เดินตามทางของบัณฑิต

วันที่ 09 สค. พ.ศ.2549

 

การทำภารกิจการงานในทางโลกก็ดีหรือการประพฤติปฏิบัติธรรม

.....เจริญสมาธิภาวนาก็ดี ต้องหมั่นทำบ่อยๆ หมั่นตรึกหมั่นนึกถึงบ่อยๆ เช่นนี้แล้วเราย่อมจะประสบความสำเร็จโดยง่าย สิ่งใดที่เราหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะเกิดความชำนาญ เหมือนทางไหนที่เดินบ่อยๆ ก็จะโล่งเตียน หนทางภายใน ก็เช่นเดียวกัน ถ้าดำเนินจิตเข้าไปในหนทางสายกลางบ่อยๆ หยุดนิ่งอยู่ตรงกลางอย่างสมํ่าเสมอทุกๆ วัน เราย่อมจะเข้าถึงจุด

 

.....แห่งความสมปรารถนาได้ ดังนั้น ภารกิจกับจิตใจต้องควบคู่กันไป ใจที่ละเอียดที่ใสบริสุทธิ์นั้นจะดึงดูดแต่สิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตของเรา

 

พระทีปังกรพุทธเจ้า ได้ตรัสพุทธพจน์ไว้ ในขุททกนิกาย พุทธวงศ์ว่า

.....“ทาน ท่านกล่าวว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของความสุข เป็นที่ตั้งแห่งบันไดที่ไปสู่พระนิพพาน ทานเป็นเครื่องป้องกันของมนุษย์ ทานเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นเครื่องนำหน้า เป็นคติสำคัญของสัตว์ที่ถึงความทุกข์ ทานท่านแสดงว่าเป็นนาวา เพราะเป็นเครื่องช่วยข้ามทุกข์ และทานท่านสรรเสริญว่าเป็นนคร เพราะช่วยป้องกันภัย ทานเป็นดังดอกปทุม เพราะมลทินคือความโลภฉาบทาไม่ได้ ที่พึ่งพาอาศัยของบุรุษ เสมอด้วยทานไม่มีในโลก เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญทาน นรชนคนไรเล่า ผู้มีปัญญาในโลกนี้ ผู้ยินดีในประโยชน์เกื้อกูล จะไม่พึงให้ทาน ที่เป็นเหตุแห่งโลกสวรรค์ นรชนคนไรเล่า

 

.....เมื่อได้ยินว่าทานเป็นแดนเกิดสมบัติในเทวโลก จะไม่พึงให้ ทานอันให้ถึงซึ่งความสุข ทานเป็นเครื่องยังจิตให้ร่าเริง นรชนบำเพ็ญทานแล้ว ย่อมเป็นผู้อันเทพอัปสรห้อมล้อม รื่นรมย์ในนันทวันของเทวดาตลอดกาลนาน ผู้ให้ย่อมประสบเกียรติเป็นอันมาก ย่อมเป็นผู้อันมหาชนไว้วางใจ ทานเป็นทรัพย์ไม่ทั่วไปแก่ภัยทั้งหลาย คือ โจรภัย อริภัย ราชภัย อุทกภัย และอัคคีภัย ทานนั้นย่อมให้สาวกญาณภูมิ ปัจเจกพุทธภูมิ ตลอดถึงพุทธภูมิ”

 

.....การให้ทานเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด และมีความสำคัญต่อตัวเรามากที่สุด แม้พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สมัยเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านสอนเสมอว่า “จะสร้างบุญบารมีอะไรก็ทำไปเถิด แต่ว่าอย่าขาดทานบารมี” เพราะการบำเพ็ญทานเป็นทางมาแห่งบุญกุศล เป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำเราไปสู่เทวโลก และมุ่งสู่เป้าหมายอันสูงสุด คือ อายตนนิพพาน

 

.....สืบความจากตอนที่แล้ว พราหมณ์จำแลงทั้ง ๕ ท่าน ตั้งแต่ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นหัวหน้าทีม มาตลีเทพบุตร สุริยเทพบุตร จันทเทพบุตร และปัญจสิขเทพบุตร ได้ตัดสินใจลงจากเทวโลก เพื่อมาทรมานมัจฉริยโกสิยเศรษฐี ให้กลับจิตกลับใจจากความเห็นผิด มาดำรงทานวงศ์ของพระองค์ จากนั้นได้เนรมิตกายเป็นเทวดาผู้มีรัศมีกายที่สว่างไสว ให้เศรษฐีได้เห็นเป็นมงคลแก่จักขุประสาท เศรษฐีเห็นแล้วรู้สึกปีติยินดี ชื่นชมในสิริสมบัติของทวยเทพเหล่านั้น

 

.....*ท่านเศรษฐีถามว่า “ข้าแต่เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์ พวกท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ จึงได้สมบัติอันโอฬารเช่นนี้” ท้าวสักกะทรงแสดงว่า “บุคคลผู้ไม่ให้ทาน ทำแต่บาปอกุศลเป็นประจำ มีความตระหนี่ จะไปเทวโลกไม่ได้ รังแต่จะไปเกิดในนรก ดูก่อนเศรษฐี ชนเหล่าใด ผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่น มักบริภาษ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้นทอดทิ้งสรีระไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อกายแตกย่อมไปสู่นรก ส่วนชนเหล่าใดหวังสุคติ ตั้งอยู่ในธรรม คือ ความสำรวม และความจำแนกทาน ชนเหล่านั้นทอดทิ้งสรีระไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ย่อมไปสู่สุคติสวรรค์ พวกเราได้บำเพ็ญทานไว้ดีแล้ว จึงได้ทิพยสมบัติอันโอฬารเหล่านี้”

 

.....จากนั้นทรงพรรณนาหนทาง ที่จะทำให้ได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ไว้ว่า “ใครก็ตามเมื่อหวังสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ควรดำรงอยู่ในธรรม หมั่นบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือบำเพ็ญกุศลที่เกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นผู้ขวนขวายคอยช่วยเหลือคนอื่น บุญที่เกิดจากการอนุโมทนาต่อคนอื่น ที่เขาได้ทำความดีไว้ หรือเมื่อเราทำบุญอะไรก็อุทิศส่วนกุศลไปให้แก่หมู่ญาติ และสรรพสัตว์ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีบุญที่เกิดจากการฟังธรรม บุญที่เกิดจากการแสดงธรรม และการทำความเห็นให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน หากบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ก็เป็นอันหวังได้ว่า จะมีสุคติสวรรค์เป็นที่ไปอย่างแน่นอน”

 

.....ครั้นท้าวสักกะตรัสสอนดังนี้แล้ว จึงบอกวัตถุประสงค์ในการลงมาสู่โลกมนุษย์ว่า “ดูก่อนโกสิยเศรษฐี พวกเรามาสำนักของท่าน ไม่ใช่เพราะต้องการข้าวปายาสของท่านเลย แต่พวกเราเอ็นดูท่านผู้เป็นญาติ จึงพากันมาด้วยความกรุณา ตัวท่านนั้น ชื่อโกสิยะ มีความตระหนี่ พวกเราพากันมาเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้เดียว เพราะไม่อยากให้ท่านตกนรก แต่อยากให้ท่านได้ไปเสวยทิพยสมบัติกับพวกเราในสวรรค์”

 

.....เมื่อโกสิยเศรษฐีฟังธรรมจากท้าวสักกเทวราชแล้ว ก็รู้สึกตกใจ ควบคู่ไปกับความดีใจ ที่มีผู้มาช่วยตนให้หลุดพ้นจากการที่ต้องไปตกในนรก เพราะที่ผ่านมาก็นึกแต่ว่า นรกสวรรค์ไม่มี แต่เมื่อได้เห็นเทวดาผู้เคยเป็นหมู่ญาติของตัวเอง ด้วยตาเนื้อเช่นนั้นแล้ว ทำให้เชื่อมั่นว่า การทำทานดีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง นรกสวรรค์มีจริง จึงกล่าวสรรเสริญว่า “เทวดาเหล่าใดลงมาจากเทวโลก ทวยเทพเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้ พวกท่านได้เมตตา ตามพรํ่าสอนข้าพเจ้าโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ข้าพเจ้าจะทำตามถ้อยคำของท่านทั้งหมด ที่พวกท่านได้กล่าวไว้แล้วทุกประการ

 

.....ข้าพเจ้านั้น จะเว้นจากความเป็นคนตระหนี่ในวันนี้แหละ อนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่พึงกระทำบาปอะไรอีกต่อไป การไม่ให้สิ่งของอะไร จะไม่มีแก่ข้าพเจ้าอีกต่อไป วันใดข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้ วันนั้นข้าพเจ้าจะไม่ยอมกินข้าว แม้น้ำก็จะยังไม่ดื่ม ข้าแต่ท้าววาสวะ แม้โภคสมบัติของข้าพเจ้าจักค่อยๆ หมดสิ้นไป ข้าพเจ้าก็ จะให้ทานจนตลอดชีวิต เมื่อบริจาคทานแล้ว ข้าพเจ้าจักออกบวช เพื่อละกามทั้งหลาย”

 

.....ท้าวสักกะได้สดับคำปวารณาของเศรษฐีเช่นนั้น ก็อนุโมทนาในความตั้งใจดี จากนั้นได้พาเทพบุตรทั้ง ๔ องค์ เสด็จกลับเทพนคร ฝ่ายเศรษฐีผู้มีชีวิตใหม่ มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยจาคะ คือ อยากบำเพ็ญทานอย่างเต็มที่ ได้รีบเดินทางกลับบ้าน เข้าไปในเมือง ขอพระบรมราชานุญาตที่จะบริจาคทรัพย์ แก่ยาจกวณิพกพเนจรทั้งหลาย

 

เช้าวันนั้น ท่านเศรษฐีได้ให้คนรับใช้ในบ้านไปเที่ยวป่าวประกาศให้คนมารับ

บริจาคทาน ท่านเศรษฐีใช้เวลาในการบริจาค ๗ วันเต็มๆ จากนั้นได้ตัดสินใจ

 

.....อำลาภรรยาและลูกๆ เพื่อออกบวชเป็นดาบส ท่านได้ไปสร้างบรรณศาลาในระหว่างแม่น้ำคงคา และสระน้ำแห่งหนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ จากนั้นก็อธิษฐานจิตบรรพชาเป็นดาบส มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ท่านบำเพ็ญสมาธิภาวนาอยู่ตามลำพังอย่างมีความสุข จนกระทั่งชราภาพ

 

.....เรื่องราวของท่านเศรษฐี ผู้เคยมีความตระหนี่เป็นชีวิตจิตใจ แต่ได้ชีวิตใหม่นั้นยังมีเรื่องราว ที่น่าสนใจอีกหลายตอน จะค่อย ๆ นำมาเล่าให้ได้ รับฟังกันเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ และเป็นกำลังใจที่จะบำเพ็ญบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

.....ผู้รู้ได้เปรียบทานกับการรบว่า เสมอกัน เราจะต้องรบกับกิเลส คือ ความตระหนี่ในใจตลอดทั้งชาติ จะพักรบไม่ได้ ต้องหมั่นโจมตีกระหนํ่าซํ้าแล้วซํ้าอีก ให้ความตระหนี่หลุดล่อนออกจากใจของเราให้ได้ เมื่อความตระหนี่หลุดออกไป สายสมบัติใหญ่ที่เชื่อมโยงจากอายตนนิพพานย่อมจะบังเกิดขึ้นกับเรา และเมื่อใดที่เราได้สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง เมื่อนั้นแสดงว่าเราเอาชนะความตระหนี่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ให้ทุกคน หมั่นรบกับความตระหนี่ด้วยการทำบุญ ให้ทานเป็นประจำกันทุกคน

(*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๖)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016874670982361 Mins