ปณิธานพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก เป็นคนอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมมีอาชีพเป็นพ่อค้าล่องข้าว เหตุที่ท่านตัดสินใจออกบวช เพราะมีความคิดว่า บิดาของเราได้ตายเหมือนกัน มาล่องข้าว ขึ้นจากเรือข้าวก็เจ็บมาจากตามทางแล้ว เมื่อขึ้นจากเรือข้าวไม่ได้กี่วันก็ถึงแก่กรรม เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เราที่ช่วยพยาบาลอยู่ไม่เห็นเลยที่จะเอาอะไรติดไป ผ้าที่นุ่งและร่างกายของแก เราก็ดูแลอยู่ ไม่เห็นมีอะไรหายไป ทั้งตัวเราแลพี่น้องของเราที่เนื่องด้วยแก ตลอดถึงมารดาของเราก็อยู่ ไม่เห็นมีอะไรเลยที่ไปด้วยแก แกไปผู้เดียวแท้ ๆ ก็ตัวเราเล่าต้องเป็นดังนี้ เคลื่อนความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้แน่7)
จากนั้นจึงตั้งจิตอธิษฐานให้ได้บวช และจะไม่ลาสิกขาจนตลอดชีวิต ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ 22 ปี ใน พ.ศ. 2449 การตัดสินใจบวชของท่านเกิดจากสาเหตุของการพิจารณาการมีชีวิตอยู่ทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของบุคคลใกล้ตัว และเมื่อตายไปก็ไม่สามารถนำอะไรไปได้ การบวชจึงเป็นวิธีการแสวงหา คุณประโยชน์ให้เกิดกับชีวิตที่ดีกว่าทางโลก เมื่อบวชแล้วท่านเพียรพยายามเรียนทั้งวิปัสสนาธุระและ คันถธุระ จนเวลาผ่านไป 11 ปี ในพรรษา ที่ 12 จึงมีความคิดอยากปฏิบัติธรรมให้เข้าถึง ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น ครั้นในวันเพ็ญกลางเดือน 10 พ.ศ. 2460 ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมโดยไม่ลุกจากที่นั่ง ณ อุโบสถ วัดบางคูเวียง (วัดโบสถ์บน)
ข้อความต่อไปนี้เป็นบันทึกของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (ท่านบันทึกเอง) ลงพิมพ์ใน มงคลสาร ปีที่ 1 เล่ม 1 เมื่อ 1 กันยายน 25078) ซึ่งแสดงว่า ท่านบรรลุธรรมภายในตัวท่าน มีใจความดังนี้
ประมาณครึ่งหรือค่อนคืนไม่มีนาฬิกา ก็เห็นผังของจริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ในหนังสือธรรมกาย ที่คุณพระทิพย์ปริญญาเรียบเรียงพิมพ์แจกไปแล้วนั้น ในขณะนั้นก็มาปริวิตกว่า คัมภีโรจายัง9) ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึกรู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิด ท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด
”เออมันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด”10)
วิตกอยู่ดังนี้สักครู่ใหญ่ ก็กลัวว่าความมีความเป็นนั้นจะเลือนไปเสีย จึงเข้าที่ต่อไปใหม่ ราวสักสามสิบนาทีก็เห็นวัดบางปลาปรากฏเหมือนตัวเองไปอยู่ที่วัดนั้น แต่พอชัดดีก็รู้สึกตัวขึ้นมา จึงมีความรู้สึกขึ้นมาว่าจะมีผู้รู้ผู้เห็นได้ยากนั้น ในวัดบางปลานี้จะต้องมีผู้รู้ผู้เห็นได้แน่นอน จึงมาปรากฏขึ้นบัดนี้ ต่อแต่นั้นมาก็คำนึงที่ไปสอนที่วัดนั้นอยู่เรื่อยๆ มาจนถึงออกพรรษารับกฐินแล้ว ก็ลาสมภารวัดบางคูเวียงไปสอนที่วัดบางปลา ราวสี่เดือน มีพระทำเป็นสามรูป คฤหัสถ์สี่คน นี้เริ่มต้นแผ่ธรรมกายของจริง ที่แสวงหาได้มาจริงปรากฏอยู่จนบัดนี้11)
หลังจากที่มีประสบการณ์ในการเข้าถึงธรรมด้วยตัวเอง ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะสอนผู้อื่น ให้ปฏิบัติตามด้วย จึงเริ่มต้นเผยแผ่การเข้าถึงธรรมกายไปยังพระภิกษุ และฆราวาสที่วัดบางปลาในระยะ เริ่มต้น
การเข้าถึงธรรมภายในของหลวงปู่วัดปากน้ำ ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดในการเผยแผ่ให้คนได้ปฏิบัติสมาธิในวงกว้าง พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้อธิบายการเข้าถึงธรรมของท่านว่า
ธรรมกายเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนามีอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ มากมายทีเดียวแต่ไม่มีคัมภีร์ไหนเลยที่บอกว่า ธรรมกายมีลักษณะเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน และจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด เมื่อหลวงปู่วัดปากน้ำท่านเข้าถึงธรรมกาย ความเห็นแจ้งกับความรู้แจ้งเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อน ไม่หลัง คือพอเห็น ธรรมกาย ก็รู้ว่านี่เรียกว่าธรรมกาย ความรู้เหล่านี้ต้องอาศัยการหยุดนิ่งอย่างเดียว ใช้มันสมองคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก มีใครบ้างที่ใช้ความนึกคิดหรือศึกษาเล่าเรียน จนเกิดความรู้ได้ว่าภพชาติก่อนๆ นั้นตนเองเคยเกิดเป็นอะไรเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายอยู่ในตระกูลไหนมีความเป็นอยู่อย่างไร คือรู้เรื่องราวของชีวิตในกาลก่อนนั้นได้12)
การสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำจึงมุ่งให้ผู้ปฏิบัติทำสมาธิ ทำทานและรักษาศีล เชื่อมั่นว่ากรรมมีจริง ส่งผลได้จริง ผลบุญผลบาปมีจริง นรกสวรรค์ โลกนี้โลกหน้ามีจริง
ต่อมาหลวงปู่วัดปากน้ำได้มาอยู่ที่วัดปากน้ำ ต. ท่าพระ อ. ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในยุคนั้น วัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่งในอำเภอนั้น ครั้นเมื่อเจ้าอาวาสลง สมเด็จพระวันรัต (ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพน ซึ่งขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านด้วย จึงแต่งตั้งหลวงปู่วัดปากน้ำ ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ในปี พ.ศ. 2459 และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 246113)
7) วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), (กรุงเทพมหานคร : ฟองทองเอนเตอร์ไพรส์, 2543.
8)วัดพระธรรมกาย,พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย (ม.ป.ท.), (เอกสารเผยแพร่).
9) คมฺภีโร จายํ ธมโม ทุทฺทโส ทุรานุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวยนิโย “ ธรรมนี้เป็นสภาพลึก เห็นได้ยากตรัสรู้ได้ยากเป็นธรรมสงบ ประณีต คิดคาดเดาไม่ได้ ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้” อ้างใน วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), หน้า 10.
10) วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), หน้า 50.
11)วัดพระธรรมกาย,พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย, (มปท.), (เอกสารเผยแพร่).
12) พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย), “ พรรษาวิสุทธิ์”, (กรุงเทพฯ : ฟองทองเอ็นเตอร์ไพร์ส, 2544), หน้า 66.
13) วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), หน้า 36-37.