เดินตามทางของบัณฑิต ( ตอนที่๕ )

วันที่ 02 สค. พ.ศ.2549

 

.....การฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง เป็นทางมาแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาล เป็นบุญพิเศษที่จะเป็นเหตุให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และความสำเร็จในชีวิตของเรา มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ “บุญ” บุญจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มีโอกาสทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอย่างเต็มที่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระบรมสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งมีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งหมดนี้ จะได้มาต้องอาศัยบุญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น บุญจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเราทุกคน

 

มีวาระพระบาลีใน สุธาโภชนชาดกว่า

 

“เยเกจิเม สุคฺคติมาสสานา

ธมฺเม ตา สํยเม สํวิภาเค

อิเธว นิกฺขิปฺป สรีรเทหํ

กายสฺส เภทา สุคตึ วชนฺติ

 

.....ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง หวังสุคติสวรรค์เป็นที่ไปใน เบื้องหน้า ตั้งอยู่ในธรรม คือ ความสำรวมและการแจกทาน ชนเหล่านั้น ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ย่อมไปสู่สุคติ”

 

.....การให้ทาน การสำรวมกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์เสมอ เป็นหนทางแห่งบุญที่สัปบุรุษทั้งหลายต่างตระหนัก และเห็นคุณค่าอย่างยิ่ง คนเราเมื่อประกอบเหตุอย่างไร ผลที่ออกมาย่อมจะเป็นอย่างนั้น เหมือนปลูกถั่วก็ได้ถั่ว ปลูกงาก็ได้งา ผู้ที่มีดวงปัญญาเป็นนักสร้างบารมี รู้เช่นนี้แล้ว ควรจะแสวงหาหนทางที่ตนจะได้บำเพ็ญบุญ เพราะรู้ถึงผลที่จะบังเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำไปนี้ ย่อมเป็นของเรา จะไม่สูญหายไปไหน ยังเป็นทางมาแห่งบุญที่จะอำนวยให้เราสมปรารถนาในทุกสิ่ง

 

.....บัณฑิตทั้งหลายผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ ผู้หวังสุคติสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า จึงรักในการฝึกฝนอบรมตนเอง สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปกระทบกระทั่งใคร ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ จะขวนขวายหาโอกาสสั่งสมบุญเสมอ เพราะเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ และจะต้องขนเสบียงบุญติดไปในภพเบื้องหน้า ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

.....หากได้มีโอกาสศึกษาประวัติของนักสร้างบารมีทั้งหลาย เราจะได้เห็นต้นแบบแห่งการบำเพ็ญบุญว่า ท่านเป็นบัณฑิต นักปราชญ์อย่างแท้จริง จะคอยแสวงหาโอกาสสร้างบุญ อย่างเต็มกำลังความสามารถตลอดเวลา เพราะท่านตระหนัก ดีว่า การสั่งสมบุญเป็นภารกิจหลักของชีวิต เหมือนดังเรื่อง “เดินตามทางของบัณฑิต” เรื่องนี้

 

.....*เมื่อท้าวสักกเทวราช จันทเทพบุตร สุริยเทพบุตร ต่างอาศัยความกรุณา ลงจากเทวโลกเพื่อมาโปรดและปราบความเห็นผิดของท่านเศรษฐี โดยหวังจะให้กลับจิตกลับใจใหม่ เพื่อให้หันมาบริจาคทาน อันเป็นบันไดก้าวแรกของการไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เทพบุตรแต่ละท่านแปลงเป็นพราหมณ์เข้าไปขอข้าวปายาส และได้สรรหาถ้อยคำที่โน้มน้าวใจ ให้ท่านเศรษฐียินดีในการให้ทาน

 

.....เมื่อมาถึงวาระของมาตลีเทพบุตรบ้าง ท่านสามารถกล่าวปิยวาจา ถึงขนาดเมื่อเศรษฐีฟังแล้ว รู้สึกหนักใจที่จะไม่ให้ แต่ครั้นจะให้ก็กลัวว่า ข้าวปายาสคงไม่เหลือแน่ เพราะมีพราหมณ์ ผู้ไม่ได้รับเชิญ มารอบริโภคภัตของตนถึง ๓ คน แต่ถ้าจะไม่ให้ก็อึดอัด ส่วนความตระหนี่ที่ฝั่งแน่นอยู่ในใจนั้น ก็ยังไม่หลุดออกไปเลยทีเดียว มันรบกันไปรบกันมาอยู่ภายใน ระหว่างให้กับไม่ให้ เมื่อกุศลจิตส่งผลก่อน จึงได้แต่พูดด้วยความลำบากใจว่า “เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด เราจะให้หน่อยหนึ่ง” มาตลีเทพบุตร จึงไปนั่งถัดจากสุริยเทพบุตร

 

.....ต่อมา ปัญจสิขเทพบุตรได้เข้าไปหาท่านเศรษฐีอีก โดยกล่าวโน้มน้าวใจว่า “ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว ผู้นั้นเท่ากับกลืนกินเบ็ดอันมีสายยาวพร้อมทั้งเหยื่อ เพราะเหตุนั้น ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะผู้ปริโภคคนเดียวหาได้มีความสุขไม่”

 

.....มัจฉริยโกสิยเศรษฐีได้สดับคำนั้น ถึงกับถอนหายใจยาวๆ เพราะความตระหนี่ยังกลุ้มรุมจิตใจ แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยง จึงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ได้แต่กล่าวเชื้อเชิญ ให้นั่ง เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๕ ท่าน นั่งพร้อมกันแล้ว ข้าวปายาส ก็สุกพอดี เศรษฐียกข้าวปายาสลงจากเตา และบอกให้พราหมณ์ ไปหาใบไม้มาคนละใบ พราหมณ์แต่ละท่านไม่จำเป็นต้องลุกขึ้น ท่านนั่งอยู่ที่เดิม พลางเหยียดมือไปนำใบย่านทรายมาจาก ป่าหิมวันต์

 

โกสิยเศรษฐีเห็นใบไม้ใหญ่เกินไป จึงบอกให้ไปเอาใบ

.....ตะเคียนใบเล็กๆ พราหมณ์จำแลงก็นำใบตะเคียนมา ใบไม้แต่ละใบ ที่นำมานั้นใหญ่ประมาณเท่าโล่ของทหาร โกสิยเศรษฐีตักข้าวปายาสให้พราหมณ์คนละทัพพี แต่ดูเหมือนว่าข้าวปายาสก็หาพร่องลงไปถึงก้นหม้อไม่ นั่นเป็นเพราะเทวานุภาพ

 

.....ครั้นเศรษฐีได้ให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๕ ท่านแล้ว ตนเองนั่งจับหม้อไว้ หวังจะรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย ทันใดนั้นเหตุการณ์ที่เศรษฐีไม่คาดฝันมาก่อนก็เกิดขึ้น นั่นคือ ปัญจสิขเทพบุตรลุกขึ้นแปลงร่างเป็นสุนัขดำตัวใหญ่ เข้าไปยืนตรงหน้าของพวกพราหมณ์ และถ่ายปัสสาวะ พวกพราหมณ์เอามือปิดข้าวปายาสของตนไว้ หยาดน้ำปัสสาวะก็กระเซ็นถูกหลังมือของโกสิยเศรษฐี พวกพราหมณ์จึงเอาเต้าน้ำไปตักน้ำเพื่อล้างมือให้สะอาด โกสิยเศรษฐีก็ร้องขอน้ำล้างมือบ้าง แต่พวกพราหมณ์ไม่ยอมให้

 

.....เศรษฐีจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงช่วยดูหม้อข้าวให้เราด้วย เราจะลงไปล้างมือที่ท่าน้ำ จากนั้นท่านเศรษฐีรีบเดินลงไปที่แม่น้ำ ขณะนั้นเอง สุนัขดำได้ถ่ายปัสสาวะลงไว้จนเต็มหม้อข้าว เศรษฐีกลับมาเห็นสุนัขกำลังถ่ายปัสสาวะ จึงเอาท่อนไม้ใหญ่มาขู่ตวาดสุนัขให้หนีไป แต่สุนัขกลับตัวขยายใหญ่ ประมาณเท่าม้าอาชาไนยไล่ติดตามเศรษฐี แล้วเปล่งรัศมีออก มีสีต่างๆ สีดำบ้าง สีขาวบ้าง สีคล้ายทองคำบ้าง ไล่ติดตามมัจฉริยโกสิยเศรษฐีไป

 

.....เศรษฐีกลัวต่อมรณภัย จึงวิ่งเข้าไปขอความช่วยเหลือจากพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์กลับเหาะขึ้นไปยืนอยู่บนอากาศ เศรษฐีเห็นอิทธิฤทธิ์ของพวกพราหมณ์ก็รู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนักว่า ทำไมพราหมณ์เหล่านี้มีฤทธานุภาพ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ จึงร้องถามว่า “พวกท่านมีผิวพรรณงามจริงหนอ เหตุไฉนสุนัขของท่านจึงเปล่งรัศมีต่างๆ ได้ ข้าแต่พราหมณ์ผู้มีอานุภาพ พวกท่านเป็นใครกัน”

 

.....ท้าวสักกเทวราชตรัสตอบว่า “ดูก่อนเศรษฐี คนนี้คือจันทเทพบุตร นี่คือสุริยเทพบุตร และผู้นี้คือมาตลีเทพสารถี ส่วนเราคือท้าวสักกะจอมเทพ สุนัขดำที่มีรูปร่างงดงามนี้เป็น ปัญจสิขเทพบุตร พวกเราเคยเป็นญาติของท่าน ที่ต้องจำใจลงมาจากเทวโลกก็เพื่อมาสงเคราะห์ท่านอย่างเดียวเท่านั้น“

 

.....เศรษฐีได้สดับถ้อยคำของท้าวสักกะแล้ว รู้สึกสงสัยว่า ตนมีญาติเป็นถึงจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ได้ไต่ถามความสัมพันธ์ว่าเป็นญาติกันตั้งแต่เมื่อไร

 

.....ความจริงจะปรากฏเป็นเช่นไร ท่านเศรษฐีจะคล้อยตามคำแนะนำของอดีตหมู่ญาติ และหันกลับมาบริจาคทาน ตามที่หมู่ญาติได้ประพฤติปฏิบัติกันมาหรือไม่ ติดตามในตอนต่อไป

 

.....สำหรับข้อคิดที่อยากฝากทุกๆ คน คือ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที ต้องทำความดีให้เต็มที่ ไม่ต้องมัวรอคอยให้ใครมาบังคับหรือจํ้าจี้จํ้าไช เราต้องคิดทำเอง ต้องเปลี่ยนจากฝืนใจทำ มาเป็นตั้งใจทำ เต็มใจทำ และทำอย่างต่อเนื่อง คิดแต่เรื่องสงเคราะห์โลกที่จะยกตนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ไปสู่ที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน

(*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๕)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012502471605937 Mins