การบูรณาการความรู้ทางการบริหารและการจัดการเพื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 06 เมย. พ.ศ.2558

การทำหน้าที่กัลยาณมิตรแบบยั่งยืนผ่านโครงการอบรมต่างๆ เช่นบวชแสนรูป บวชสามเณรล้านรูป บวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน

การบูรณาการความรู้เพื่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแบบยั่งยืน

     การบูรณาการความรู้และวิธีการต่างๆ เพื่อการทำหน้าที่แบบยั่งยืน เป็นรูปแบบการทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยใช้ความรู้จากหลายสาขาและเทคนิควิธีการหลายแบบมาบูรณาการจนบังเกิดผลเป็นระยะๆ และยังเป็นการวางรากฐานเพื่อให้เกิดผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากจะบังเกิดอย่างยั่งยืนแล้วยังสามารถแผ่ขยายไปในวงกว้างได้ซึ่งตัวอย่างของการบูรณาการการนำความรู้เพื่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแบบยั่งยืนนั้น พบว่าโครงการของพระราชภาวนาวิสุทธิ์เพื่อการรณรงค์และกิจกรรมเพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นโครงการหนึ่งที่มีความชัดเจนในการบูรณาการความรู้ต่างๆ เช่น การอบรมศีลธรรม สอนการทำสมาธิ จิตวิทยา สาธารณสุข และเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น การศึกษา ศีลธรรมทางไกลผ่านดาวเทียม ตลอดจนการใช้สื่ออุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ฯลฯ มาใช้จนปรากฏผลดีดังพบว่าโครงการนี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก(World Health Organization - WHO) ได้ถวายรางวัลแด่พระราชภาวนาวิสุทธิ์มาแล้วในปี พ.ศ.2547

     พระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมและรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 34 ปี นับตั้งแต่เริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย โดยแทรกสาระเกี่ยวกับโทษของบุหรี่ และจัดกิจกรรม ตลอดจนการสร้างเครือข่าย เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

     โดยมีกระบวนการดำเนินการ ซึ่งมีผลต่อการไม่สูบบุหรี่ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอนดังนี้

1.ขั้นการรับรู้ (Awareness)

2.ขั้นการหล่อหลอมทัศนคติ (Attitude)

3.ขั้นการยอมรับไปปฏิบัติจริง (Practice)

4.ขั้นการติดตามและประเมินผล (Evaluation)

1.ขั้นการรับรู้ (Awareness)

     พระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ โดยมีกระบวนการให้บุคลากรในองค์กร และประชาชนที่มาวัดได้รับรู้นโยบายในการไม่สูบบุหรี่ดังนี้

1.เริ่มจากตัวท่านเองเป็นผู้นำองค์กร ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) ในการไม่สูบบุหรี่ เป็นต้นแบบในการปฏิบัติธรรม สร้างความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ ชัดเจนในเป้าหมายชีวิต คือ การเกิดมาเพื่อสร้างบารมี ดังท่านได้กล่าวว่า

      “ตลอดระยะเวลา 34 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นสร้างวัดพระธรรมกายจนปัจจุบัน

อาตมาภาพและหมู่คณะยังคง ยืนหยัดและมั่นคงในมโนปณิธานนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง”

2.อบรมและวางข้อปฏิบัติของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา บุคลากรในวัดพระธรรมกาย ในการไม่สูบบุหรี่ โดยเน้นถึงโทษภัยของบุหรี่ และประโยชน์ของการเลิกบุหรี่ทั้งต่อสุขภาพ ข้อควรปฏิบัติแห่งศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ และภาพลักษณ์ที่ดีงามเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของผู้มาวัดซึ่งมีผลต่อการไม่สูบบุหรี่ตลอดชีวิตของพระภิกษุ สามเณร เจ้าหน้าที่ประจำของวัด

3.การเทศน์สอนในเรื่องโทษของบุหรี่ทั้งในปัจจุบันและในภพเบื้องหน้าโดยสอนให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมตอกย้ำตลอดระยะเวลา 34 ปี เพื่อให้ประชาชนที่มาวัดนำมาประพฤติปฏิบัติตาม

2.ขั้นการหล่อหลอมทัศนคติ (Attitude)

     พระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นผู้ริเริ่มกำหนดนโยบาย และทิศทางในการจัดกิจกรรมหล่อหลอมทัศนคติในการไม่สูบบุหรี่ โดยเริ่มจากหล่อหลอมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และเจ้าหน้าที่ทุกคนให้เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด และกลายเป็นผู้นำประชาชนที่มาวัดปฏิบัติธรรม หรือเข้าค่ายอบรมต่างๆ และประชาชนทั่วไป ด้วยค่านิยม “ เข้าวัดปราศจากบุหรี่” ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสในการสูบบุหรี่เมื่อมาประกอบพิธีกรรมหรือมาอบรมในวัดเพิ่มจำนวนผู้ที่ตั้งใจละ และเลิกสูบบุหรี่ และการลดจำนวนผู้สูบให้มากขึ้น ซึ่งผู้เข้าอบรมหรือผู้ที่มาวัดมีความเข้าใจและนำแนวคิดนี้ไปจัดกิจกรรม เพื่อขยายแนวความคิดนี้ในครอบครัว หรือ หน่วยงานของตนต่อไป จะเห็นได้ว่าท่านได้สร้างค่านิยมให้แก่พุทธศาสนิกชน เรื่องวัดปลอดบุหรี่ตั้งแต่ก่อน มีมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้ อาทิ

         ก.ประกาศระเบียบปฏิบัติของวัด ตั้งแต่ก่อตั้งวัดพระธรรมกาย ปี พ.ศ. 2513 ว่า “ ห้ามสูบบุหรี่ตลอดจนไม่นำสิ่งเสพติดให้โทษเข้ามาในวัด” เป็นหนึ่งในระเบียบที่ต้องปฏิบัติของวัด เป็นการประกาศจุดยืนของวัดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการไม่สูบบุหรี่แก่ทุกคน

     ข.การหล่อหลอมประเพณี “ เข้าวัด ปราศจากบุหรี่” ทั้งในหมู่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ ซึ่งจะมาประชุมกันประกอบศาสนพิธีทุกวันอาทิตย์ และในงานบุญใหญ่ โดยได้สร้างค่านิยม “ ปลอดบุหรี่” จนกลายเป็นสิ่งปกติในจิตสำนึกของประชาชนทุกคนที่มาวัดทั้งในวันธรรมดาวันอาทิตย์ต้นเดือนซึ่งมีประชาชนมาวัดประมาณ 50,000 คน ในวันอาทิตย์ที่ไม่ใช่อาทิตย์ต้นเดือน ประมาณ 20,000 คน ในวันงานบุญใหญ่ เช่นวันมาฆบูชา วันฉลองมหาธรรมกายเจดีย์ วันสลายร่างมหาอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง แต่ละครั้งประมาณ 100,000-300,000 คน โดยแจ้งข้อปฏิบัติเมื่อมาวัดให้ทราบโดยขอความร่วมมือ เพื่อให้คนที่ยังไม่เลิกไม่สูบบุหรี่เมื่อมาวัด และสร้างจิตสำนึกให้คนที่มาวัดเป็นประจำช่วยกันดูแล และแนะนำไม่ให้บุคคลใกล้ชิด หรือคนที่มาใหม่สูบบุหรี่ในวัด เป็นการลดโอกาสการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนขนาดใหญ่อย่างได้ผล

ค. การอบรมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา

     การอบรมพระภิกษุ สามเณร: การอบรมพระกัลยาณมิตร เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ถึง 2546 มีทั้งหมด 45 รุ่น มีพระที่ได้รับการอบรมทั้งหมด 8,656 รูป โดยแบ่งประเภทการอบรมออกเป็น 3 ระดับ คือระดับเจ้าอาวาส ระดับผู้ช่วยอาวาส และระดับพระลูกวัด โดยทุกรูปจะได้รับการปลูกฝังเรื่องการงดบุหรี่ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลัก เพื่อให้พระทุกรูปที่ผ่านการอบรม สามารถหักดิบเลิกบุหรี่ เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชน และสนับสนุนให้วัดต่างๆ ได้เข้าร่วมโครงการ “ วัดปลอดบุหรี่” อีกด้วย

หลักสูตรทั้งหมดมี 4 หลักสูตร คือ

1.หลักสูตรการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่อย่างเป็นระบบ

2.หลักสูตรการปฏิบัติธรรมและการบริหารอย่างเป็นระบบ

3.หลักสูตรอบรมพระอาจารย์สอนสามเณรภาคฤดูร้อน

4.หลักสูตรอบรมศีลธรรมแก่นักเรียน นักศึกษา

     แต่ละการอบรมจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโทษและพิษของบุหรี่รวมทั้งสนับสนุนให้ พระภิกษุสามเณรที่เข้าอบรมเลิกบุหรี่ โดยมีพระพี่เลี้ยงให้กำลังใจและดูแลอาการขาดนิโคตินช่วงเลิกบุหรี่ในระหว่างการอบรมแต่ละหลักสูตร

     ผลการอบรมในด้านการละเลิกบุหรี่: หลังจากการอบรมพระกัลยาณมิตรทั่วประเทศ จำนวน 800 กว่าวัดทั่วประเทศไทยแล้วได้มีพระภิกษุสามเณรจำนวนมากประกาศ “หักดิบ” เลิกสูบบุหรี่เป็นการถาวร และจะนำแนวคิด “ หักดิบเลิกสูบบุหรี่ถาวร” ไปเผยแพร่ในวัดของท่านต่อไป

     โครงการอบรมธรรมทายาท: ปีละครั้ง ตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 25,000 คน ผู้เข้ารับการอบรมทุกโครงการต้องงดจากบุหรี่โดยมีโครงการ เช่น

     - โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาท ตั้งแต่พ.ศ. 2515 ถึง 2546 จำนวน 21,256 รูป

     - โครงการอบรมธรรมทายาทหญิง มัชฌิมธรรมทายาทหญิง รวม 3,969 คน

     งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าผู้ผ่านการอบรมธรรมทายาทล้วนได้รับการปลูกฝังทัศนคติทางพุทธศาสนาอย่างฝังรากลึก เป็นผู้มีศีลธรรมและจริยธรรมประจำใจไม่สูบบุหรี่และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในฐานะเป็นพุทธมามกะที่ดีต่อไป

     การอบรมอุบาสก อุบาสิกา: การอบรมปฏิบัติธรรมพิเศษที่ จ.เชียงใหม่ 5 แห่ง นอกจากนี้ยังมีที่ภูเก็ต สงขลา นครราชสีมา กาญจนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 64,005 คน เนื้อหาการอบรมจะเน้นการตั้งมั่นในทาน ศีล และภาวนา และผู้เข้าอบรมทุกคนต้องงดสูบบุหรี่ตลอดช่วงการอบรม ซึ่งหลายคนเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดหลังจากการอบรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ผู้เข้าอบรมจะได้รับชมรายการ เทเหล้า เผาบุหรี่Ž ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการชมโทรทัศน์ดาวเทียมผ่านจอยักษ์ในทุกแห่ง ซึ่งผู้ได้รับชมรายการสามารถติดต่อกลับมายังศูนย์ประสานงานรายการ และติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

     การอบรมบุคคลทั่วไป พระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้มีดำริในการจัดอบรมคุณธรรมโครงการต่างๆ อาทิ

     - โครงการสามเณรแก้ว (บุคคลทั่วไปมาบวชสามเณร) 13,842 รูป

     - โครงการอุบาสกแก้ว 200,000 คน

     - โครงการอุบาสิกาแก้ว 140,000 คน

     - โครงการอบรมคุณธรรม ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ฯลฯ รวม 115,964 คน

     - โครงการอบรมเยาวชนนานาชาติ รวม 500 คน

     - กลุ่มผู้นำสตรีกว่า 10,000 คน ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะรณรงค์ให้มีการงดบุหรี่ ในท้องถิ่นของตน

     นอกจากนี้ยังมีการอบรมอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในแต่ละปีเป็นจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งผู้เข้า รับการอบรมทุกโครงการที่จัดขึ้น มีข้อปฏิบัติในการงดบุหรี่ และควบคุมการอบรมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่

ง. การรณรงค์ผ่านสื่อ และโทรทัศน์ดาวเทียม “ ฝันในฝัน”

     การรณรงค์เพื่อให้เลิกบุหรี่นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการใช้สื่อที่เหมาะสมและมีพลัง นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา วัดพระธรรมกายโดยการอำนวยการของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ขยายทัศนคติ “หักดิบเลิกบุหรี่” นี้ไปยังพระภิกษุและสาธุชนทั่วประเทศโดยผ่านสื่อต่างๆ ผสมกับสื่อบุคคลช่วยตอกย้ำทัศนคติให้มั่นคงยิ่งขึ้น อาทิ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วารสารกัลยาณมิตร วารสารตะวันธรรม วารสารสหธรรมิก วารสารพระสังฆาธิการ วารสารภาษาอังกฤษ The Light of Peace และเอกสารประเภทแผ่นพับ บัตรอวยพร ตามวาระโอกาสต่างๆ สไลด์มัลติวิชั่นและวีดีโอธรรมะทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น รายการวิทยุประจำชื่อ รายการธรรมะเพื่อประชาชน

     นอกจากนี้ได้นำสื่อใหม่มาใช้ คือ สื่ออินเตอร์เน็ต โดยมีเว็บไซท์เฉพาะของวัด เช่น www.dmc.tv, www.dhammakaya.or.th, www.kalyanamitra.org เป็นต้น และสื่อล่าสุด คือ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนำเสนอรายการตลอด 24 ชั่วโมง โดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์จะเทศน์ผ่านรายการ “ฝันในฝัน” เป็นประจำทุกคืนตั้งแต่วันจันทร์ -เสาร์ ตั้งแต่เวลา 19.30 - 21.45 น. ในปัจจุบันมีสมาชิกนับแสนคน จะมีช่วง “เทเหล้า เผาบุหรี่” ความยาวประมาณ 30 นาที นำเสนอเรื่องราวที่ประชาชนแต่ละกลุ่มพร้อมใจกันจัดพิธีประกาศสัตยาบันไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่อีกต่อไป เนื่องจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้เล็งเห็นความจำเป็นของการเลิกบุหรี่เป็นอย่างมาก ในรายการท่านตอกย้ำตลอดมาว่าการดื่มเหล้า และการสูบบุหรี่มักจะเป็นของคู่กัน คนที่สูบบุหรี่แม้เมื่อตั้งใจเลิกแล้ว ครั้นไปเข้าวงเหล้าก็มักจะหันไปสูบบุหรี่ตามเพื่อน จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องเลิกดื่มเหล้าพร้อมกันไปด้วย ท่านได้ชี้ให้เห็นโทษภัยของเหล้าและบุหรี่ทั้งในภพนี้และภพหน้า นำข่าวทั้งจากภายในและนอกประเทศมานำเสนอให้เห็นความเคลื่อนไหวเพื่อการเลิกบุหรี่ในระดับโลก

     นอกจากนี้ท่านสร้างความมีส่วนร่วมของคนในภูมิภาคต่างๆโดยได้นำเอาวัฒนธรรมพื้นบ้านแต่ละท้องถิ่นมาประกอบรายการเทเหล้าเผาบุหรี่ สร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับการ “ หักดิบ” เลิกเหล้าและบุหรี่ ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงและจังหวะดนตรีที่เร้าใจ เช่น เพลงโคราช หมอลำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดิเกร์ฮูลู ของชาวใต้ กลองสะบัดไชยของภาคเหนือ เพลงคันทรี่ นอกจากนี้ยังให้กำลังใจ และสรรเสริญผู้ที่สามารถเลิกได้โดยมีบทเพลง ไสดุดีผู้กล้า” แต่งเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว เป็นต้น

     การมีส่วนร่วมของบุคคลระดับต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้ถูกจัดขึ้นโดยเครือข่ายภาคประชาชนมีการตั้งเวทีในที่สาธารณะ เพื่อสร้างความสนใจแก่ประชาชนทั่วไป มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น ข้าราชการจังหวัด อธิการบดี รองอธิการบดี นายทหาร ตำรวจ เข้ามาเป็นประธานและสักขีพยานในพิธี ปรากฏว่าที่ผ่านมาได้มีทั้งนิสิต นักศึกษาประชาชน จัดรายการเทเหล้า เผาบุหรี่ และปวารณาตนไม่ดื่มเหล้าและไม่สูบบุหรี่อีก ต่อไป

     ท่านได้กล่าวว่า ท่านตั้งใจมั่นที่จะทำให้บุหรี่หมดไปจากประเทศนี้ให้ได้ และรายการนี้จะดำเนินต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด แม้ท่านจะละโลกไปแล้วก็ตาม ท่านหล่อหลอมทัศนคติของผู้ชมให้เห็นว่า บุหรี่เป็นของที่มีโทษต่อตนทั้งภพนี้และภพหน้า ทำให้คนหวาดกลัว “ ขุม 5 ซึ่งเป็นขุมสำหรับผู้ที่ทำผิดศีลในด้านนี้ รวมทั้งความรู้สึกที่ว่า จะเลิกบุหรี่ ต้องเลิกเหล้าด้วย และถ้าจะเลิกบุหรี่ให้ได้ จะต้อง “ หักดิบ” โดยยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

     เพื่อหล่อหลอมทัศนคติเลิกบุหรี่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ทางวัดยังได้ใช้การสื่อสารระหว่างบุคคล แผ่นซีดี และวีซีดี ซึ่งรวบรวมรายการเทเหล้าเผาบุหรี่ ที่เคยออกอากาศทั้งหมดมาประกอบด้วย สำหรับสื่อซีดีและวีซีดีนั้น จะรวบรวมคำสอนที่สำคัญของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Case Study ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม และโทษภัยอันเกิดจากการสูบบุหรี่ เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ปรากฏว่า พระภิกษุที่ออกไปเทศน์สอนในต่างจังหวัด ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่ ให้สาธุชนฟังประกอบความเข้าใจ ส่งผลกระทบให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการเทเหล้า เผาบุหรี่เป็นจำนวนมาก

     จ. เครือข่ายในการจัดกิจกรรมงดบุหรี่

     ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้งวัดมีประชาชนให้ความสนใจเข้ามารับการอบรมสั่งสอนจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นจำนวนมากในการรณรงค์งดบุหรี่ โดยการนำของพระราชภาวนาวิสุทธิ์มิได้ทำเพียงลำพัง ทำให้การรณรงค์เลิกบุหรี่โดยการหักดิบ มีการขยายผลอย่างต่อเนื่องในทุกเครือข่าย

      จนในเวลาต่อมา วัดได้ขยายเครือข่ายออกทั่วโลก ทางวัดมีเครือข่ายทั้งวัดและบ้าน ซึ่งเรียกว่าวัดกัลยาณมิตร “ และ “บ้านกัลยาณมิตร” ซึ่งเป็นเครือข่ายวัดและครอบครัวในชุมชนต่างๆ ที่ร่วมอบรมคุณธรรมในพื้นที่ต่างๆ เชิญชวนคนรักษาศีล นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม เครือข่ายเหล่านี้กระจายไปทั่วประเทศไทย และประเทศต่างๆ ทั่วโลก

     พระกัลยาณมิตรมากกว่า 1,000 วัดทั่วประเทศ ที่ประกาศหักดิบเลิกบุหรี่ถาวร และนำแนวคิดการหักดิบเลิกบุหรี่ ไปขยายในวัดของท่านต่อไป หรือเครือข่ายการรณรงค์อื่นๆ เช่น บ้านกัลยาณมิตร ศูนย์สาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศ สถาบันการศึกษาต่างๆ ในระดับอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันราชภัฏ วิทยาลัยเทคนิค รวมกว่า 36 สถาบัน สมาคมผู้นำสตรีนับหมื่นคน ตลอดจนหน่วยงานรัฐและเอกชน ร่วมประสานงานการทำกิจกรรมเทเหล้า เผาบุหรี่ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมขยายผลไปถึงศูนย์สาขาต่างประเทศ ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และ อเมริกา

     เครือข่ายเหล่านี้ดำเนินการโดยบุคคลที่ได้รับการหล่อหลอมให้เปลี่ยนทัศนคติในการสูบบุหรี่ให้เป็นผู้มีอุดมการณ์ที่จะทำหน้าที่เผยแพร่การรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังสำคัญในการชักชวนคนให้เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นกระบวนการพลวัตที่เกิดขึ้นตลอดเวลาซึ่งหมายความว่านับจากนี้ไปจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์งดบุหรี่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

     การขยายทัศนคติหักดิบบุหรี่ จำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายที่จะช่วยให้การหล่อหลอมเป็นไปโดย สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยสามารถเชื่อมต่อถึงกันทั้งทางการสื่อสารปกติ และทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน ทุกแห่งสามารถรับชมรายการฝันในฝันทางอินเตอร์เน็ตหรือโทรทัศน์ดาวเทียม และการเชื่อมโยงถึงกันด้วยสื่อดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้มีสื่อบุคคลทำหน้าที่เป็นตัวจักรกลในการเชื่อมต่อและเผยแผ่เครือข่ายผู้จัดกิจกรรมงดบุหรี่กว้างขวางขึ้น

     จากการวางระเบียบปฏิบัติ การหล่อหลอมทัศนคติ ประเพณี การอบรมโครงการต่างๆ การใช้สื่อต่างๆ ในการเผยแพร่และหล่อหลอมทัศนคติ ตลอดจนเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ทั้งในและต่างประเทศที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิดบุคคลที่มีความตระหนักถึงโทษของบุหรี่ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นผู้ผลักดันการทำกิจกรรมสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

3.ขั้นการยอมรับไปปฏิบัติจริง (Practice)

    นอกจากการลดละเลิกในส่วนบุคคลแล้ว ยังให้กลุ่มต่างๆ ยังได้จัดเวทีในที่สาธารณะเดินรณรงค์พร้อมประกาศสัตยาบันไม่สูบบุหรี่ตลอดชีวิตโดยเชิญผู้ฟังในแต่ละท้องถิ่นตัดสินใจเลิกบุหรี่แล้วหันมาดำรงตนเป็นต้นแบบ และรณรงค์ให้มี “ พระต้นแบบ”  พร้อมจัดทำ “ วัดปลอดบุหรี่” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดอย่างต่อเนื่องไปทั่วประเทศ

         จากผลการหล่อหลอมทัศนคติในการงดบุหรี่ ทำให้เกิดการจัดกิจกรรมเทเหล้าเผาบุหรี่ทั้งในและต่างประเทศ จัดกิจกรรมไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 205 ครั้ง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 75,837 คน เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป 138 กลุ่ม จำนวน 55,807 คน และกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาร่วมกิจกรรม 70 สถาบัน จำนวน 20,030 คน ดังตัวอย่าง

         1.วัด เช่น กรณีศึกษาที่วัดบ้านขุน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จัดงานเผาบุหรี่เนื่องในวาระ เจ้าคณะ-อำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ มีอายุครบ 80 ปี โดยสามเณรวัดบ้านขุน กว่า 100 รูป เกิดแรงบันดาลใจเดินทางไปชวนโยมพ่อ โยมแม่ ให้เลิกบุหรี่ บางรูปต้องเดินเท้าจากวัดไปสู่บ้านบนดอย บางรูปต้องเดินทางไกลกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อไปนำยาสูบมาร่วมเผาทำลาย และร่วมกันถอนต้นยาสูบด้วยโดยความร่วมมือจากนายอำเภอ ในงานนี้มีโยมพ่อโยมแม่ของสามเณร ปวารณาเลิกบุหรี่ตลอดชีวิตหลายราย

         2.พระกัลยาณมิตร พระจากวัดต่างๆทั่วประเทศที่มาอบรมโครงการพระกัลยาณมิตรจะได้รับการถวายความรู้ ตลอดจนมีกิจกรรมเผา หักดิบเลิกบุหรี่ ซึ่งมีพระเข้าร่วมโครงการหลายพันรูป นอกจากนี้ยังมีวัดที่ตั้งใจประกาศตนเป็น วัดปลอดบุหรี่Ž โดยขึ้นป้ายที่หน้าวัดตนเอง และขอเป็นเครือข่ายในการจัดรณรงค์เลิกบุหรี่แก่พระภิกษุสามเณร เป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลทางใจแก่ญาติโยมที่จะเลิกบุหรี่ตามอีกด้วย

        3.สถาบันการศึกษา เช่น การรณรงค์ทำให้คณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนมัธยม เขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 12 โรงเรียน เกิดแรงบันดาลใจร่วมกันจัดรายการ “ โคราชร่วมใจเทเหล้าเผาบุหรี่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงของเรา” ใช้สื่อเพลงพื้นบ้าน และการเดินรณรงค์ ได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนทั่วไป มีผู้ร่วมใจหักดิบเลิกบุหรี่จำนวนมากนับพันคน

         การรวมตัวกันจัดกิจกรรมรณรงค์งดบุหรี่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งรัฐบาล และเอกชน สถาบันราชภัฎ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ที่ร่วมทำกิจกรรมเผาหักดิบเลิกบุหรี่แล้ว 36 สถาบันทั่วประเทศ มีผู้ร่วมโครงการกว่า 13,800 คน

         กรณีของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการในการจัดกิจกรรม “เทเหล้าเผาบุหรี่” ในสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นผู้ประสานงานการจัดกิจกรรมกับผู้บริหารและหน่วยงานในสถาบันและสถาบันการศึกษาอื่นๆ และมีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อจัดกิจกรรมการรณรงค์งดเหล้าและงดบุหรี่อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาการจัดกิจกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และเยาวชนจะมีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning)

     จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ในการจัดกิจกรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอกในสหรัฐอเมริกา จำนวน 12 สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทิร์น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (U.C.L.A.) มหาวิทยาลัยนอเตรอดาม มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 18 มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยซึคุบะ

      4.เครือข่ายสตรี หลังจัดการประชุมประจำปีผู้นำสตรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 ณ วัดพระธรรมกาย ทำให้กลุ่มผู้นำสตรีเกิดความประทับใจ และเห็นชอบในการจัดโครงการ เผาหักดิบเลิกบุหรี่ ปัจจุบันได้จัดกิจกรรมเผาบุหรี่ในหลายจังหวัด และมีแผนการปฏิบัติทั่วประเทศ ทั้ง 12 เขตการปกครอง โดยจะมีการจัดในจังหวัดนำร่อง และในจังหวัดอื่นๆ ในเขตการปกครองจากอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านต่อไป

      5.ห้างร้านที่เลิกขายบุหรี่ เช่น กรณีห้างทวีกิจคอมเพล็กซ์ จ.สระบุรี และจ.บุรีรัมย์ เป็นห้างที่กล้าประกาศเลิกขายบุหรี่ โดยติดป้ายประกาศว่า “ห้างนี้ไม่ขายบุหรี่เพราะห่วงใยท่านและครอบครัว” ทำให้เกิดเป็นกระแสแก่ห้างร้านและร้านค้าอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ

     6.ชาวต่างประเทศ มีชาวเยอรมัน ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ชาวอังกฤษ ชาวฮ่องกง ชาวเวียดนาม ชาวลาว ชาวญี่ปุ่น ชาวสิงคโปร์ ชาวมาเลเซีย ชาวออสเตรเลีย ชาวอเมริกัน จำนวนมาก เมื่อได้มารู้โทษภัยของบุหรี่ จากเผยแพร่ข้อมูลจากศูนย์สาขาต่างประเทศของวัดพระธรรมกายจึงตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่สูบบุหรี่มาตลอดกว่า 10 ถึง 20 ปี

4.ขั้นการติดตามและการประเมินผล (Evaluation)

     หลังจากมอบนโยบายในการดำเนินกิจกรรม และมีการวางแผน และจัดกิจกรรมต่างๆ ไปแล้วพระราชภาวนาวิสุทธิ์มีการติดตามประเมินผล เพื่อตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเพื่อนำมาปรับรูปแบบ ในการจัดกิจกรรมให้เข้าถึง และมีประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรมและรณรงค์ ( Plan-DoCheck-Act) อาทิ

     กิจกรรมเทเหล้าเผาบุหรี่ มีการติดตามจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ผู้ปวารณาเลิกสูบบุหรี่ และมีการปรับวิธีการในการนำเสนอในสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม และจัดกิจกรรมเพื่อปรับให้เข้าถึงวัฒนธรรมกลุ่มคนต่างๆ เพื่อให้มีผลต่อการงดบุหรี่มากที่สุด หรือมีการทำให้เกิดการเชื่อมโยงของเครือข่ายในการจัด กิจกรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

     1.เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงาน จากจัดเฉพาะในกลุ่มคนเพียงกลุ่มหรือหน่วยงานเดียว เป็นการจัดระหว่างเครือข่ายต่างๆ ในชุมชนมากขึ้น เช่น ในสถาบันการศึกษามีการเชิญผู้บริหาร ข้าราชการ โรงเรียนต่างๆ ในชุมชนมาร่วมกิจกรรมด้วย เช่น การจัดเทเหล้าเผาบุหรี่ที่ จ.กาญจนบุรี มีการประสานงานระหว่างวัด และโรงเรียน 15 แห่ง ตลอดจนประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัด เพื่อจัดกิจกรรม รวมมีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 6,000 คน

      2.มีการกระตุ้นให้เกิดผู้ปวารณาในการเลิกเหล้า เลิกบุหรี่มากขึ้น โดยมีการสดุดียกย่องผู้ที่จัดกิจกรรม ผ่านในรายการฝันในฝัน

       3.จากการกระตุ้น และให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอทำให้มีผู้จัดกิจกรรมในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น จากเริ่มต้นจากการนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมเทเหล้าเผาบุหรี่ 1 ราย ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้มีการจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 4 ราย ในเดือนพฤษภาคม และกลายเป็น 36 ราย ในเดือนมิถุนายน เป็นต้น (ทั้งนี้ ยังไม่รวมกิจกรรมที่ยังไม่ได้นำเสนอในรายการฝันในฝันอีกจำนวนมาก)

     4.เกิดความยั่งยืนของกิจกรรม โดยแบ่งเป็น ส่วนบุคคล คือ คนที่ปวารณาเลิกสูบบุหรี่ตลอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น และความยั่งยืนของโครงการ คือ มีการขยายผลของโครงการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานในสถาบันการศึกษา เป็นต้น

     ผู้ร่วมกิจกรรมการรณรงค์งดบุหรี่ โดยการชวนมาวัดและร่วมกิจกรรมงดบุหรี่ โดยตอกย้ำผ่านการเทศน์สอนจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ผ่านจานดาวเทียม จากการติดตามพระภิกษุสามเณรและสาธุชนที่เลิกเหล้าเลิกบุหรี่พบว่า การรณรงค์ของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ทำให้คนมากกว่า 10,000 คนตัดสินใจเลิกบุหรี่หลังจากเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ไม่นับสาธุชนที่มาวัดตามปกติแล้วได้เลิกบุหรี่ไปเองหลังจากนั้น ซึ่งตามการคาดคะเนเชื่อว่ามีมากกว่าแสนคน นอกจากนั้น ทางวัดยังได้ติดตามผู้ประกาศ “ หักดิบ” เลิกบุหรี่กะทันหันอย่างใกล้ชิด จากการติดตามพบว่า ประชาชนตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคำสาบานที่ตนกระทำต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การละเมิดคำสาบานจักนำอันตรายมาให้ ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า

“ ลุงสาบานต่อหน้าพระพุทธรูป จะทรยศคำสาบานได้อย่างไร " ?

และในกลุ่มพระสงฆ์ยิ่งเป็นกลุ่มที่ตระหนักในเรื่องนี้มากที่สุด

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027961464722951 Mins