ความหมายของพรหมวิหาร 4

วันที่ 04 สค. พ.ศ.2558

 

ความหมายของพรหมวิหาร 4

พรหมวิหาร มีความหมายว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, ธรรมประจำใจของผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ มี 4 อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

1.เมตตา คือ ความรักใคร่ ความปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข

2.กรุณา คือ ความสงสารในสัตว์ที่ตกยากมีทุกข์, ความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจเมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์คิดหาทางช่วยเหลือคิดปลดเปลื้องทุกข์ของเขา

3.มุทิตา คือ ความยินดีในเมื่อสัตว์มีสุข, ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นได้ดีมีสุขก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนไม่กีดกันริษยา

4.อุเบกขา คือ ความเป็นกลางต่อทุกข์สุขของสัตว์,ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยความชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย, วางเฉยเมื่อแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ก็เฉย หรือถ้าแก้ไขได้ก็แก้ไป แก้ไขไม่ได้ก็เฉยเสีย อุเบกขา ไม่สมน้ำหน้า ไม่อิจฉาริษยาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

 

สาเหตุที่มีเพียง 4

            ที่มีเพียง 4 ไม่มากไปกว่านั้น เพราะเป็นธรรมะที่ใช้ปราบอกุศลกรรม 4 ชนิด อกุศลธรรมเหล่านั้น คือ พยาบาท วิหิงสา(ความเบียดเบียน) อรติ(ความริษยา ไม่ยินดีด้วย) และราคะ บรรดาพรหมวิหารเหล่านั้น เมตตาใช้ปราบพยาบาท กรุณาใช้ปราบวิหิงสา มุทิตาใช้ปราบอรติ อุเบกขาใช้ปราบราคะ

            อีกประการหนึ่ง เพราะการส่งใจไปในสัตว์ทั้งหลาย มีอยู่เพียง 4 อย่าง คือ ด้วยอำนาจการนำประโยชน์ให้แก่กัน (เมตตา) การบำบัดปัดป้องสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ (กรุณา) การพลอยยินดีกับสมบัติผู้อื่น (มุทิตา) และการสิ้นความห่วงใย (อุเบกขา)

            เปรียบเหมือน มารดามีบุตร 4 คน บุตร 4 คนนั้น เป็นเด็กคนหนึ่ง เป็นคนป่วยคนหนึ่ง เป็นหนุ่มสาวคนหนึ่ง และคนหนึ่งมีงานทำแล้ว มารดาย่อมปรารถนาให้บุตรคนเล็กเจริญเติบโต (เมตตา) มีความปรารถนาที่จะบำบัดความป่วยไข้ให้บุตรคนที่ป่วย (กรุณา) มีความปรารถนาให้บุตรผู้เป็นหนุ่มสาวดำรงอยู่ในความเป็นหนุ่มสาวนานๆ (มุทิตา) และไม่ได้ขวนขวายวุ่นวายในการงานอะไรของบุตรคนที่ทำงานได้เองแล้ว (อุเบกขา) เช่นเดียวกันนักปฏิบัติผู้มี พรหมวิหารเป็นเครื่องอยู่ก็พึงเจริญไปด้วยอำนาจแห่งเมตตาเป็นต้นในสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พรหมวิหารจึงมี 4 อย่าง เพราะเป็นธรรมที่ใช้ปราบอกุศลธรรมมีพยาบาท เป็นต้น

 

 สาเหตุที่มีลำดับเช่นนั้น

เหตุที่จัดเรียงลำดับเช่นนั้น เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติมีความประสงค์จะเจริญพรหมวิหารให้ครบทั้ง 4 ประการ จำเป็นต้องปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งหลายด้วยอาการ 4 อย่าง ตามลำดับ ดังนี้ คือ

1.ด้วยการมุ่งประโยชน์เกื้อกูลให้แก่กัน เป็นอันดับแรก ด้วยว่า เมตตามีการเกื้อกูลแก่สัตว์เป็นลักษณะ

2.เมื่อผู้ปฏิบัติได้เห็น หรือได้ฟัง หรือกำหนดถึงสัตว์ทั้งหลายที่ถูกความทุกข์ครอบงำ ย่อมปรารถนาจะเกื้อกูล แล้วช่วยนำทุกข์ออกไป ด้วยว่ากรุณา มีการนำทุกข์ออกไปเป็นลักษณะ

3.ต่อจากนั้น ก็พึงปฏิบัติในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจความยินดีในความพร้อมของสัตว์ที่ตนปรารถนาเกื้อกูลแล้วและปราศจากทุกข์แล้วเหล่านั้น ด้วยว่ามุทิตามีการบันเทิงใจต่อความ ถึงพร้อมของผู้อื่นเป็นลักษณะ

4.เบื้องหน้าแต่นั้น ก็พึงปฏิบัติในสัตว์ทั้งหลายโดยความเป็นกลาง กล่าวคือ ความเป็น ผู้วางเฉย เพราะไม่มีกิจที่พึงขวนขวายทำให้อีก ด้วยว่าอุเบกขามีความเป็นกลางเป็นลักษณะ

 

            เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ พระพุทธองค์จึงตรัสเมตตาไว้ก่อน ด้วยอำนาจการมุ่งประโยชน์ เกื้อกูล ต่อจากนั้นจึงแสดงกรุณาเป็นอันดับที่ 2 มุทิตาเป็นอันดับที่ 3 และอุเบกขาเป็นอันดับที่ 4 ดังที่กล่าวมาแล้วนี้  อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับของพรหมวิหารดังกล่าว ในลักษณะทั่วๆ ไป ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องเป็นไปตามลำดับอย่างนั้นเสมอไป เพราะในการปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องเริ่มต้นจากเมตตาภาวนาก่อน สามารถเจริญภาวนาข้อใดเป็นอันดับแรกก็ได้ทั้งนั้น ยกเว้นผู้ที่จะเจริญอุเบกขาจะต้องได้ฌานจากการเจริญพรหมวิหารข้อใดข้อหนึ่งเสียก่อนจึงจะสามารถทำได้

 

            สำหรับการเจริญพรหมวิหาร ถ้าเจริญภาวนาโดยจำกัดบุคคลจำกัดสถานที่ ก็เป็น เพียงการแผ่อย่างธรรมดา หากแผ่ตลอดทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีจำกัด ท่านเรียกว่า “    อัปปมัญญา” อัปปมัญญา มีความหมายว่า ธรรมที่เป็นไปในสัตว์ทั้งหลายหาประมาณไม่ได้ ไม่มีจำกัด ผู้เจริญจะต้องกำหนดใจแผ่ให้ตลอดทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีจำกัด ไม่มีกำหนด จึงจะเป็นการแผ่ที่เรียกว่า อัปปมัญญา ถ้าแผ่ชนิดจำกัดบุคคล จำกัดสถานที่ เรียกว่า เป็นการแผ่พรหมวิหารธรรมดา ไม่เรียกว่า อัปปมัญญา

-----------------------------------------------------------------------------

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011772429943085 Mins