กรณีศึกษาที่ 1 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเชิงปฏิบัติการของแพทย์หญิงท่านหนึ่ง

วันที่ 07 เมย. พ.ศ.2558

เราจะดีคนเดียวไม่ได้ เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราไม่ดี เราจะไม่สามารถมีชีวิตที่ปกติสุขในสังคมได้ เราไม่ใช่เกิดมาเพื่อทำมาหากินอย่างเดียว แต่เราเกิดมา สร้างบารมี ในการสร้างบารมีนั้นต้องทำเป็นหมู่คณะ

 กรณีศึกษาที่ 1 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเชิงปฏิบัติการของแพทย์หญิงท่านหนึ่ง

     เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องประวัติการทำหน้าที่กัลยาณมิตรของแพทย์หญิงท่านหนึ่ง ซึ่งท่านได้เข้าปฏิบัติธรรม ณ วัดพระธรรมกาย ได้ฟังธรรมและปฏิบัติธรรม โดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธมฺมชโย) และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายเป็นครูอาจารย์ แต่ในที่นี้ของสงวนนามท่านไว้ เพราะวัตถุประสงค์ของเรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้นั้น มุ่งจะแสดงให้เห็นวิธีการ ทำหน้าที่กัลยาณมิตรของท่านเป็นประเด็นสำคัญ อนึ่งเรื่องราวต่อไปนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่อาจจะกล่าวถึงบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย ทั้งนี้ผู้ศึกษาจะต้องทำความเข้าใจและควรที่จะแยกแยะ บุคคล ตลอดจนสถานที่ จนสามารถนำไปประยุกต์ในการปฏิบัติได้ทั้งในวัดหรือสถาบันอื่นๆ เช่น วัดใน ท้องถิ่น หรือโรงเรียนที่ตนจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้

        ความเป็นมาก่อนมาทำหน้าที่กัลยาณมิตร

          คุณหมอเข้าวัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 โดยมีกัลยาณมิตร ในการมาวัดครั้งแรกนั้นได้ไปกราบพระเดชพระคุณหลวงพ่อและคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คุณหมอชอบในความสะอาดของวัด และประทับใจในศีลาจารวัตรและอัธยาศัยคุณยาย แต่หลังจากนั้นก็ขาดช่วงไปไม่ได้มาวัด จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 จึงได้มาวัดอีกครั้ง และมาวัดจนกระทั่งปัจจุบัน

        แรงบันดาลใจในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

            หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้สัมผัสพระอาจารย์ ตลอดจนการมารู้จักกับน้องๆ ที่ดูแล ทำให้เข้าใจธรรมะและรู้ว่า เราไม่ใช่เกิดมาเพื่อทำมาหากินอย่างเดียว แต่เราเกิดมา สร้างบารมี ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า ในการสร้างบารมีนั้นต้องทำเป็นหมู่คณะ เราจะดีคนเดียวไม่ได้ เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราไม่ดี เราจะไม่สามารถมีชีวิตที่ปกติสุขในสังคมได้ ยิ่งมีอาชีพเป็นหมอจึงเห็นคนไข้ เห็นความทุกข์ของคนไข้ จึงอยากจะใช้หน้าที่การงานให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

         วิธีการในการทำหน้าที่

           ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น แพทย์หญิงท่านนี้ได้กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราต้องมีความจริงใจ มีความปรารถนาดีต่อเขาก่อน แล้วสังเกตแต่ละคนว่าเขาพร้อมที่จะฟังสิ่งที่เราจะพูดไหม ช่วงเวลาไหนที่ควร พูดเรื่องธรรมะ หรือพิจารณาว่าควรจะเล่าแต่เพียงธรรมะ หรือว่าชวนสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ถึงแม้จะมีความบริสุทธิ์ใจก็ตามจะต้องใจเย็น ทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างสม่ำเสมอ หมั่นโทรศัพท์ไปให้คำแนะนำและข้อคิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจและกำลังใจในการดำเนินชีวิต โดยในการทำหน้าที่นั้นเราจะต้องเริ่มต้นที่ใจว่า ต้องมีความเมตตากับทุกคน แล้วเราจะมีใจที่จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

        การวางตัวขณะทำหน้าที่

        แพทย์หญิงท่านนี้ได้เล่าถึงการวางตัวในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรว่าต้องสังเกตสิ่งรอบตัว และกระแสตอบรับว่ามีความพร้อมแค่ไหนต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาปฏิบัติตัวเราให้น่าเชื่อถือจนเป็นที่ยอมรับหมั่นตรวจสอบตนเองว่าเราเป็นแบบอย่างของเขาได้ไหม เพราะเขาจะดูว่าเราเข้าวัดแล้วนิสัยเป็นอย่างไรน่าคบไหม ดังนั้นเราต้องพยายามปรับปรุงตัวให้ดีที่สุดแม้จะมีผู้ที่มีอคติต่อเรา เราก็ไม่โกรธต้องให้อภัย แล้วเขาจะเข้าใจขึ้น จนกระทั่งเขายอมรับและยอมปฏิบัติตามความปรารถนาดีที่เราแนะนำ

       สู่การสร้างบารมีเป็นหมู่คณะ

          กลุ่มเริ่มต้นจากประมาณ 6 คน แล้วค่อยๆ โตขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิก 100 กว่าคน ซึ่งมีทั้งสมาชิกเก่า และที่เข้ามาใหม่ แต่ละคนมีอัธยาศัยคล้ายๆ กัน เป็นกลุ่มที่เข้ามาหากันด้วยความผูกพันทางใจ ความรักบุญปรารถนาดีต่อกัน

“ เหมือนเรามีความรู้สึก เราจะมารวมเป็นหมู่คณะ ชอบอะไรที่เหมือนๆ กัน ความคิดคล้ายๆ กัน คือไม่มีความคิดที่จะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันว่า จะต้องอยากได้หน้า อยากได้ความดี อยากได้ความรัก คือ เราทำความดีเพราะว่าเราอยากได้บุญ”

           โดยการรวมกลุ่มเริ่มจากหมอ จากหมอมีหมู่คณะที่เข้มแข็ง รักบุญเป็นคนเข้าใจบุญ มีความกระตือรือร้นที่จะขยายกลุ่ม ทุกคนจึงช่วยกัน ต่างคนต่างขยายรอบตัว ทำให้วงกว้างออกไป

        ข้อแนะนำในการทำงานเป็นหมู่คณะ

      ทุกคนต้องมีความจริงใจต่อกัน ไม่มีผลประโยชน์ เราจะได้บุญไปพร้อมๆ กัน เมื่อมีปัญหาหรือมีความข้องใจ รู้สึกไม่สบายใจขึ้นในกลุ่มต้องคุยกันบ่อยๆ โดยโทรศัพท์คุยกันมาพบกันนัดทำงานร่วมกันและปฏิบัติธรรมบ่อยๆซึ่งจากการสังเกตเมื่อปฏิบัติธรรมร่วมกันช่วงนั้นใจจะผ่องใสมีความสุขทุกคนอยากทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้ยิ่งขึ้นเข้าใจเรื่องบุญมากขึ้นดังนั้นต้องปฏิบัติธรรมรวมกันระยะยาวประมาณ ครั้งละ 10 วัน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

       กำลังใจในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

         กำลังใจเกิดจากคำแนะนำของพระอาจารย์ ที่ท่านบอกว่า เวลาทำหน้าที่ กัลยาณมิตร ให้ทำอย่าง เด็กขายพวงมาลัยที่ตั้งใจจะขายพวงมาลัย พอไฟแดงขึ้นเรามีหน้าที่ขาย ขายได้ไม่ได้ไม่ใช่หน้าที่ ไฟแดงขึ้นใหม่ออกไปขายใหม่ เช่นกันเราก็ต้องมีความปรารถนาดีที่จะเผยแผ่ธรรมให้เขา ชวนเขาทำความดีเขาก็ได้บุญ แม้จะรับได้แค่ไหน เราต้องทำใจเฉยๆ แล้วเราจะมีความสุข ได้บุญแล้ว เขาทำหรือไม่ทำ ทุกครั้งที่เราชวนก็ได้บุญแล้ว เราจะไม่หงุดหงิด ไม่ผิดหวัง เราจะมีกำลังใจจะไม่ท้อแท้ท้อถอย

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.009779433409373 Mins