สังคหวัตถุ 4

วันที่ 30 มิย. พ.ศ.2558

 

สังคหวัตถุ 4

            การประคับประคองชีวิตคู่ ให้อยู่กันได้ยืนยาว เป็นคู่บุญคู่บารมีกัน ทางธรรมใช้ “ หลักสังคหวัตถุ 4 ” เป็นการรักษาชีวิตคู่ให้ยืนยาวมีดังนี้

ประการที่ 1 คือ ทาน ได้แก่ การแบ่งปันกัน แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่

  1. อามิสทาน คือการให้ วัตถุ สิ่งของ หรือเงิน เมื่อรู้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดแคลนด้านใดก็จัดหามาให้ หรือไปนอกสถานที่แปลกใหม่มา ซื้อของใช้ของกินยอดนิยมมาฝาก เป็นการบ่งบอกถึงการระลึกถึงอยู่เสมอ อีกส่วนหนึ่งด้วย ยกเว้น การให้สุรา สารเสพติดหรืออาวุธ ตลอดจนสิ่งที่ทำให้เกิดการมัวเมาในกาม ทำให้เกิดเป็นภัยกับชีวิต
  2. ธรรมทาน คือ การให้ข้อคิดเป็นคติเตือนใจ เมื่ออีกฝ่ายกำลังหลงผิด หรือเกิดมิจฉาทิฐิขึ้น แต่ต้องดำเนินการโดย วิธีการอันแยบคาย ไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเหมือนถูกสั่งสอน จะเกิดการต่อต้าน แต่ต้องใช้วิธีโน้มน้าวใจให้คิดตาม หรือยกเรื่องอื่นมาเล่าเปรียบเทียบ เพื่อเกิดสัมมาทิฐิ หรือพาไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ ที่เคารพนับถือ ให้ท่านช่วยสอนให้ข้อคิด
  3. อภัยทาน คือ การให้อภัยกัน ไม่จองเวร เจ้าคิดเจ้าแค้น จนตนเองก็หาความสุขไม่ได้ แม้ว่าสิ่งดังกล่าวจะทำได้ยากแต่สิ่งนี้ คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตคู่อยู่กันได้ยั่งยืน

            นอกจากนั้นการดูแลบุพการีของทั้งสองฝ่าย มิให้อนาทรร้อนใจ ถ้าอาศัยอยู่เรือนเดียวกัน ก็ต้องดูแลปัจจัยสี่ มิให้ขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าอยู่คนละแห่ง ก็ต้องจัดหาข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองส่งให้ท่าน ไว้ใช้จ่ายส่วนตัวโดยมิต้องร้องขอ เพราะบิดามารดา คือพระอรหันต์ในเรือน

 

ประการที่ 2 คือ ปิยวาจา ได้แก่ ให้เกียรติกัน ให้กำลังใจกัน

            ถ้ายกตนข่มท่านโดยคิดว่า ถ้าขืนให้เกียรติ เขาจะมาข่มเรา ต้องข่มเขาเอาไว้ก่อน ชีวิตก็จะทุกข์ทันที ต้องรู้จักยกย่องให้เกียรติเขา ทำให้เมื่ออยู่ใกล้เราแล้วเขาสบายใจ เกิดความมั่นใจ แม้ในยุคที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายออกไปลุยข้างนอกมาสารพัด พอกลับมาถึงบ้าน แม่บ้านทำให้สามีรู้สึกมีความมั่นใจ เกิดความเชื่อมั่นได้ จะสามารถกลับไปสู้ศึกข้างนอกได้ อย่างมั่นคงมั่นใจ

            มาถึงยุคปัจจุบัน ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ส่วนใหญ่ต่างต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างต้องเติมเต็มให้ซึ่งกันและกัน ตรงนี้ทำให้คู่ชีวิตมีความรู้สึกว่ามั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น มีความรู้สึกได้รับการให้เกียรติ อยู่ข้างนอกจะไปเจอศึกสารพัดบาดเจ็บมายังไง พอกลับถึงบ้านแล้วครอบครัวอบอุ่น มีคนเคียงข้างที่พร้อมจะเยียวยา พร้อมจะรับฟังปัญหา

            คำว่า “ ปิยวาจา ” ไม่ได้แปลว่าพูดเพราะอย่างเดียว นั่นเป็นแค่เปลือกผิวนอกสุด นัยของ “ ปิยวาจา ” คือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสบายใจ ได้รับการให้เกียรติเกิดความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น

            การฟังอย่างตั้งใจก็เป็น “ ปิยวาจา ” อย่างหนึ่ง อีกฝ่ายเจอปัญหามาระบายให้ฟัง การแสดงท่าทีพร้อมรับฟัง ฟังอย่างตั้งใจ จับประเด็นได้ เสริมแง่คิดบางข้อ  แล้วพูดเชียร์ชมให้กำลังใจอีกฝ่าย จนเขาเกิดใจฟูขึ้นมา นั่นแหละ คือ ปิยวาจา บางทีพูดไม่กี่คำ แต่รับฟังเสียเป็นส่วนใหญ่ จนคนที่คุยด้วยสบายใจ ต่างเสริมกำลังใจ เสริมความเชื่อมั่นให้แก่กัน

 

ประการที่ 3 คือ อัตถจริยา ได้แก่ ทำตนให้เป็นประโยชน์

            อยู่ด้วยกันแล้วไม่ใช่ว่าจะนอนเอกเขนก ให้อีกฝ่ายมาคอยเอาใจให้บริการอย่างเดียว แต่ว่าต้องเป็นคู่ชีวิต คือ สร้างชีวิตด้วยกัน ต้องพิจารณาตั้งคำถามให้กับตนเองว่า

เราจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับครอบครัวได้อย่างไรบ้าง

สิ่งใดที่ตัวเราควรทำ

อะไรจะมาเสริมให้ชีวิตการครองเรือนสมบูรณ์ขึ้น

            ยุคนี้ผู้หญิงผู้ชายทำงานด้วยกันทั้งคู่ เลิกงาน กลับบ้าน หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ใครถนัดงานอะไร มีจุดแข็งจุดเด่นด้านไหน ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวว่า หญิงต้องทำอาหาร ชายต้องเป็นช่าง ผู้ชายบางคนชอบทำกับข้าวก็มี แต่ละฝ่ายถนัดเรื่องอะไรก็ทำเรื่องนั้น ช่วยกันคนละไม้ละมือ ถ้าอย่างนี้จะทำงานสนุก ทำงานคนเดียวบางทีก็เบื่อ พอช่วยกันทำรู้สึกเสร็จเร็ว มีกำลังใจคึกคักที่จะทำ ต่างฝ่ายต่างต้องฝึกตนเอง ให้เป็นคนมีประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น

  • งานบ้าน เก็บกวาดเช็ดถูบ้าน ซักผ้ารีดผ้า ทำอาหาร ล้างถ้วยจาน ทำความสะอาดห้องน้ำ จัดตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ เป็นต้น
  • งานช่าง การซ่อมแซมอุปกรณ์ของใช้ในบ้านที่ชำรุด เช่น ก๊อกน้ำรั่ว หลอดไฟเสีย ฟิวส์ขาด ราวตากผ้าหลุด พื้นบ้านชำรุด เป็นต้น
  • งานสวน ปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ตกแต่งกิ่งไม้ ทำปุ๋ย ใส่ปุ๋ย รดน้ำพรวนดิน กำจัดวัชพืชเป็นต้น

 

นัยนี้ ส่วนใหญ่คนทั่วไปมักจะมองข้าม นึกเพียงว่า “ อัตถจริยา ” เป็นเพียงทำประโยชน์ให้อีกฝ่ายหนึ่งแล้วก็จบ การที่เราจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นมากๆ เราต้องฝึกตนเองให้เป็นคนมีประโยชน์ก่อน ฉะนั้น เราควรขวนขวายพัฒนาตนเอง

 

ประการที่ 4 คือ สมานัตตตา ได้แก่ การวางตนตามบทบาทฐานะอย่างสม่ำเสมอ

            ไม่อารมณ์ขึ้นลงวูบวาบ น้ำขึ้นน้ำลง เดี๋ยวก็หวานแหว เดี๋ยวก็ปึงปังอาละวาด จนอีกฝ่ายทำตัวไม่ถูก ต้องมีความสม่ำเสมอในอารมณ์ รู้บทบาทฐานะตนเอง แล้วทำได้อย่างถูกต้อง ถ้าทำอย่างนี้ชีวิตการครองเรือน จะสอบผ่าน ต่อให้ค่าเฉลี่ยทั้งสังคมมีคนสอบผ่านได้ 10 % เราก็อยู่ในส่วนยอดของ 10 % นั้นอย่างแน่นอน

            ฝากไว้เป็นข้อคิดว่า เราทุกคนเคยขัดใจตนเองไหม ร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่าเคย ตัวของเรามือของเรา เท้าของเรา ปากของเรา เราสั่งได้ทุกอย่าง บางครั้งยังทำไม่ถูกใจตนเองเลย เพราะฉะนั้น ถ้าหวังว่าให้ใครทำอะไรให้ถูกใจเราหมด บอกได้เลยว่า “ ต้องผิดหวังแน่นอน ” เพราะเรา “ หวังผิด ” ลิ้นกับฟันมันต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา ให้เตรียมตัวเตรียมใจแต่เนิ่นๆ อย่าไปตั้งความหวังไว้สูงนัก และให้อดทนมากๆ ให้รู้ว่าชีวิตมันก็เป็นแบบนี้แหละ

            ดังนั้น เมื่อคิดจะครองเรือนแล้ว อย่าไปหวังให้ใครทำอะไรให้ถูกใจเรา เราจะผิดหวัง แต่ให้คิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ถูกใจเขา เราจะไปเติมเต็มส่วนพร่องส่วนขาดของเขาได้อย่างไร แล้วก็ฝึก ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา ให้ดี เราจะสอบผ่านการครองเรือน อยู่ด้วยกันด้วยความผาสุกตลอดไป

 

“ เกิดเป็นหญิงให้เห็นว่าเป็นหญิง

อย่าทอดทิ้งกริยาอัชฌาสัย

เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ

ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์

แม้นผัวเดือดเจ้าจงดับระงับไว้

อย่าพอใจขึ้นเสียงเถียงประสม

เขาเป็นไฟเราเป็นน้ำค่อยพรำพรม

แม้นระดมขึ้นทั้งคู่จะวู่วาม ”

“ สุภาษิตสอนหญิง ” สุทรภู่

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 "อย่ามโน รักแท้มันใหญ่มาก "
ผลงานโดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ 
วางแผงจำหน่ายแล้วที่ ร้านหนังสือชั้นนำดังต่อไปนี้
1.ร้านซีเอ็ดบุ๊ค
http://goo.gl/IG6uUz
2.ร้านนายอินทร์
http://goo.gl/e5JlbF
3.ศูนย์หนังสือจุฬาฯ
http://goo.gl/iX2fZ3
4. ร้านคิโนะคูนิยะ
http://goo.gl/Xh0uua

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018103750546773 Mins