ลักษณะของประสบการณ์ภายใน

วันที่ 17 มิย. พ.ศ.2558

ลักษณะของประสบการณ์ภายใน

      ในการนั่งสมาธิ เมื่อเราได้พยายามฝึกใจ จนกระทั่งใจเริ่มนิ่งหยุด ประสบการณ์ของการฝึกใจจะค่อยๆ ปรากฏเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

      เมื่อทำใจสบายได้อย่างต่อเนื่องคือ หยุด นิ่ง ไปเรื่อยๆ กายและใจจะเริ่มละเอียดอ่อน โปร่งเบา รู้สึกขยายคล้ายลอยอยู่ในอวกาศ เบาสบายจนบางที บางคนถึงกับลืมลมหายใจ หรือคล้ายไม่ได้หายใจ ทำให้ตกใจ เกรงว่าจะตายไปจริงๆ แต่ความจริงเป็นเพราะความสบายของใจ ทำให้ลมหายใจค่อยๆ ละเอียดอ่อน แล้วหยุดนิ่งอย่างมีความสุข แล้วความสุข ความสบายนั้น ขยายพองโตกลืนไปกับบรรยากาศรอบตัว

      เมื่อใดนั่งแล้วมีอาการสบายอยากนั่งต่อไปอีกนานๆ อยากนั่งทำใจให้หยุดนิ่งต่อไป เรื่อยๆ เช่นนี้ แสดงว่าทำถูกวิธีแล้ว  หากยังสามารถรักษาความหยุด นิ่ง สบาย ว่าง โล่ง โปร่ง เบา ต่อไปได้อีก ความสบายก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ จนสามารถเข้าถึงความสบายอย่างแท้จริง เป็นความสบายอย่างไม่เคยประสบมาก่อน มีความรู้สึกว่าร่างกายละเอียดอ่อน กายขยาย ใจขยายจนไม่มีขอบเขต

      คำว่าไม่มีขอบเขต คือ ความรู้สึกในกายหยาบซึ่งประกอบด้วยเลือดเนื้อของเราหมดไป คล้ายไม่มีร่างกาย ไม่มีตัวตน กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรรยากาศโดยรอบได้ โดยใจยังคงหยุดนิ่ง อยู่ตรงศูนย์กลางกายอย่างมั่นคง

     ใจหยุด คือ การที่เราสามารถมองเฉยๆ อยู่นิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกาย แต่ไม่ใช่การหยุดอยู่กับที่ การหยุดภายในต่างจากการหยุดภายนอก ยิ่งหยุดมาก จะยิ่งเห็น ยิ่งรู้สึกถึงการเคลื่อนเข้าสู่ความสว่างภายในมาก อุปมาเหมือนรถยนต์ต้องมีคันเร่งเป็นตัวเพิ่มความเร็ว ส่วนมนุษย์จะมีการหยุดภายในเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อน ให้เข้าไปสู่ความละเอียดอ่อนได้เร็วมากขึ้น

      หากยังคงดำเนินความหยุด นิ่ง เบา สบายต่อไปได้อีก ความสบายจะยิ่งเพิ่มขึ้น กายและใจจะสงบ นิ่ง ความราบเรียบของกายและใจ จะผสมผสานกันแน่วแน่ นิ่งสนิทนิ่งเหมือนถูกตรึงติดกับพื้น เป็นการหยุดนิ่งที่ไม่อึดอัด ไม่บีบบังคับ แต่กลับยิ่งเบาสบาย กายนั่งนิ่งจริง แต่ใจเบิกบาน ขยายใหญ่โต มีความรู้สึกพึงพอใจ ความสุขจะปรากฏเอ่อท้นขึ้นมาตอนนี้ เป็นความสุขที่ไม่เคยพบเห็น ไม่เคยได้รับ สุขอย่างปลอดโปร่ง ปลอดกังวล ไม่มีเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ เข้ามารบกวนใจ ราวกับนั่งอยู่คนเดียวในโลก โดยมีตัวของเราเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นความสุขละเอียดอ่อนประณีต ที่ไม่อาจหาได้จากที่ใดๆ ในโลก

      จากนั้น ปล่อยใจให้ดื่มด่ำกับความสุขที่บังเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกปกติ แล้วใจของเราจะค่อยๆ ปรับเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง หยุดสนิท หยุดความคิดทั้งหลายทั้งมวล คือ ไม่มีความคิดทั้งหลายไหลเข้ามารบกวน หยุดโดยไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องบังคับ เป็นการหยุดอย่างนุ่มเบา เป็นความสุขที่แปลกใหม่ เพราะ ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ มารวมหยุด สามัคคีเป็นจุดเดียวกันโดยธรรมชาติ ทำให้ใจของเรายิ่งแนบแน่นสนิทลงไปในกลางยิ่งขึ้น ไปเรื่อยๆ เห็น จำ คิด รู้ ยิ่งสนิทมากขึ้นเท่าไร ใจยิ่งสบาย ใจยิ่งขยาย กว้างใหญ่มากขึ้น เมื่อหยุดได้ที่ความสว่างจะค่อยๆ บังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย เริ่มต้นจากสว่างเพียงเล็กน้อยเหมือนฟ้าสาง จนกระทั่งสว่างเหมือนเที่ยงวัน เป็นความสว่างที่มาพร้อมกับความสุขสบาย ความสว่างจะเจิดจ้าแจ่มใส ไปตามลำดับของการหยุดนิ่งของใจ เป็นความสุข ความแจ่มใส แช่มชื่นเบิกบานที่ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น เพราะเป็นความสว่างภายใน ที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อใจของเราหยุดนิ่งอย่างละเอียดอ่อนแล้วเท่านั้น

      เมื่อหยุดนิ่งอย่างนี้ยิ่งขึ้นไปอีก เห็น จำ คิด รู้ จะยิ่งสนิทกันอย่างถูกส่วนจนกระทั่งใจตกศูนย์ ตกวูบเข้าไปในศูนย์กลางกาย เป็นความรู้สึกคล้ายถูกผลักตกจากที่สูงหรือคล้ายนั่งอยู่ปากเหวแล้วตกวูบลงไป พอตกวูบลงไปเท่านั้น ความบริสุทธิ์เบื้องต้นก็จะปรากฏให้เห็นด้วยใจ เป็นดวงใสสว่างขนาดตั้งแต่ดวงดาวเล็กๆ บนท้องฟ้า ดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ จนกระทั่งโตขนาดดวงอาทิตย์

      ดวงกลมใสสว่างดวงนี้เรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรม อันเป็นหนทางเบื้องต้นของพระอริยเจ้า จากนี้เป็นต้นไป หากรักษาความหยุดนิ่งต่อไปได้ จะมีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา คือ ใจจะอยู่กับตัวอย่างเต็มที่ เป็นการมีสติที่แท้จริง ไม่ต้องใช้ความพยายามในการนั่ง มีทั้งสติและสัมปชัญญะต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน อยู่ตรงกึ่งกลางของดวงธรรมนั้นนั่นเอง

      ณ จุดนี้ ควรทำให้ได้ทุกเวลา ทุกวันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะทำอะไร ลืมตาหรือหลับตาให้ตรึกระลึกถึงดวงธรรมกลมๆ ใสๆ อย่างสบายๆ เสมอ ยิ่งสบายเท่าไรจะยิ่งตรึกระลึกได้อย่างเป็นธรรมชาติ มากเท่านั้น ต้องทำให้เกิดความชำนาญ คือ ตรึกตลอดเวลาควบคู่ไปกับลมหายใจ จนกลายเป็นอัตโนมัติ แม้ไม่ได้นึก ก็สามารถเห็นได้จนกลมกลืนกันไปกับชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับลืมตาแล้วมองเห็น ท้องฟ้า ต้นไม้ คน สัตว์ สิ่งของ ฉะนั้น

      ถ้าสามารถทำให้หยุดนิ่งยิ่งขึ้นไปอีก จุดสว่างจะยิ่งขยายตัวกว้างออกไป ใหญ่โตเท่ากับพระจันทร์วันเพ็ญหรือพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ทั้งสุกใส ทั้งโตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดวงธรรมกลางกายยิ่งโต ยิ่งขยายออกไปมากเท่าไร ความสุข ความบริสุทธิ์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น มากจนเกิดความรู้สึกว่ากายใจของเราบริสุทธิ์ เกลี้ยงเกลาทั้งภายนอกภายใน สว่างจนกลมกลืนกันไปหมด ทั้งความรู้สึกที่กายหยาบกับความใสสว่างที่ศูนย์กลางกาย เป็นความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของดวงจิต ความบริสุทธิ์ที่มากับความสุข ความใสสว่างที่ทำให้ใจแจ่มกระจ่างสดใส สดชื่น และมีพลังไม่รู้จบ

      ในที่สุดเราก็จะสัมผัสได้กับแหล่งที่ทำให้ใจมีคุณภาพ สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างแจ่มชัดถึงความแตกต่างจากใจเดิมสมัยที่ยังถูกครอบงำด้วยกามฉันทะ ความพยาบาท ความลังเลสงสัย ง่วงเหงาหาวนอน ท้อถอย ตลอดจนความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

      ความบริสุทธิ์นี้สามารถทำให้รู้ได้ด้วยตัวเองว่า ใจที่ถูกครอบงำมาแต่เดิมเช่นนั้น ไม่สามารถเข้าถึงหรือสัมผัสความสุขภายใน รองรับความสุขไม่ได้ มีแต่ความสับสนวุ่นวายและไม่มีคุณภาพ

      ดวงธรรมจะทำหน้าที่กลั่นกรองใจให้มีคุณภาพ รองรับความสุขได้เต็มที่ ยิ่งใจสบาย ใจจะยิ่งหยุดนิ่ง ยิ่งเกลี้ยงเกลา ยิ่งถูกส่วนขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป คล้ายเวลากล่อมเด็กให้นอนหลับ ใจจะถูกกล่อมอย่างนุ่มนวลด้วยความบริสุทธิ์ สว่างใส จนนิ่งเบา รู้สึกเพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่าย เห็นคุณค่าของธรรมะด้วยตัวเอง และมีความรักในธรรมะอย่างซาบซึ้ง ซึ่งจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ใจหยุดเข้าสู่ภายใน เข้าถึงประสบการณ์ภายในศูนย์กลางกายได้ชัดเจนมากขึ้น สมบูรณ์ขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพให้ชีวิต เพิ่มคุณค่าให้จิตใจ ให้ความงดงามในการดำรงชีวิต และเข้าถึงชีวิตที่เป็นสุขจริงได้ด้วยดวงธรรม

 

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0041956663131714 Mins