กรณีศึกษาวัดพระธรรมกาย
องค์กรกัลยาณมิตรที่จะร่วมมือกันทำงานประสานกิจกรรมเพื่อสร้างสังคมให้มีสันติสุขนั้นดังที่ได้กล่าวแล้วว่ามี 3 องค์กรหลักคือบ้านกัลยาณมิตรสถาบันการศึกษากัลยาณมิตรและวัดกัลยาณมิตรสำหรับวัดกัลยาณมิตรนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงวัดพระธรรมกายเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างและในการศึกษาเรื่องของวัดพระธรรมกายโดยทั่วไปในบทต่อไปนี้นั้นในเบื้องต้นนี้จะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดจุดมุ่งหมาย และภารกิจของวัดจากนั้นจะนำเสนอสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งจะประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพและลักษณะการจัดระเบียบสังคมภายในวัดในปัจจุบันรวมทั้งจะอธิบายถึงความสัมพันธ์ภายในชุมชนของวัดพระธรรมกาย1)
ความเป็นมาและการดำเนินการสร้างวัด
วัดพระธรรมกายสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 ตรงกับวันมาฆบูชามีพื้นที่ในระยะบุกเบิกสร้างวัด 196 ไร่ อยู่ในพื้นที่ของวัดพระธรรมกาย และอยู่ในพื้นที่ของมูลนิธิธรรมกาย 2,534 ไร่2) ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 15 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยมีพระอธิการ ไชยบูลย์ ธมฺมชโย (ปัจจุบันเป็นที่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์) เป็นเจ้าอาวาส พระเผด็จ ทตฺตชีโว (ปัจจุบันเป็นที่ พระภาวนาวิริยคุณ) เป็นรองเจ้าอาวาส ปัจจุบัน (พ.ศ. 2546) มีพระภิกษุ 642 รูป สามเณร 373 รูป อุบาสก 144 คน อุบาสิกา 492 คน และพนักงาน 750 คน3)
ในการสร้างวัดพระธรรมกายการวางรากฐานระบบการบริหารจัดองค์กรและแนวการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดล้วนเป็นนโยบายอันเกิดจากปณิธานอันแน่วแน่ของบุคคลสำคัญ 3 ท่านได้แก่ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง4) ผู้เป็นประธานในกาสร้างวัดพระธรรมกาย พระราชภาวนาวิสุทธิ์5) และพระภาวนาวิริยคุณ6)
สำหรับคุณยายอาจารย์นั้น ท่านเข้ามาเป็นศิษย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระในรุ่นแรกๆ ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ธนบุรี พระวิปัสสนาจารย์ผู้มี ชื่อเสียง ในการสอนสมาธิภาวนาเพื่อให้เข้าถึง ธรรมกาย ซึ่งมีอยู่ในตัวตนเราทุกคน ส่วนพระราชภาวนาวิสุทธิ์ และพระภาวนาวิริยคุณนั้น ท่านได้ฝึกการเจริญวิปัสสนากับคุณยายอาจารย์มาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา
อาจกล่าวได้ว่าจุดกำเนิดของวัดพระธรรมกาย และการปฏิบัติสมาธิวิชชาธรรมกาย เกิดจากการสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่ถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติธรรมให้แก่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 และคุณยายอาจารย์ได้สอนวิธีการปฏิบัติธรรมดังกล่าวให้กับพระราชภาวนาวิสุทธิ์(หลวงพ่อธัมชโย) และพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) เมื่อครั้ง ยังเป็นนักศึกษา ในปี พ.ศ. 2506 และพ.ศ. 2509 ตามลำดับ ท่านทั้งสองได้เผยแผ่วิธีการสอนในเวลาต่อมา
1)เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง“การศึกษาเรื่องกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและพัฒนาบุคลากรของวัดพระธรรมกาย” , อัชวัน หงินรักษา อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (พุทธศาสตร์ศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2546.
2) มูลนิธิธรรมกาย, 29 ปีแห่งการสร้างคนดี วัดพระธรรมกาย, (กรุงเทพมหานคร : ยงวราการพิมพ์, 2543), หน้า 55.
3) ข้อมูลปี พ.ศ. 2545.
4) คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คือแม่ชี ซึ่งบวชรักษาศีล 8 นามเดิมคุณยายจันทร์ ขนนกยูง และได้สอนการปฏิบัติธรรมให้กับท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และรองเจ้าอาวาสในระยะเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม จึงได้เรียกนามว่า คุณยายอาจารย์ ส่วนคำต่อว่าท้ายว่า มหารัตนอุบาสิกานั้น ท่านเจ้าอาวาสได้ขนานนามท่านภายหลังมีการสลายร่างท่าน.
5) นามเดิม ไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี อุปสมบทเมื่ออายุ 25 ปี พ.ศ. 2512 เกิดวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2487 ได้รับฉายา ไชยบูลย์ ธมฺมชโย ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “ พระสุธรรมยานเถร” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “ พระราชภาวนาวิสุทธิ์” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2539.
6) นามเดิม เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี อุปสมบทเมื่ออายุ 29 ปี พ.ศ. 2514 ได้รับฉายา พระเผด็จ ทตฺตชีโว เกิดวันที่ 21 ธันวาคม 2483 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “ พระภาวนาวิริยคุณ” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535.