ปรโลกเป็นสถานที่อยู่ของชีวิตหลังความตาย เป็นสถานที่หมุนเวียนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ประกอบกุศลกรรม และอกุศลกรรมได้วนเวียนไปมา เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามแต่อกุศลและกุศลที่ได้สั่งสมไว้ครั้งเป็นมนุษย์ และปรโลกยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์เช่นเดียวกับโลกมนุษย์อีกด้วย เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงไปได้ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปในที่สุด
ก่อนอื่นนักศึกษาควรทำความเข้าใจก่อนว่า กฎของไตรลักษณ์ หมายถึงอะไร ซึ่งจะอธิบายสรุปพอให้เข้าใจดังนี้ ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ 3 อย่าง ประกอบด้วย อนิจจัง คือ สภาพที่ไม่เที่ยงแท้ ทุกขัง คือ สภาพที่เป็นทุกข์ อนัตตา คือ สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ขออธิบายทั้ง 3 ศัพท์ เพิ่มเติมดังนี้
อนิจจัง
คือ สภาพที่ไม่เที่ยง เช่น สังขารา อนิจจา ปรากฏอยู่ในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า แปลว่า สังขารไม่เที่ยง ความจริงแล้วอะไรไม่เที่ยง คำตอบ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา บ้านที่เราอาศัย ข้าวของเครื่องใช้ คนที่เรารัก ไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่างหนึ่ง แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่เที่ยง ที่ว่าไม่เที่ยงเพราะมันปรวนแปร เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ไม่คงที่ คงเดิม แต่เดิมเป็นอย่างหนึ่ง ต่อมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างเช่นร่างกายของเรา เคยมีผิวพรรณผ่องใส เต่งตึง เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผิวพรรณก็เริ่มเหี่ยวแห้ง มีรอยย่นไปตามวัย ในที่สุดก็ตายกลับกลายเป็นธาตุเดิมของมัน อาการที่เปลี่ยนแปลงนี้ เรียกว่า อนิจจัง
ทุกขัง
คือ สภาพที่เป็นทุกข์ เราคงรู้จักในลักษณะของความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือความลำบาก อย่างนั้นเรียกว่า ทุกขเวทนา แต่ถ้าเป็นทุกข์ในลักษณะของไตรลักษณ์แล้ว ไม่ได้หมายถึงความลำบาก แต่หมายถึง อาการที่สิ่งต่างๆ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เช่น ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เมื่อเกิดใหม่ เป็นทารก พอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น เราจะให้เด็กทารกไม่โตเป็นวัยรุ่นไม่ได้ ร่างกายจะต้องแปรเปลี่ยนไปตามสภาพของมัน ไม่สามารถรักษาสภาพเดิมได้ อย่างนี้เรียกว่า ทุกข์
อนัตตา
คือ สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ชาวโลกมีความสำคัญตนว่า มีตนเป็นของตน และสำคัญว่า มีของเป็นของตน เช่น เงินทอง ไร่ นา บ้าน แต่ทั้งตนและของของตนนั้น มันถูกประกอบขึ้นจากธาตุต่างๆ อย่างเช่น ตัวเราก็ถูกประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป (รูปต้นเดิม) มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นตัวเรา แต่พอแยกธาตุเหล่านี้ออกจากสภาพเดิมก็ไม่ใช่ตัวเราแล้ว หรือที่เป็นของของเราก็เช่นกัน มันไม่ใช่ตัวตน เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจ ถ้ามันเป็นตัวตนจริงต้องอยู่ในอำนาจเรา สั่งอะไรต้องได้อย่างนั้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น นักศึกษาคงทราบความหมายของไตรลักษณ์แล้วว่า มีลักษณะอย่างไรต่อไป จะกล่าวถึงปรโลกว่าทำไมจึงเป็นไตรลักษณ์ ดังที่กล่าวมาเบื้องต้นในหัวข้อแรกๆแล้วว่า ปรโลกนั้นประกอบด้วยภพภูมิต่างๆ มากมายถึง 31 ภูมิ ภพภูมิเหล่านี้ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ทั้งหมด คือ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่ว่าจะภพภูมิที่ดี ที่เสวยสมบัติอันประเสริฐสุด ดุจพระเจ้าจักรพรรดิก็ดี หรือองค์อัมรินทร์จอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ดี หรือมีความสุขจากฌานดุจพรหมและอรูปพรหมก็ดี แม้จะมีความสุขขนาดไหน แต่ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนตลอดไป เมื่อถึงคราวย่อมต้องพลัดพรากจากความสุขนั้นๆเป็นธรรมดา
เมื่อถึงคราวสิ้นอายุขัยในแต่ละภพ ย่อมจะเคลื่อนจากอัตภาพนั้น ท่องเที่ยวไปเกิดในภูมิอื่นๆอีก ภายใต้วัฏสงสารดังที่กล่าวมาแล้ว หากประกอบอกุศลกรรมไว้ ด้วยใจที่เศร้าหมองก็มีโอกาสพลัดไปสู่อบาย ต้องทนทุกข์ทรมานในวัฏสงสารเบื้องต่ำ ถ้าประกอบกุศลกรรมไว้ เมื่อกรรมฝ่ายอกุศลเบาบางก็จะไปบังเกิด ตามอำนาจแห่งกรรมนั้นในวัฏสงสารเบื้องกลาง หรือถ้าหมั่นทำภาวนาจนได้ฌานก็มีโอกาสไปเกิดเป็นพรหม หรืออรูปพรหม ในวัฏสงสารเบื้องสูง เมื่อหมดอายุขัยในแต่ละชั้นก็จะวนเวียนไปมาตามภพภูมิต่างๆ ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะหมดกิเลส
หรือเมื่อกล่าวถึงพวกสัตว์นรก เมื่อสิ้นอายุในนรกแล้ว บางทีก็กลับไปเกิดซ้ำในขุมเดิม หรือไปเกิด ในขุมใหม่ เพราะทำบาปอกุศลหลายอย่าง หรืออาจจะเกิดในอุสสทนรก ยมโลกต่อไป เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานเรื่อยไป วนเวียนไปมา อย่างไม่รู้จบสิ้นเช่นกัน
นักศึกษาจะเห็นได้ว่า ในโลกนี้และปรโลกไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนที่แท้จริง ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นทุกข์ ที่กล่าวถึงในหัวข้อนี้ เป็นความไม่เที่ยงของชีวิตในปรโลกที่ยังมีการวนเวียนไปมา ไม่แน่นอนในระหว่างภพภูมิต่างๆ เท่านั้น ยังไม่ได้กล่าวถึงความเสื่อมสลายของภพภูมิต่างๆ ที่จะถูกทำลายโดยไฟบรรลัยกัลป์ น้ำบรรลัยกัลป์ หรือลมบรรลัยกัลป์ ที่สะท้อนให้เห็นสภาพของไตรลักษณ์ว่า มันต้องเสื่อมสลายไป ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจทั้งสิ้น
--------------------------------------------------------------------------
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
องค์รวมแห่งปรโลก