ประเภทของสัมมาสมาธิ

วันที่ 14 มีค. พ.ศ.2558

 

 

ประเภทของสัมมาสมาธิ

สมาธิที่ถูกต้องหรือสัมมาสมาธินั้นมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากเมื่อฝึกฝนได้ดีแล้วจะมีแต่ความเย็นกายเย็นใจ มี 2 ประเภท คือ

1. สมาธินอกพระพุทธศาสนา สมาธิประเภทนี้มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว พวกฤาษีชีไพรต่างๆ มักจะใช้ฝึกกันส่วนมากนิยมฝึกด้วยการเอาวัตถุเป็นที่ตั้งจิตหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าฝึกกสิณภายนอก โดยสร้างวัตถุขึ้นมาชิ้นหนึ่งเป็นแผ่นกลมๆที่เรียกว่ากสิณ เช่น ปั้นดินเป็นแผ่นกลมๆขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 คืบ หนา 1 นิ้ว วางไว้เบื้องหน้าของผู้ฝึกเมื่อจำลักษณะได้แม่นยำแล้วก็หลับตานึกถึงกสิณด้วยการเอา จิตไปตั้งที่กสิณนั้นพร้อมกับบริกรรมภาวนา คือ ท่องในใจเป็นการประคับประคองใจไม่ให้คิดเรื่องอื่นด้วย คำว่า ปฐวีๆๆๆ (หรือ ดินๆๆๆ) เป็นต้น เมื่อปฏิบัติมากเข้าจนเกิดความชำนาญแล้ว มโนภาพที่เกิดขึ้นในใจ จะค่อยๆทวีความสว่างมากขึ้นเรื่อยๆเห็นภาพกสิณนั้นอยู่เบื้องหน้าตนเองระยะใกล้บ้างไกลบ้างถ้าปฏิบัติได้ดีก็จะเห็นได้ชัดเจนเหมือนลืมตาเห็นยิ่งชำนาญมากเท่าไรก็สามารถพลิกแพลงใช้ประโยชน์จาก กสิณที่ได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

2. สมาธิในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนสมาธิประเภทนี้เอง โดยพระองค์ทรงนำวิธีการฝึกสมาธิของพวกฤาษีชีไพรในสมัยนั้นมาดัดแปลงแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องรัดกุมยิ่งขึ้นดังนั้นทั้งวิธีทำกสิณขนาดของกสิณ และคำภาวนาจึงเหมือนกันเพียงแต่เปลี่ยนตำแหน่งฐานที่ตั้งจิตหรือการวางใจ เสียใหม่แทนที่จะเอาใจไปวางไว้ที่กสิณนั้นก็เอามาวางไว้ที่ตรงศูนย์กลางกายของตนเองแล้วนึกถึงกสิณนั้นๆ
 

     ความแตกต่างของสมาธิ 2 ประเภท เมื่อปฏิบัติในระยะเบื้องต้นจะยังไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ผู้ที่วางใจไว้นอกตัวจะเห็นภาพอยู่เบื้องหน้าตนเอง ส่วนผู้ที่วางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายจะเห็นภาพปรากฏขึ้น ณ ศูนย์กลางกายของตนเอง เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องมากขึ้นจะเห็นถึงความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน คือ ความสงบ ความชัดของกสิณ ความสุขกายสุขใจที่ได้รับ และความเห็นหรือทิฏฐิจะแตกต่างกันผู้ที่วางใจไว้นอกตัวนั้น นิมิตจะไม่อยู่นิ่ง อยู่ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ปรับภาพได้ยาก และมักจะเกิดนิมิตลวงเสมอ เช่น เห็นภาพเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านไปนานแล้ว และภาพอื่นๆ อีก ปะปนสับสนกับนิมิตจริงจนแยกกันไม่ค่อยออก ทั้งนี้เพราะการเห็นนิมิตของผู้ที่วางใจไว้นอกตัวนั้นเห็นเหมือนใช้ไฟฉายส่องดูวัตถุในที่ไกล จึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เช่น ถ้าเราดูผลแตงโมผ่าซีกที่ตั้งไว้ไกลๆโดยมองด้านที่ไม่ถูกผ่าก็จะเห็น เป็นว่าแตงโมนั้นเต็มผลอยู่เป็นต้น เนื่องจากว่าเอาใจไปตั้งไว้นอกตัวตั้งแต่แรกจนเคยชินนั่นเอง และถ้าหากจะเจริญวิปัสสนาต่อไปก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะวิปัสสนาเป็นเรื่องของการพิจารณาภายในตัว ดังนั้นการฝึกสมาธินอกพระพุทธศาสนาจึงมีข้อเสียหลายประการ คือ

1) เสียเวลามาก เพราะหมดเวลาไปกับการลองผิดลองถูกในการปรับระยะของภาพ และขนาดของภาพ ต้องใช้เวลานานกว่าภาพจะอยู่นิ่ง

2) เสี่ยงอันตราย เพราะมักจะเกิดนิมิตลวงขึ้นมาแทรกเสมอ

3) เกิดปัญญาน้อย เพราะยากแก่การฝึกในขั้นวิปัสสนาต่อไป

     ส่วนผู้ที่วางใจไว้ถูกที่ตั้งแต่เริ่มแรก คือที่ศูนย์กลางกายเมื่อเห็นนิมิตแล้วนิมิตนั้นก็จะนิ่งอยู่ที่กลางกายไม่หายไปไหนยิ่งทำใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน นิมิตนั้นก็จะหายไปเองแต่จะเกิดดวงกลมใสขึ้นมาแทนที่ เรียกว่า ดวงปฐมมรรคเป็นสภาวธรรมแรกที่เกิดจากการปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ซึ่งเป็นหนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่พระนิพพาน

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012636299928029 Mins