วิธีเจริญเมตตาภาวนา

วันที่ 04 สค. พ.ศ.2558

 

วิธีเจริญเมตตาภาวนา

             เมตตา ความปรารถนาดี ความรักใคร่ในสัตว์ทั้งหลาย เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นในใจ มีสภาวะปราศจากความโกรธในปิยมนาปสัตว์ (สัตว์ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจ) นำความรู้สึกนี้มาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน ปิยมนาปสัตว์หรือปิยมนาปบุคคล มีอยู่ด้วยกันสองประเภท

            ประเภทที่ 1 เป็นที่รักที่ชอบใจธรรมดา เช่น ญาติสนิทมิตรสหาย คนใกล้ชิด คนที่ถูกใจ

            ประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่เกิดขึ้นได้ด้วยการเจริญภาวนา คือ ในขณะที่เจริญภาวนาด้วยการแผ่เมตตานั้น ในระยะต้นๆ จะกระทำได้เฉพาะคนที่รักที่ชอบใจธรรมดา คือ ในประเภท ที่ 1 แต่เมื่อปฏิบัติไปถึงอุปจารสมาธิ จิตใจในขณะนั้นจะสามารถแผ่เมตตาได้ทั่วไปในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมด แม้ในผู้ที่เป็นศัตรู ผู้ที่ไม่ชอบ เกลียดชัง บุคคลทั้งหลายเหล่านี้เป็นปิยมนาปสัตว์ประเภทที่ 2

             เมื่อเรานึกถึงหรือมองผู้ใดด้วยความรู้สึกประกอบด้วยเมตตาแล้ว จิตใจจะไม่มีความรู้สึกเกลียดชัง มีแต่ความรักใคร่ชื่นชม ความรักใคร่ชื่นชมนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นความรักใคร่ชื่นชมที่เป็นเมตตา อโทสะ อีกชนิดหนึ่งเป็นความรักใคร่ชื่นชมที่เรียกว่า ตัณหาเปมะ

 

            1.เมตตาอโทสะ คือ เมตตาแท้ เป็นความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างแท้จริงโดยไม่ยึดถือว่าผู้ที่เราแผ่ความปรารถนาดีรักใคร่นั้นมีความสัมพันธ์อย่างไรกับเรา เช่น เป็นบิดา มารดา บุตร ธิดา ภรรยา สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง เพื่อน ผู้ร่วมงาน ฯลฯ เมื่อไม่มีการยึดถือ แม้เมื่อบุคคลเหล่านั้นจะห่างไกลไปจากเรา เราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน คงปรารถนาให้เขาอยู่ดีมีสุข ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด

 

             2.ตัณหาเปมะ คือ เมตตาเทียม เป็นความปรารถนาดีเพราะมีความรักใคร่กำหนัดยินดี เป็นความรักใคร่ชื่นชมที่มีการยึดถือว่าผู้นั้นผู้นี้เป็นผู้ที่เรารักใคร่ เป็นผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างนั้นอย่างนี้กับเรา เมื่อต้องแยกจากกันจะรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ สภาวะของจิตที่มีความรักใคร่แบบนี้ ไม่ใช่จิตใจที่ประกอบด้วยอโทสะ (ความไม่โกรธ) แต่เป็นจิตใจที่ประกอบด้วยโลภะ เมตตาชนิดตัณหาเปมะนี้ จึงไม่ใช่เมตตาบริสุทธิ์เหมือนเมตตาอโทสะ เป็นเมตตาเทียม แต่อย่างไรก็ดีแม้จะเป็นเมตตาเทียมก็มีประโยชน์มาก เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ ก็อุดหนุนให้เมตตาแท้เกิดขึ้นได้เหมือนกัน ตัณหาเปมะนี้เป็นสภาพธรรมที่ขัดกันกับการเจริญสมาธิ ตลอดจนขัดต่อการเจริญจิต ให้มีสติสัมปชัญญะ ผู้ที่มุ่งบำเพ็ญเพียรให้บรรลุโลกุตรธรรมจะต้องกำจัดตัณหาเปมะทิ้งเสีย

 

-----------------------------------------------------------------------------

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.095783801873525 Mins