่พระพุทธองค์ก็มิได้กล่าวข่มให้จอมอสูรเกิดความด้อยค่าลง
จากเรื่องราวดังกล่าวนี้ สามารถนำมาเปรียบกับหลักการที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า มีลักษณะของ การพูดแบบนักการทูต คือ ฟังความคิดของผู้อื่น ไม่ด่วนขัดแย้ง แม้คราวได้โอกาสอธิบาย ก็อธิบายได้อย่าง น่าฟัง เนื้อหาตรงประเด็นกะทัดรัด ฉลาดในการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ และไม่ชวนให้เกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท ทั้งนี้ ผู้ที่จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร สามารถนำเอามาเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่พระพุทธองค์ทรงอธิบายได้อย่างชัดเจน มีเนื้อหาที่สามารถเทียบเคียงกับสิ่งที่จอมอสูร ปหาราทะได้ยกนำมากล่าวได้ทุกประเด็น สิ่งนี้แสดงสะท้อนให้เป็นตัวอย่างของ การทำหน้าที่กัลยาณมิตรว่า เราจะต้องมีความรู้และมีข้อมูลในการที่จะสนทนาในเรื่องใดเป็นอย่างดี