ข้าศึกใกล้ข้าศึกไกลของพรหมวิหาร 4

วันที่ 04 สค. พ.ศ.2558

 

ข้าศึกใกล้ข้าศึกไกลของพรหมวิหาร 4

ในพรหมวิหารทั้ง 4 ประการนี้ แต่ละอย่าง มีอกุศลธรรมที่เป็นข้าศึกอย่างละ 2 คือ ข้าศึกใกล้และข้าศึกไกล

1. ข้าศึกของเมตตา

  • ราคะเป็นข้าศึกใกล้ของเมตตาพรหมวิหาร เพราะเห็นว่าเป็นคุณเท่ากัน เหมือนศัตรูของบุรุษผู้เที่ยวไปใกล้กัน ราคะนั้นย่อมได้โอกาส เพราะฉะนั้น พึงรักษาเมตตาให้ดีอย่าให้เปลี่ยนเป็นราคะ
  • พยาบาท เป็นข้าศึกไกล เพราะมีความเข้าไม่ได้โดยส่วนของตน เหมือนศัตรูของบุรุษซึ่งอาศัยอยู่ในป่าเขา เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติ พึงแผ่เมตตาออกไปโดยไม่ต้องกลัวต่อพยาบาท เพราะว่า บุคคลแผ่เมตตาพร้อมๆ กับโกรธไปด้วย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

 

2. ข้าศึกของกรุณา

  • โทมนัส ความเสียใจที่อาศัยกามคุณเป็นข้าศึกใกล้ เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยมองใน แง่ความวิบัติของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน โทมนัสอาศัยกามคุณมีมาในบาลีมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตน ไม่ได้เฉพาะหรือหวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะในกาล ก่อนอันล่วงไปแล้วอันดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้ เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน3)
  • วิหิงสา ความเบียดเบียน, ความซ้ำเติม เป็นข้าศึกไกลของกรุณา เพราะเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงสามารถเจริญกรุณาโดยไม่ต้องกลัวต่อวิหิงสา เพราะว่า บุคคลเจริญกรุณาไปด้วยจักเบียดเบียนสัตว์ไปด้วยในขณะเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้

 

3. ข้าศึกของมุทิตา

  • โสมนัส ความดีใจ,ความสุขใจ,ความปลาบปลื้มที่อาศัยกามคุณ เป็นข้าศึกใกล้ของมุทิตา เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยมองแต่ส่วนได้เหมือนกัน โสมนัสอาศัยกามคุณมีในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า บุคคลเมื่อเล็งเห็นความได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ อันประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็น ของอันตน ได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะแล้วในกาลก่อน อัน ล่วงไปแล้ว อันดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัส โสมนัสเช่นนี้ เรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน4)
  • อรติ ความคิดร้าย, ความไม่ยินดีด้วย, ความริษยา เป็นข้าศึกไกลของมุทิตา เพราะ เข้ากันไม่ได้ในส่วนของตน ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติจึงสามารถเจริญมุทิตาโดยไม่ต้องกลัวต่ออรติ เพราะว่าการเป็นคนยินดีต่อความดีของผู้อื่นและการเป็นคนเบื่อหน่ายที่สงัดหรือคุณธรรมระดับสูงพร้อมๆ กันนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้

 

4. ข้าศึกของอุเบกขา

  • อัญญานุเบกขา ความเพิกเฉยเพราะความไม่รู้อาศัยกามคุณ เป็นข้าศึกใกล้ของอุเบกขาเพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยไม่พิจารณาถึงคุณและโทษเหมือนกัน อัญญานุเบกขาอาศัยกามคุณ ดังที่มีในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ว่า เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อุเบกขาจึงเกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ ชนะกิเลสยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขา เช่นนี้นั้น ไม่ละเลยรูปไปได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเรือน5)
  • ราคะ ความกำหนัด,ความยินดีในกาม ปฏิฆะ ความขัดเคือง,แค้นเคือง,ความขึ้งเคียด เป็นข้าศึกไกลของอุเบกขา เพราะเข้ากันไม่ได้ในส่วนของตน ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถแผ่อุเบกขาโดยไม่ต้องกลัวต่อข้าศึกไกลคือราคะและปฏิฆะ เพราะว่าการที่จะแผ่อุเบกขาไป ยินดียินร้ายพร้อมๆ กันไปในขณะเดียวกันไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้

 

 อารมณ์และสิ่งประหาร

การเจริญพรหมวิหาร 4 นั้น แต่ละอย่างมีอารมณ์และสิ่งที่ประหาร คือ

1.เมตตา มี ปิยมนาปสัตวบัญญัติ คือ มีสัตว์อันเป็นที่รักเป็นอารมณ์ในการแผ่ เมตตาจิต ซึ่งประหารโทสะ ความโกรธ ความพยาบาท ความมุ่งร้าย ความทำลาย

2.กรุณา มี ทุกขิตสัตวบัญญัติ คือ สัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์เป็นอารมณ์ในการแผ่ ความกรุณา ซึ่งประหารวิหิงสา ความเบียดเบียน ความซ้ำเติม

3.มุทิตา มี สุขิตสัตวบัญญัติ คือ สัตว์ที่กำลังมีความสุขความสบายอยู่เป็นอารมณ์ ในการที่พลอยชื่นชมยินดีไปด้วย ซึ่งประหารอิสสา ความริษยา เห็นเขาได้ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ อรติ ความไม่ยินดีด้วย

4.อุเบกขา มี มัชฌัตตสัตวบัญญัติ คือ สัตว์ที่ไม่มีทุกข์แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสุขนั้นเป็นอารมณ์ในการที่วางเฉยต่อสัตว์นั้นๆ ซึ่งประหารอคติ (ความลำเอียงเพราะชอบกัน เพราะชังกัน เพราะ ลุ่มหลงเมามัว หรือเพราะกลัวเขา)

 

-----------------------------------------------------------------------------

3) สฬายตนวิภังคสูตร, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 23 ข้อ 627 หน้า 288-289.
4) สฬายตนวิภังคสูตร, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 23 ข้อ 265 หน้า 287.
5) เล่มเดียวกัน ข้อ 629 หน้า 290.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00099931557973226 Mins