การบูรณาการความรู้ทางการบริหารและการจัดการเพื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2557

SWOT , กัลยาณมิตร , Strength , Weakness , Opportunity , Threat , พระพุทธศาสนา

การบูรณาการความรู้ทางการบริหารและการจัดการเพื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตร

      การทำหน้าที่กัลยาณมิตรถ้าหากเป็นการทำตามอารมณ์ หรือตามแต่จะเกิดความอยากจะทำก็อาจจะทำให้มีการพัฒนาทักษะในการทำหน้าที่นี้ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าหากเกิดความตระหนักในการทำหน้าที่นี้ เพราะนอกจากเห็นอานิสงส์ เห็นคุณค่าและเห็นว่ามีความสำคัญที่จะต้องทำแล้ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะ ตลอดจนมีการนำวิทยาการต่างๆ มาใช้ในลักษณะที่เรียกว่า “ บูรณาการไ ดังเช่น ความรู้ทางด้านการบริหารและการจัดการที่ทันสมัย หรือในสิ่งที่การบริหารสมัยใหม่กำลังมีความนิยมนำมาใช้เพื่อการพัฒนาการทำงานในแต่ละองค์กร ดังเช่น นักบริหารการจัดการด้านธุรกิจท่านหนึ่งได้อธิบายไว้ ดังความสรุปเป็นตอนๆ ดังนี้


ก.ทำไมต้องนำวิธีการบริหารการจัดการยุคใหม่มาใช้กับการทำหน้าที่กัลยาณมิตร ?

     การที่เราจำเป็นต้องมีการบริหารฯ ยุคใหม่ ทั้งนี้เพราะเรามีเป้าหมายยิ่งใหญ่ ที่จะเผยแผ่คุณธรรม ออกไปสู่สังคมในวงกว้าง ทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก แต่เพราะเรามีเวลาชีวิตจำกัด ทรัพยากรก็จำกัด หมายถึง บุคลากร เช่น พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรก็มีจำกัด ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น เราจึงควรที่จะปรับปรุงและหาวิธีการที่เหมาะสมกับข้อจำกัดดังกล่าว เพื่อจะทำให้การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด


ข.อะไรคือการบริหารยุคใหม่ ?

    นักบริหารท่านดังกล่าวอธิบายอีกว่า ที่เรียกว่าการบริหารยุคใหม่ อาจจะศึกษาได้จากวิธีการที่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังนำมาใช้ เช่น หาใช้วิธีการบริหาร ที่มีขั้นตอนย่อๆ ว่า SWOT

S มาจาก Strength แปลว่า จุดแข็ง

W  คือ Weakness แปลว่า จุดอ่อน

O  คือ Opportunity คือ โอกาส

T   คือ Threat คือ ภัยคุกคาม

      เราต้องศึกษาว่าจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและ ภัยคุกคามของตัวเราอยู่ตรงไหน ทำไมเราต้องรู้ ก่อนที่เราจะไปฟังอะไร กำหนดอนาคตอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเองก่อน การทำหน้าที่กัลยาณมิตรจึงจะประสบผลสำเร็จได้ กล่าวคือ

    Strength หมายถึง จุดแข็งของเราคืออะไร เช่น จุดแข็งของหน่วยงานเรา ก็คือ ครูบาอาจารย์ ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของทุกคน เพราะว่าท่านเป็นจุดรวมใจ คือ ที่สุดจริงๆ การจะดำเนินกิจกรรมทุกอย่าง ให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ล้วนเกิดจากบารมีของท่าน เป็นต้น

       Weakness หมายถึง จุดอ่อนของเรา เช่น ขณะนี้องค์กรของเราอาจจะขยายไปมาก จนเราไม่ทราบว่าใครเป็นใคร ใครคือเจ้าหน้าที่หรือสมาชิกใหม่ ใครคือคนเก่า ใครคือคนที่มาช่วยเราได้ ถ้าเราไม่มีอะไรมารองรับ เช่น ถ้าเราไม่มีระบบข้อมูล เราไม่มีเรื่องของไอที หรือไม่มีระบบงาน และไม่มีการดำเนิน-งานมารองรับ จะทำให้องค์กรมีความน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะเรายังอยู่ภายใต้จำนวนเจ้าหน้าที่ที่จำกัด ทรัพยากรจำกัด คนเข้ามา เราไม่รู้ว่า ใครเป็นใคร    อีกส่วนหนึ่ง ในขณะเดียวกัน จุดอ่อน ก็อาจจะเนื่องจากครูบาอาจารย์เหมือนกัน เพราะท่านคือจุดแข็งขององค์กร เพราะฉะนั้น เราต้องดูแลท่านอย่างดี และเรายึดท่านเป็นหลัก ช่วยแบ่งภาระงานท่านให้มากที่สุด

     Opportunity คือ โอกาส โอกาสขององค์กรของเรา ที่จะขยายงานการทำหน้าที่กัลยาณมิตรอยู่ตรงไหน เช่น ในบรรดาคนที่ได้มาเป็นกัลยาณมิตรซึ่งมีจำนวนมากๆ ในจำนวนนั้น จะต้องมีคนเก่งคนดี มีแต่ละคนที่ดีเลิศ เรามีผู้ศรัทธาระดับยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ระดับใหญ่ๆ มีความสามารถมาก ประสบความสำเร็จในธุรกิจการงาน และมีชื่อเสียง บุคคลเหล่านี้นั่นเอง คือโอกาสในการช่วยงานพระพุทธศาสนา ทำอย่างไรที่จะให้ท่านเหล่านั้นมาช่วยงานการขยายเครือข่ายคนดีได้ นี่คือโอกาส ทำยังไงจะใช้ศักยภาพและฝีมือของแต่ละท่าน มาช่วยงานทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้ได้มากๆ เพื่อระดับความยากของงานสำหรับบุคลากรจะได้ลดลงไป

     Threat คือ ภัยคุกคามจากภายนอก ยกตัวอย่าง เช่น ภาพพจน์ขององค์กรที่อาจจะยังไม่เป็นที่เข้าใจของบุคคลภายนอก ทำให้การจะไปแนะนำและทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับบุคคลต่างๆ เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น สิ่งนี้คือภัยคุกคาม ทำอย่างไร เราถึงจะแก้ภาพพจน์ได้

 

     อย่างไรก็ตาม วิธีการต่างๆ ที่เราได้มีการปรับปรุงและเชื่อว่าใช้แล้วบังเกิดผลดี สิ่งนั้นเราต้องรู้ รู้แล้วก็ต้องไปกำหนดอนาคต พอรู้อนาคต เช่น จากวันนี้เราจะกำหนดว่า เราอยากไปถึงเป้าหมาย จะทำได้อย่างไร วิสัยทัศน์เราเป็นอย่างไร เรามาระบุเป้าหมาย ทางองค์กรของเราเองก็ต้องมีการกำหนดวิธีการ ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย บรรลุวิสัยทัศน์นั้นๆ และเรามักจะได้ยินว่า องค์กรทางศาสนาอันเป็นองค์กรที่อยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชนนั้น ซึ่งนอกจากจะไม่แสวงหาผลกำไรแล้ว ยังไม่ค่อยรู้จักการนำเอาวิทยาการบริหารสมัยใหม่มาใช้ ดังนั้น สิ่งที่เป็นเรื่องน่าท้าทายตามมา ก็คือ การที่จะประยุกต์ และประสาน หรือบูรณาการ ความรู้ในเชิงบริหารธุรกิจเหล่านั้น กับองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนา มาใช้ให้เกิดความกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไร ซึ่งจากวิธีการดังกล่าว ทำให้เราได้ข้อคิดหลายประการ และมีข้อสังเกตที่สำคัญตามมา ก็คือ วิธีการดังกล่าวจะบังเกิดผลดีได้ เราจะต้องลงมือทำและนำวิธีการนั้นนำมาใช้อย่างเหมาะสม

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0061319351196289 Mins