การที่มนุษย์ทั้งหลาย จะได้ไปเกิดเป็นเปรต เสวยความทุกข์ทรมาน เพราะความอดอยาก ได้รับความกระหายอย่างแสนสาหัสนั้น ใช่ว่าจะไปเกิดเองโดยมิต้องอาศัยเหตุปัจจัยอะไร
การที่มนุษย์ทั้งหลายจะต้องไปเกิดเป็นเปรต มีชีวิตอยู่ในอบายภูมิหลังจากละโลกไปแล้ว ก็เพราะมีเหตุมีปัจจัย หรือปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ไปถึงเปรตนั้น ได้แก่ อกุศลกรรมบถ กล่าวคือ ความชั่วที่ทำไว้ทางกาย วาจา ใจ เช่นเดียวกับเหตุปัจจัยอันเป็นปฏิปทาให้ไปสู่นรกตามที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน แต่เพื่อให้เข้าใจได้อย่างแม่นยำ จึงขอนำเอาอกุศลกรรมบถมากล่าวซ้ำไว้อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
อกุศลกรรมบถ 10 ประการ
ก. กายกรรม หรือ การทำบาปทางกาย มี 3 คือ
1. ฆ่าสัตว์
2. ลักทรัพย์
3. ประพฤติผิดในกาม
ข. วจีกรรม หรือ การทำบาปทางวาจา มี 4 คือ
1. พูดเท็จ
2. พูดส่อเสียด
3. พูดคำหยาบ
4. พูดเพ้อเจ้อ
ค. มโนกรรม หรือ การทำบาปทางใจ มี 3 คือ
1. โลภอยากได้ของเขา
2. พยาบาทปองร้ายเขา
3. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม
เมื่อผู้ใดประพฤติอกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ ผู้นั้นชื่อว่านำตนเดินไปตามปฏิปทาทางไปสู่โลกเปรตแล้ว และเมื่อเขาขาดใจตายไปจากมนุษยโลกนี้ หากว่าอกุศลกรรมนั้น สามารถนำเขาไปสู่นิรยภูมิ คือ โลกนรกได้ เขาก็จักต้องไปเสวยทุกข์โทษอยู่ในนรกก่อน พอสิ้นกรรมพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปยังมี จึงจะไปเกิดเป็นเปรตต่อในภายหลัง นี้จำพวกหนึ่ง
อีกจำพวกหนึ่งนั้นมีอกุศลกรรมบางเบา ไม่ถึงขั้นที่จะต้องตกนรกก็ไม่ต้องไปผ่านแดนนรก แต่จะตรงไปเกิดในโลกเปรตเลยทันที ซึ่งในกรณีหลังนี้มีข้อที่ควรจะทราบไว้ ดังต่อไปนี้
เมื่อมนุษย์ผู้มีจิตไม่บริสุทธิ์ ประพฤติอกุศลกรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นการนำตนให้เดินไปตามปฏิปทาทางไปสู่เปตติวิสัยแล้ว ในขณะที่จะขาดใจตายจากมนุษย์ไปผุดเกิดเป็นเปรตนั้น ย่อมจะมีเหตุการณ์อันแสดงว่าตนจักได้ไปเกิดเป็นเปรตแน่ๆ คือ คตินิมิต ซึ่งบ่งบอกถึงคติแห่งโลกเปรตที่ตนจักต้องไปเกิด เช่น บางทีให้เห็นเป็นหุบเขาหรือถ้ำอันมืดมิด เป็นสถานที่เงียบวิเวกวังเวงและปลอดเปลี่ยว บางทีให้เห็นเป็นแกลบและข้าวลีบมากมาย ให้รู้สึกหิวโหยอาหารและกระหายน้ำเป็นกำลัง บางทีให้เห็นเป็นน้ำเลือดน้ำหนองน่ารังเกียจสะอิดสะเอียนเป็นยิ่งนัก และให้เห็นไปว่าตนได้ดื่มกินน้ำเลือดน้ำหนองเหล่านั้นเป็นอาหาร
ภาพเหล่านี้มาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มใสในมโนทวารคือทางใจ จิตยึดเหนี่ยวไว้เป็นอารมณ์ เมื่อดับจิตตายลงไปในขณะนั้น ก็น้อมนำไปเกิดในทุคติภูมิ คือ เกิดเป็นเปรต ต้องเสวยทุกขเวทนาตามสมควรแก่กรรมชั่วที่ตนได้ทำไว้ เพราะคตินิมิตเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้รู้ว่า เขาผู้นั้นจะต้องไปเกิดเป็นเปรตอย่างแน่นอน และเมื่อเขาได้ไปเกิดเป็นเปรตแล้ว เป็นอันแสดงว่า บัดนี้ เขาผู้ประพฤติอกุศลกรรม ซึ่งนำตนเดินไปตามปฏิปทา ทางไปสู่เปรตอสุรกาย ได้บรรลุถึงถิ่นที่ต้องไปอย่างเที่ยงแท้แล้ว
สรุปสาระสำคัญของเปตติวิสยภูมิ
เปตติวิสยภูมินั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนกับต้นไม้ในพื้นที่อันไม่เสมอ มีใบอ่อนและใบแก่ โปร่งเบา มีร่มเงาอันโปร่ง เป็นสถานที่ที่ไม่น่ารื่นรมย์ เพราะแห้งแล้งเต็มไปด้วยความทรมาน เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งประพฤติอกุศลกรรมนำชีวิตของตนไปในทางอกุศลกรรม ผู้นั้นชื่อว่านำตนไปสู่ปฏิปทาทางไปสู่ต้นไม้อันหาความสุขสบายมิได้ คือ เปตติวิสยภูมินั้นอย่างแน่นอน
นักศึกษาลองย้อนกลับมานึกถึงตัวเราบ้าง เราท่านทั้งหลาย ผู้มีโชคดีเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ เมื่อได้รับฟังคำชี้แจงคำบอกเล่าจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระญาณอันวิเศษสุดของเราเช่นนี้แล้ว การที่จะงมงายประพฤติอกุศลกรรมอันเป็นบาปหยาบช้าลามกทั้งหลายไปด้วยความดื้อรั้น เพราะอำนาจแห่งทิฏฐิมานะ ไม่เชื่อมั่นในคำของพระพุทธองค์ แล้วเดินทางเซซังไปสู่ดินแดนแห่งต้นไม้แห้งโกร๋น ที่มีแต่ความแห้งแล้งทรมาน คือ แดนเปรตอสุรกายนั้น ย่อมเป็นการไม่สมควร ดังนั้น ควรนำตนหลีกออกจากทางอันชั่วช้าเลวทรามนั้นเสียโดยรวดเร็ว ก่อนที่เราจะลาจากโลกนี้ไป
-----------------------------------------------------------------------------------
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
อบายภูมิ