กุศโลบายในการรักษาศีล 8

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2558

 

กุศโลบายในการรักษาศีล 8

     เมื่อได้ศึกษาเรื่องของศีล 8 มาพอสมควรแล้วก็ถึงเวลาที่จะได้ลงมือปฏิบัติให้เกิดผลจริงๆแต่เนื่องจากศีล 8 มีข้อจำกัดบางสิ่งที่ผู้มีชีวิตอยู่ทางโลกไม่คุ้นเคยกันดังนั้นแม้การรักษาศีล 8 จะเป็นความดีที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจให้สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่หลายท่านก็ยังไม่อาจหาญที่จะลองปฏิบัติตามดู ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยความไม่คุ้นเคยบ้างมีภารกิจการงานบ้างขาดกำลังใจบ้างยิ่งบางท่านที่มีครอบครัวแล้วการรักษาศีล 8 ดูเหมือนจะทำได้ยากขึ้นไปเป็นทวีคูณแต่ไม่ว่าอย่างไรสำหรับผู้ที่อยากฝึกรักษาศีล 8 ให้ได้อย่างสม่ำเสมอนั้นก็อาจจะทดลองทำดังนี้ คือ
 

สำหรับฆราวาสผู้ไม่มีครอบครัว

     ผู้ที่ไม่ครองเรือนควรเริ่มต้นรักษาศีล 8 จากง่ายๆก่อน คือ ให้เริ่มทดลองรักษาศีลไปทีละข้อแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนกระทั่งมั่นใจว่าเราทำได้ก็ให้เพิ่มข้อต่อไปจนครบทุกข้อโดยในระยะแรกๆที่เพิ่มจำนวนข้อเข้าไป ยังไม่ต้องไปกังวลใจเรื่องเวลาค่อยๆปรับไปจนกว่าเราจะคุ้นเคยกับการรักษาศีลนั้น

     หลังจากฝึกรักษาศีล 8 จนคุ้นชินเป็นนิสัยแล้วก็ให้เริ่มขยับไปรักษาศีลในทุกวันพระแล้วค่อยๆเพิ่มในวันรับ วันส่ง วันเกิด หรือวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ คือพยายามหาทางเพิ่มวันเรื่อยไปจนสามารถประพฤติพรหมจรรย์ด้วยการรักษาศีล 8 อย่างเป็นธรรมชาติได้ในที่สุด
 

สำหรับฆราวาสผู้มีครอบครัวแล้ว

     ผู้ที่ตั้งใจจะรักษาศีล 8 แต่มีคู่ครองแล้วบางครั้งทำได้ยากเนื่องจากคู่ครองอาจจะไม่เข้าใจ ดังนั้นควรมีกุศโลบายในการปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มต้นจากง่ายไปสู่ยากตามลำดับเป็นขั้นเป็นตอนโดยขั้นแรกให้ชักชวนคู่ครองของเราเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล 5 เพื่อตอกย้ำและปรับใจให้เป็นสัมมาทิฏฐิเสียก่อนจนกระทั่งใจละเอียดอ่อนจนเกิดความพร้อม และสมัครใจจึงค่อยๆทดลองรักษากันไปพร้อมๆกัน

     การรักษาก็ให้เพิ่มจำนวนวันไปช้าๆเหมือนกับที่แนะนำมาสำหรับผู้ไม่มีครอบครัวคืออาจเริ่มรักษา เฉพาะในวันพระก่อนต่อจากนั้นจึงขยับเพิ่มขึ้นในวันโกน วันเกิด วันนักขัตฤกษ์ต่างๆ กระทั่งเกิดความคุ้นเคยจนเป็นนิสัย

     อย่างไรก็ตามลำดับวิธีการทั้งหมดนี้ต้องตั้งอยู่บนเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่ายคือต้องมีความยินดีพร้อมใจกัน รวมทั้งให้เวลาในการปรับตัวตามระดับความแก่อ่อนของอินทรีย์หรือความสามารถของแต่ละบุคคลในทุกๆขั้นตอนของการพัฒนาจนในที่สุดก็จะสามารถรักษาศีล 8 ได้อย่างเป็นธรรมชาติในที่สุด
 

     จากการศึกษาเรื่องศีล จะเห็นได้ว่าหากเราตั้งใจรักษาศีลเป็นอย่างดีแล้วผลหรืออานิสงส์จะเกิดขึ้นตามมามากมายซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 3 ระดับดังต่อไปนี้
 

ผลในปัจจุบันชาติ

1. ทำให้มีความสุขกายสบายใจ ไม่ต้องเดือดร้อน หวาดระแวง หรือหวาดกลัวต่อภัยใดๆ ที่จะทำให้ขาดความปลอดภัยในชีวิต

2. ได้ปลูกฝังนิสัยไม่มักโกรธ ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ ไม่เบียดเบียนใคร เป็นผู้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดไปทำให้ตนเอง หรือใครๆ เดือดร้อน

3. ได้ตอกย้ำสัมมาทิฏฐิให้มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะเมื่อได้รักษาศีล ย่อมเห็นคุณของอานิสงส์อย่างชัดเจน จนเกิดความเกรงกลัวต่อบาปกรรม ซึ่งจะทำให้เป็นผู้มีความระมัดระวังในความประพฤติของตนเองเป็นอย่างดี
 

ผลในภพชาติเบื้องหน้า

1. เมื่อละโลกไปแล้วจะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์

2. เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง ย่อมเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยไข้ มีอายุขัยที่ยืนยาวสมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่สุภมานพ โตเทยยบุตร ในจูฬกัมมวิภังคสูตรว่า “ดูก่อนมานพบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตามบุรุษก็ตามละปาณาติบาตแล้วเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตวางอาชญาวางศาสตราได้มีความละอายถึงความเอ็นดูอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทาน ไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆในภายหลังจะเป็นคนมีอายุยืน ดูก่อนมานพปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืน Ž”
 

ผลสูงสุด

     สามารถทำให้ผู้รักษาบรรลุมรรคผลนิพพานได้เพราะศีลจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดสมาธิ สมาธิจะเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา และปัญญาที่เกิดจากสมาธินี้เป็นปัญญาที่สามารถรู้แจ้งเห็นแจ้งไป ตามความเป็นจริง

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015304986635844 Mins