ความต้องการเบื้องต้นของผู้ครองเรือน

วันที่ 23 มีค. พ.ศ.2558

ความต้องการเบื้องต้นของผู้ครองเรือน

         ในการไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น เราจะต้องทราบถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบันทั่วโลก เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ว่ามีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ เกิดจากการที่ผู้คนทั้งหลายต่างพยายามแสวงหาความสุข เพราะความสุข คือ ความต้องการของบุคคลผู้ครองเรือนทั้งหลายแต่ความสุขที่ต่างแสวงหานั้นมีลักษณะ และรสนิยมแตกต่างกัน เพราะความสุขของบางคนอาจจะไม่ใช่ความสุขของอีกหลายคน ทั้งนี้นอกจากจะเกิดจากทัศนะการมองโลกและการมีสภาพสังคมแตกต่างกันแล้ว โดยเฉพาะการที่ไม่รู้ว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง จึงทำให้การแสวงหาความสุขดังกล่าวมีความแตกต่างกันด้วย

         อย่างไรก็ตามพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงให้เห็นความสุขของผู้ครองเรือนทั้งหลายว่ามีหลักการใหญ่ๆ อย่างไร หากรู้ถึงหลักการดังกล่าวแล้วก็ย่อมสามารถทำให้ผู้ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรสามารถแนะนำและชี้ทางให้ผู้ครองเรือนทั้งหลายให้มีความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ หรือหากยังขาดตกบกพร่องในสิ่งใดก็จะ สามารถแนะนำให้เขาเหล่านั้นมุ่งแสวงหาในทางที่ถูกต้อง

         ทั้งนี้ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพระพุทธองค์ ได้เคยตรัสกับเศรษฐีท่านหนึ่งชื่ออนาถปิณฑิกว่าด้วย ความสุขของคฤหัสถ์ ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ อัตถิสุข หรือ ความสุขเกิดจากการมี ทรัพย์ โภคสุข หรือ ความสุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์ อนนสุข หรือความสุขจากการไม่มีหนี้ และอนวัชชสุข หรือ ความสุขจากการทำงานไม่มีโทษซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.อัตถิสุข (สุขเกิดจากการมีทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยความชอบธรรม ไม่ได้มาจากการประกอบอาชีพที่ต้องห้าม หรือจากการทำความเดือดร้อนให้คนอื่น

2.โภคสุข (สุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการได้ใช้ทรัพย์ เป็นการใช้จ่าย ทรัพย์อย่างเหมาะสมกับทรัพย์ที่มีอยู่ นั่นคือไม่ฟุ่มเฟือย หรือใช้ไปในสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง เช่น สุรา ยาเสพติด เป็นต้น แต่ใช้อย่างมีประโยชน์ เช่น ประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ย่อมหมายถึงการเอื้อเฟื้อแบ่งปันช่วยเหลือบุคคลอื่นอีกด้วย

3.อนนสุข (สุขเกิดจากการไม่มีหนี้) หมายถึง ความสุขที่บุคคลเป็นผู้ไม่มีหนี้ เพราะการเป็นหนี้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามการไม่มีหนี้ถือเป็นโชคดีของบุคคลทั้งหลาย

4.อนวัชชสุข (สุขเกิดจากการทำงานไม่มีโทษ ) หมายถึง การดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม เช่น ยึดมั่นในศีล 5 เป็นต้น ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนหรือเป็นพิษภัยต่อบุคคลอื่น

         ดังนั้นในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวโลก ซึ่งยังต้องทำมาหากิน ยังต้องแสวงหา ตลอดจนยังมีการต่อสู้แข่งขัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุข หากยังไม่ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้บุคคลทั้งหลาย มีความกังวล ยังอยู่ในวงจรชีวิตของการแสวงหา และยังอยู่ในความไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนกำลังแสวงหานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ถ้าหากบุคคลใดมีพร้อมใน 4 ประการข้างต้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสุขในชีวิตของการครองเรือน แต่ถ้ายังขาดหรือยังไม่สมบูรณ์ในสิ่งใด ก็สามารถแนะนำให้บุคคลเหล่านี้ มีการพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ โดยยึดหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางปฏิบัติ

         อย่างไรก็ตาม ในพระพุทธศาสนาได้จำแนกความสุขไว้อีก 2 ประการ คือ ความสุขที่อิงอามิส และความสุขที่ไม่อิงอามิส กล่าวคือมีทั้งความสุขที่อาศัยวัตถุและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ไปทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรจะได้แนะนำบุคคลทั้งหลายให้ตระหนักว่า แม้จำเป็นที่จะต้องแสวงหา ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุ แต่ก็ควรจะมุ่งแสวงหาความสุขที่ไม่อาศัยวัตถุ ซึ่งจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาแสวงหา หรือต้องดิ้นรนต่อสู้มากเกินไปบางทีอาจจะได้มาด้วยการแก่งแย่ง แข่งขัน หรือบางทีอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งผลประโยชน์ ทำให้การแสวงหานั้นๆ ยืดเยื้อยาวนาน เกิดเป็นกระบวนการแทรกซ้อนและถ่วงเวลาให้ต้องห่างไกลจากความสุขที่แท้จริงไป

    การแสวงหาความสุขจากการใช้สิ่งของ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกสบายในชีวิต เช่น รถยนต์ หรือ เสื้อผ้าราคาแพง หรือการใช้ของฟุ่มเฟือย ไม่สมดุลกับรายได้ที่ได้มา แม้จะเป็นวัตถุสิ่งของที่ดี แต่ก็นำมาซึ่งความทุกข์ใจที่จะต้องแสวงหาสิ่งมาสนองอารมณ์ที่ปรารถนา จนเปรียบเสมือนตกเป็นทาสในวัตถุนั้นๆ และเมื่อวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความปรารถนานี้ ย่อมทำให้เกิดความไม่รู้เป้าหมายชีวิตที่แท้จริงของตนเอง กลายเป็นบุคคลผู้มีเป้าหมายสูงสุดเพียงแค่การได้มาหรือได้เสพในสิ่งที่ต้องการ หรือบางกรณีมีบุคคลที่รู้จักแสวงหาทรัพย์ มีความสุขจากการได้ทรัพย์มา แต่ติดยึดในสิ่งของเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกจนกลายเป็นบุคคลติดในทรัพย์ มีความหวงแหนและภาคภูมิใจ ซึ่งความสุขที่ได้ก็เป็นเพียงความสุขชั่วคราวที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่รู้จักใช้ทรัพย์อย่างฉลาดที่จะนำมาซึ่ง ความสุขทางกายและทางใจโดยเฉพาะการที่จะใช้ทรัพย์ที่มีเพื่อยกระดับจิตวิญญาณของตน ด้วยการเสียสละ บริจาค เช่น การทำทาน เป็นต้น เปรียบเสมือนสระน้ำอันอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าหากอยู่กลางป่าห่างไกลลิบลับจากหมู่บ้าน ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้คนทั้งหลาย

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0021339178085327 Mins