ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2558

 

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

 

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา
            ในเรื่องความเป็นมาของวันเข้าพรรษา ถ้าว่ากันตามประวัติย่อๆ คือ ในยุคต้นพุทธกาล ก็ยังไม่มีการเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่าท่านควรจะไปเทศน์ ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ ท่านพอมีเวลา ท่านก็จะไป หรือไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนมันเงียบ มันสงัดดี เหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ(Meditation)ของท่าน ท่านก็จะไป ซึ่งแน่นอน ส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ไกลๆออกไปจากตัวเมือง หรือว่าต้องผ่านไปในชนบทนั่นเอง
 
            จากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ เนื่องจากในฤดูฝนที่เขาทำไร่ทำนากันอยู่นั้น บางครั้ง ข้าวกล้าของเขาก็เพิ่งหว่านลงไปในนา มันเพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้า พระภิกษุก็เดินผ่านไป นึกว่ามันเป็นดงหญ้า ก็เลยย่ำข้าวกล้าของเขาไป ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็มาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระไปย่ำข้าวของเขาที่ปลูกเอาไว้ หว่านเอาไว้ นกกาฤดูฝนมันยังอยู่กับรังของมัน พระทำไมไม่รู้จักพักบ้าง เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงกำหนดให้พระภิกษุ เมื่อเข้าพรรษา หรือเมื่อเข้าฤดูฝน ให้พระอยู่กับที่ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15 ค่ำเดือน11 ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใคร ถ้าใครต้องการให้โปรด ก็มาที่วัดก็แล้วกัน มาหาท่าน ไม่ใช่ท่านไปหาเขา กำหนดเป็นอย่างนี้ไป เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ใครมาบ่นลูกของพระองค์ได้
 
          แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระองค์ทรงถือโอกาสที่เกิดเป็นปัญหานี้ ได้ทรงเปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุว่า ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ในการอบรมถ่ายทอดศีลธรรม ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้น ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นที่เป็นทางต่อเนื่องกันทุกวันทุกวัน อย่างนี้จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดี
          เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยทรงกำหนดขึ้นมาว่า ให้พระภิกษุอยู่กับที่ในช่วงเข้าพรรษาอยู่ในวัด แล้วพระใหม่ก็ศึกษาหรือรับการถ่ายทอดธรรมะจากพระเก่า ส่วนพระเก่าก็ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ด้วย คือ สอนพระใหม่
 
        เท่านั้นยังไม่พอ พระเก่าก็วางแผน กำหนดแผนการเลยว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ควรจะเดินทางไปโปรดที่ไหน นั่นก็อย่างหนึ่ง อีกทั้งปรับปรุงหลักสูตรวิธีการเทศน์การสอน การอบรมให้เหมาะกับท้องถิ่น ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นต้น กิจวัตรของพระภิกษุในฤดูเข้าพรรษา  
         ทีนี้กิจวัตรของพระภิกษุในฤดูเข้าพรรษา ว่าที่จริงก็ทำนองเดียวกันกับออกพรรษา เพียงแต่ว่าเมื่อไม่ได้ออกไปนอกพื้นที่ พระภิกษุจึงมีโอกาสดังต่อไปนี้
 
        ตัวท่านเองนั้น ก็มีโอกาสที่จะทำภาวนาของท่าน มีโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรของท่าน มีโอกาสที่จะค้นคว้าพระไตรปิฎกให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ก็เป็นเรื่องราวในปัจจุบันนี้ กิจวัตรในปัจจุบันของพระ เราก็ทำอย่างนี้ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราไปตามวัดต่างๆ ในขณะนี้ ในฤดูเข้าพรรษานี้ เนื่องจากเราก็นิยมบวชกัน จะบวชชั่วคราวแค่พรรษาก็ตาม หรือจะบวชระยะยาวก็ตาม ในเมื่อพอเข้าพรรษาแล้ว พระเก่าพระใหม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน พระเก่าทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ใครถนัดวิชาไหนก็มาสอนวิชานั้นให้แก่พระภิกษุใหม่ ใครถนัดพระวินัยก็สอนพระวินัย ใครถนัดสอนนักธรรมหรือธรรมะก็สอนธรรมะ ใครถนัดสอนพุทธประวัติก็สอนพุทธประวัติ เป็นต้น
    วันเข้าพรรษา
         พูดง่ายๆ ฤดูเข้าพรรษาจึงกลายเป็นฤดูติวเข้ม หรือถ้าจะพูดกันอย่างในปัจจุบันก็บอกว่า ฤดูเข้าพรรษานี่แท้จริงก็เป็นของพระภิกษุนั่นเอง กิจวัตรอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกไปโปรดญาติโยมก็พักเอาไว้ก่อน จึงเหลือแต่เรื่องของการศึกษาเป็นหลัก ค้นคว้าพระไตรปิฎกเป็นหลัก เนื่องจากมีเวลาที่จะค้นคว้าเมื่อหมดจากเวลาการค้นคว้า ก็มานั่งสมาธิกันไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของการค้นคว้าภายใน พระไตรปิฎกในตัว พระไตรปิฎกนอกตัวก็มีอยู่เป็นเล่มๆ ค้นคว้าพระไตรปิฎกในตัวก็คือการทำภาวนานั่นเอง
 
          ยิ่งกว่านั้น เมื่อพระใหม่มาอยู่ในวัดกันพร้อมหน้าพร้อมตา โยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงของพระใหม่ ได้มาร่วมทำบุญที่วัด ได้มาพบพระเพื่อน พบพระลูก พบพระหลาน ถึงแม้พระลูกพระหลานเหล่านี้ยังเทศน์ไม่เป็น เพราะบวชใหม่ แต่ว่าเมื่อมาแล้วก็จะได้พบพระครูบาอาจารย์ พระผู้ใหญ่ ท่านที่มาร่วมทำบุญเหล่านี้จึงมีโอกาสฟังเทศน์จากพระผู้ใหญ่ จึงกลายเป็นฤดูแห่งการศึกษาธรรมะไปด้วยในตัวเสร็จ ทั้งของพระ ทั้งของญาติโยม อันนี้ก็เป็นเรื่องราวของการเข้าพรรษาในยุคปัจจุบันนี้
 
ประวัติวันเข้าพรรษา 
การปฏิบัติตัวของชาวพุทธในช่วงเข้าพรรษา 
         ในช่วงเข้าพรรษา พระเก่าพระใหม่ ท่านอยู่กันพร้อมหน้า เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้ ก็เป็นโชคดีของญาติโยม โชคดีอย่างไร โชคดีที่เนื้อนาบุญอยู่กันพร้อมหน้า ญาติโยมตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด ท่านไม่ปล่อยให้พระเข้าพรรษาเพียงลำพัง ญาติโยมก็พลอยเข้าพรรษาไปด้วยเหมือนกัน แต่ว่าเข้าพรรษาของญาติโยมนั้น เข้าพรรษาด้วยการอธิษฐานจิต
 
หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีแม่บทไว้ชัดอยู่ 3 ข้อ คือ
1.ละ ชั่ว
2.ทำดี
3.กลั่นใจให้ใส
 
วันเข้าพรรษา

      เมื่อพระอยู่จำพรรษา ท่านก็มีหน้าที่ของท่านว่า ละชั่ว คำ ว่า ละชั่วของพระนั้น ไม่ใช่ ชั่ว หยาบๆอย่าง ที่มนุษย์เป็นกัน แต่ว่าละชั่วของท่านในที่นี้หมายถึงละกิเลส ซึ่งแม้ในเรื่องนั้นโดยทางโลกแล้ว มองไม่ออกหรอกว่ามันเป็นความชั่ว ความไม่ดี เช่น มีจิตใจฟุ้งซ่าน ความจริงก็อยู่ในใจของท่าน คนอื่นมองไม่เห็น ถึงขนาดนั้น ท่านก็พยายามจะละความฟุ้งซ่านของท่านให้ได้ ด้วยการเจริญภาวนา หรือทำสมาธิให้ยิ่งๆขึ้นไป เป็นต้น ท่านก็ละกิเลสหรือละชั่วที่ละเอียดๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สมกับภูมิแห่งความเป็นพระของท่าน

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017345233758291 Mins