ปรโลกเป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ

วันที่ 26 มิย. พ.ศ.2558

 

 

 ปรโลกเป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ

 

             ในทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า คนเกิดมาไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดถือกำเนิดในวัฏสงสารอีกยาวไกลจนกว่าจะถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ปุคคลสูตร2) ความว่า

            “    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง มีกองกระดูกใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ”

 

            พระดำรัสของพระพุทธเจ้านี้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตมนุษย์ไม่ได้สิ้นสุดที่เชิงตะกอน แต่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิต่างๆ อีกมากมาย นับภพนับชาติไม่ถ้วน ตราบวันสิ้นกิเลส

            มีคำศัพท์ที่น่าสนใจคำหนึ่ง คือ คำว่า “    สังสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร” ตามพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “    การเวียนว่ายตายเกิด”3) หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ภพ 3 ในกำเนิดทั้ง 4 คติ 5 วิญญาณฐิติ 7 (ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ) หรือสัตตาวาส 9 (ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์) เวียนว่ายตายเกิดจากภพนั้นไปภพนี้ กำเนิดนั้นไปกำเนิดนี้ วนเวียนไปมาตามกำลังบุญและบาปที่ตนกระทำไว้ ขอขยายความเพิ่มเติมในศัพท์เหล่านี้ เพื่อให้เข้าใจความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น

 

       ภพ 3 หมายถึง    

1.กามภพ

2. รูปภพ

3. อรูปภพ

      กำเนิด 4 หมายถึง

1. กำเนิดในไข่ (อัณฑชะ)

2. กำเนิดในครรภ์ (ชลาพุชะ)

3. กำเนิดในเหงื่อไคลหมักหมม (สัง-เสทชะ)

4. กำเนิดแบบเกิดแล้วโตทันที (โอปปาติกะ)

       คติ 5 หมายถึง

1. นรก

2. สัตว์เดียรัจฉาน

3. เปรต

4. มนุษย์

5. สวรรค์ (ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)

 

      วิญญาณฐิติ 7 คือ ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ มี 7 อย่าง ได้แก่

1. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น มนุษย์ เทพบางเหล่า

2. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พรหมผู้กำเนิดในภูมิปฐมฌาน (พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา พรหมมหาพรหม)

3. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกาย อย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกอาภัสสราพรหม

4. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญา อย่างเดียวกัน เช่น สุภกิณหพรหม

5. สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ

6. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ

7. สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ

 

            สัตตาวาส 9 คือ ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ มี 9 อย่าง เหมือนกับวิญญาณฐิติ 7 ต่างกันตรงที่เพิ่มข้อ 5 เข้ามาเป็น สัตว์เหล่าหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่มีการเสวยเวทนา เช่น พวกเทพผู้เป็นอสัญญีสัตว์ เลื่อนข้อ 5 6 7 ออกไปเป็นข้อ 6 7 8 แล้วเพิ่มข้อ 9 คือ สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ

            สรุปว่าศัพท์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นภพภูมิที่ตั้งของปรโลก เพียงแต่จำแนกแยกแยะให้เหมาะกับเหตุการณ์ หรือเหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ แต่ความหมายโดยรวมแล้ว หมายถึง สถานที่อยู่ของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในภพภูมิต่างๆ ของปรโลก หากจะอุปมาให้เข้าใจง่ายขึ้นก็เหมือนกับ การจำแนกประเภทสัตว์ เช่น สัตว์มี 2 ชนิด คือ สัตว์บก สัตว์น้ำ ถ้ามี 3 ชนิด ก็จะเพิ่ม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือแยกสัตว์ตามประเภทของจำนวนขาสัตว์ อาจจะได้ 3 ประเภท คือ สัตว์มีเท้ามาก สัตว์มีเท้าน้อย สัตว์ไม่มีเท้า สามารถแยกให้เหมาะสมกับการนำใช้งานว่า เหมาะสมกับงานใด แต่ทั้งหมดก็หมายถึง สัตว์เดียรัจฉานทุกชนิดในโลกนั่นเอง

            สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏนี้ จึงเหมือนถูกขังอยู่ในคุกขนาดใหญ่ อุปมาเหมือนเชลยศึกที่ถูกจองจำ เป็นประดุจโคงานที่เขาเทียมไว้ หรือประดุจวัวที่ผูกไว้กับหลัก ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไว้ใน มหาสีหนาทสูตร4) ว่า

 

            “    ดูก่อนสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะและทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูก่อนสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่ขั้นปัญจสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก”

จากพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดใน 31 ภูมิ เว้นแต่ปัญจสุทธาวาส เพราะเป็นภูมิที่อุบัติของพระอนาคามีบุคคลเท่านั้น ที่สามารถทำความเพียรจนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งพระองค์ไม่ได้มุ่งหมดกิเลสในภพนั้น และแม้แต่สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ยังคงเวียนวนไปมาในภพภูมิต่างๆ ด้วยอาการที่เวียนว่ายตายเกิดนี้ จึงเรียกว่า วัฏสงสาร ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ

 

1. เหฏฐิมสงสาร คือ การท่องเที่ยวไปในโลกเบื้องต่ำ ซึ่งมีอยู่ 4 ภูมิ ได้แก่ นิรยภูมิ คือ โลกนรก ซึ่งมีทั้งมหานรก อุสสทนรก ยมโลก เปตติวิสยภูมิ เป็นโลกของเปรต อสุรกายภูมิ เป็นโลกของอสุรกาย และดิรัจฉานภูมิ โลกของสัตว์เดียรัจฉาน

2. มัชฌิมสงสาร คือ การท่องเที่ยวไปในโลกเบื้องกลาง มีอยู่ 7 ภูมิ คือ มนุสสภูมิ เป็นโลกมนุษย์ และเทวภูมิ 6 ภูมิ คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี

3. อุปริมสงสาร คือ การท่องเที่ยวไปในโลกเบื้องสูง เป็นที่อยู่ของรูปพรหมผู้ได้บรรลุรูปฌานสมาบัติ ตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงจตุตถฌาน มีอยู่ 20 ภูมิ คือ พรหมปาริสัชชา ปุโรหิตา มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เวหัปผลา อสัญญีสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา และอรูปพรหมผู้ได้บรรลุฌานสมาบัติที่ละเอียดกว่ารูปพรหม 4 ภูมิ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ในหัวข้อนี้ นักศึกษาได้ทำความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายหลังจากที่ตายแล้วว่า จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้ว และไม่ใช่เป็นการ ตายเกิดเพียงภูมิเดียว หรือชาติเดียว แต่เป็นการเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกว่าจะละอกุศล สั่งสมกุศล จนเป็นเหตุให้กำจัดกิเลสในตัวให้หมดสิ้น ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานได้ ซึ่งปรโลกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารที่ประกอบด้วย กิเลสภายในตัวของสรรพสัตว์ทั้งหลาย สถานที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่มีผลอันเนื่องมาจากการกระทำที่เรียกว่า วิบาก และกฎแห่งกรรมที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายอยู่ในภูมิต่างๆ

 

--------------------------------------------------------------------------

 

2) ปุคคลสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 ข้อ 441 หน้า 521.
3) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ 2546, หน้า 1161.
4) มหาสีหนาทสูตร, มัชณิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 18 ข้อ187 หน้า 60.

 

จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา

                                                                                                                                                           องค์รวมแห่งปรโลก
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011088172594706 Mins